xs
xsm
sm
md
lg

มติผู้ตรวจฯ ชงนายกฯ ขึ้นบัญชีดำพาราควอต ขู่ยื่น ป.ป.ช.ฟันหน่วยงานรัฐนิ่งเฉย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาฯ ผู้ตรวจฯ เผยมีมติส่งหนังสือ “ประยุทธ์” ขอสั่งขึ้นบัญชีดำพาราควอต 1 ม.ค. 63 พร้อมระบุถึงความอันตรายต่อประชาชน เล็งยื่น ป.ป.ช.เอาผิดหัวหน้าหน่วยงานรัฐหากไม่ปฏิบัติตาม

วันนี้ (13 ก.ย.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในวันนี้ขอให้นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศเพื่อปรับระดับการควบคุมพาราควอตให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หรือห้ามนำเข้าหรือห้ามจำหน่าย ห้ามมีไว้ในครอบครอง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าปัญหาการใช้สารเคมีพาราควอตยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง มีการใช้อย่างเสรีโดยยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ในภาคการเกษตรทำให้ผู้ใช้ ขาดความระวังหรือป้องกันการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ทั้งจากอุบัติเหตุและจากการสัมผัสสารเคมีปนเปื้อนทั่วไป ซึ่งผู้ตรวจฯได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกการใช้พาราควอตให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่ ธ.ค. 61 ที่ผู้ตรวจฯได้มีหนังสือแจ้งครั้งแรก ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังคงอนุญาตให้ใช้สารพาราควอตได้ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งจะมีผลบังคับวันที่ 20 ต.ค. นี้

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ตรวจฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 62 ตามกระบวนการของกฎหมายของผู้ตรวจการแผ่นดิน และขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตรายดำเนินการออกประกาศ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่ายังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เรื่องดังกล่าวจึงยังไม่อาจหาข้อยุติได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”

นายรักษเกชายังกล่าวด้วยว่า หนังสือของผู้ตรวจฯถึงนายกรัฐมนตรีจะมีรายละเอียดถึงความเป็นอันตราย ความเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน หากยังคงให้มีการใช้สารอันตรายดังกล่าวอยู่ และเน้นย้ำถึงหน้าที่ของรัฐที่จะต้องตระหนักถึงพิษร้ายของสารเคมี ที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสเจ็บป่วยเรื้อรัง สูญเสียชีวิตและร่างกาย หรือการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรหรือสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีสารพิษตกค้าง หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดสารพิษตกค้างจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ รวมถึงกรณีตัวอย่างผู้ได้รับพิษของวัตถุอันตรายพาราควอตจนถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่จังหวัดตาก อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขยังได้มีความเห็นยืนยันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจากวัตถุอันตรายพาราควอต ส่งผลต่ออันตรายหลายระบบอวัยวะทั้งตา จมูก ปาก ผิวหนัง ปอด หัวใจ ตับ ไต สมอง และระบบประสาทส่วนกลาง หากได้รับในปริมาณมากส่งผลให้เกิดภาวะพังผืดในปอด หอบเหนื่อย ริมฝีปากสีคล้ำ ปอดบวมน้ำจนถึงเลือดออกในเนื้อเยื่อปอด ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ตับจะถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ตับอักเสบได้ และถ้ามีการทำลายที่ไต จะทำให้สูญเสียความสมดุลของภาวะกรด ด่าง และน้ำในร่างกาย ทำให้เกิดมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น เกิดน้ำคั่งในร่างกาย ปัสสาวะออกน้อยลง จนถึงไตวายเฉียบพลันนำไปสู่การเสียชีวิต

ดังนั้น การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินโดยกำหนดนโยบายระดับประเทศเพื่อยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตย่อมเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาซึ่งได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในเรื่องการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม โดยหน่วยงานของรัฐย่อมสามารถใช้ระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านพัฒนานวัตกรรมกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทนสารเคมีได้ และในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้ส่งหนังสือเร่งรัดให้ รมว.อุตสาหกรรม และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีผลโดยเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อนายกฯ ได้รับหนังสือแล้วก็คงจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามมาตรา 33 วรรคหนึ่งของ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เขียนเปิดช่องไว้ว่า หากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือว่าหัวหน้านี้ถูกหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และให้ผู้ตรวจแจ้งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการโดยให้ถือรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นสำนวนในการสอบสวน



กำลังโหลดความคิดเห็น