xs
xsm
sm
md
lg

“สมพงษ์” ประเดิมซักฟอก ซัด “ประยุทธ์” กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบ จงใจทำผิด รธน.พาสังคมวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฝ่ายค้านเปิดซักฟอกทั่วไป “บิ๊กตู่” เดินทางมาร่วม บรรยากาศสุดคึกคัก ระดม จนท.รักษาความปลอดภัยเข้มงวด วิปรัฐบาลห่วงสภาอาจทำขัด กม.เหตุศาล รธน.วินิจฉัยไม่รับคำร้อง “ชวน” แจงยังไม่ใช่คำวินิจฉัยเป็นแค่คำสั่ง สภามีสิทธิตรวจสอบ ย้ำสมาชิกต้องอภิปรายตามกติกา ผู้นำฝ่ายค้านเปิดเกม อัด “ประยุทธ์” ไม่เคารพ รธน. -ไร้วุฒิภาวะ-ไม่ฟังคำท้วงติงจนสร้างความเสียหายเป็นลูกโซ่ หวั่นพาประเทศไปไม่รอด

บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณา “ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี” ในวันนี้ (18 ก.ย.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีคณะรัฐมนตรี และ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเดินทางมาเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน

สำหรับบรรยากาศโดยรอบอาคารรัฐสภา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลบางโพ กว่า 150 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยรักษาความปลอดภัยโดยรอบ พร้อมทั้งมีการกั้นแผงรั้วกันรอบบริเวณทางเข้าอาคารรัฐสภา ตลอดจนฝั่งกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามอาคารรัฐสภา พร้อมติดป้าย “พื้นที่ห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตร จากรัฐสภา ตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 267/2562” ขณะเดียวกัน ในช่วงเช้าได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยเดินทางมายังบริเวณหน้ารัฐสภาแต่ไม่สามารถเข้ามาภายในบริเวณดังกล่าวได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สกัดกั้นไว้

การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.40 น. มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เดินทางมาร่วมประชุมที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นครั้งแรก โดยนั่งร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อรับฟังการอภิปรายอย่างตั้งใจด้วย

ก่อนเข้าสู่วาระ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้หารือโดยยกคำชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับกรณีนี้ไว้วินิจฉัย เนื่องจากเป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรี และในการถวายสัตย์ปฏิญาณตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัส และพระราชทานพระราชหัตถ์ให้ในภายหลัง

ด้านนายชวนชี้แจงว่า เป็นการประชุมตามระเบียบวาระ ซึ่งการอธิบายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่สภาได้หารือกับฝ่ายกฎหมายและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่าญัตติไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยผู้เสนอญัตติมีสิทธิ์ที่จะสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอคำแนะนำ จึงอนุญาตให้มีการบรรจุญัตตินี้

แต่นายวีระกรก็ยังแสดงความเป็นห่วงว่า การดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎรและการอภิปรายจะขัดต่อกฎหมาย นายชวนจึงชี้แจงว่า กรณีนี้ไม่ผูกพันต่อสภา เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่ง แต่ไม่ได้เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาด จึงไม่ได้ทำให้ญัตติต้องตกไป โดยการอภิปรายก็ใช้สิทธิเพียงให้คำแนะนำ

ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ขอให้การอภิปรายวันนี้จบภายในเวลา 16.00 น. แต่ฝ่ายค้านได้ตะโกนสวนว่า 18.00 น. ทำให้เกิดการถกเถียงกัน จนนายชวนได้ตัดบทว่าจะเปิดให้อภิปรายให้มากที่สุด พร้อมกำชับกฎเกณฑ์ให้อภิปรายตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด

จากนั้นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดอภิปรายโดยย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่พล.อ.ประยุทธ์นำถวายสัตย์ปฏิญาณตน ที่ต้องเป็นไปตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ แต่การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงมีปัญหาเรื่องความครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งหลายฝ่ายก็เสนอทางออก แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังเพิกเฉย จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ต้องเปิดอภิปรายในวันนี้

นายสมพงษ์ยังย้ำถึงหลักการของการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าสถาบันอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เพื่อเป็นการยืนยันถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถวายสัตย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณจะกล่าวยาวกว่าหรือน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่ได้ และอิงจากข้อความในหนังสือที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยเขียนในหนังสือ ว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตน จะต้องเป็นวาจาด้วยถ้อยคำที่กฎหมายกำหนด

“ถ้อยคำ... ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติการซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” เป็นถ้อยคำที่ขาดไปแต่สำคัญอย่างยิ่งยวด แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ได้กล่าวถ้อยคำนี้ จึงถือเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เองก็เคยผ่านการถวายสัตย์ปฏิญาณตนมาหลายรอบ แต่มีเจตนาใดที่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนครั้งนี้ไม่ครบถ้วน เหตุใดจึงไม่ใช้เอกสารที่สำนักนายกรัฐมนตรีจัดเตรียมไว้ให้”

นายสมพงษ์ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ฝ่ายค้านเห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างนโยบายการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและโครงสร้างคมนาคม ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดถึงงบประมาณในการดำเนินนโยบาย

“ย้อนไปถึงพฤติกรรมที่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทั้งการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน และการไม่ชี้แจงรายละเอียดงบประมาณในการดำเนินนโยบาย ถือเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญโดยชัดเจน บทเรียนเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีไม่แสดงถึงความมีวุฒิภาวะ ไม่รับฟังข้อท้วงติงจากทุกฝ่าย จนก่อให้เกิดความเสียหายเป็นลูกโซ่ทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น เพราะจงใจกระทำผิดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหลักกฎหมายสำคัญของประเทศ เมื่อความเชื่อมั่นไม่เกิด ความยอมรับนับถือจึงไม่มี และจะนำพาสังคมที่เผชิญกับวิกฤตให้อยู่รอดได้อย่างไร” นายสมพงษ์กล่าว











กำลังโหลดความคิดเห็น