xs
xsm
sm
md
lg

กันยาฯ ระทึกนัดวันชี้ชะตา ลุงตู่-ธนาธร !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เมืองไทย 360 องศา




ในเดือนกันยายนตลอดทั้งเดือนนี้ ถือว่าเป็นช่วงลุ้นระทึกและมีผลต่ออนาคตทางการเมือง รวมไปถึงอาจส่งผลกระทบในทางการเมืองตามมา หากผลออกมาในทางลบไม่เป็นคุณกับบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่น่าติดตามก็คือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(15) หรือไม่ จากเหตุดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ หลังจากมีผู้ร้องเรียนให้มีการวินิจฉัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้นัดวินิจฉัยในประเด็นนี้วันที่ 18 กันยายน เวลา 14.00 น.

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกกรณีหนึ่ง นั่นคือ กรณีคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องให้วินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากการถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในการประชุมนัดถัดไป

แม้ว่าจะมีความเสี่ยง ต้องลุ้นกันหนัก ไม่ว่าจะเป็น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่จะว่าไปแล้วเมื่อพิจารณาจากเส้นทางและแนวโน้มก็ต้องบอกว่า กรณีของ ธนาธร น่าจะหวาดเสียวกว่า

ทั้งนี้ ตามข้อมูลก่อนหน้านี้ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 จากกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ยุติพิจารณาคำร้อง โดยเห็นว่า หัวหน้า คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะไม่เข้าองค์ประกอบเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 ข้อ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยที่ 5/2543 โดยศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จะต้องเข้าองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ 1. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ 4. มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย

ซึ่งในกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าเงื่อนไขเพียง 2 ข้อ คือ ข้อ 2 และ ข้อ 4 จึงถือว่าไม่ครบองค์ประกอบในการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งมาจากการเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ไม่ได้เข้ามาตามกฎหมายปกติและยังใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ด้วย

อย่างไรก็ดี ในกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในกรณีคำร้องเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่นั้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 18 กันยายนนี้ ก็เป็นไปตามคำร้องที่ร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งต่อมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามขั้นตอน ซึ่งก็ต้องรอดู และต้องเคารพคำวินิจฉัย ไม่ว่าจะออกมาแบบไหน แต่สำหรับกรณีดังกล่าวนี้ถือว่ามันมีตัวอย่างนำทางเอาไว้บ้างแล้ว หรือแม้แต่กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เคยวินิจฉัยรับรอง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งที่ได้รับการเสนอให้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประขารัฐในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ว ชั้นหนึ่งแล้วก็ตาม

แต่ขณะเดียวกัน ที่น่าจับตามองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็คือ กรณีถือหุ้นสื่อของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดอภิปรายเพ่อกำหนดวันวินิจฉัยในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งนั่นก็หมายความว่า หากมีการประชุมในสัปดาห์นี้ก็จะทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันวินิจฉัยเป็นวันไหน แต่ถึงอย่างไรสำหรับรายหลังนี้หากพิจารณาจากหลักฐาน และความเป็นจริงที่ผ่านมาถือว่า ธนาธร น่าหวาดเสียวกว่า อย่างน้อยเวลานี้ก็ยังถูกศาลสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.เป็นการชั่วคราว และที่ผ่านมา หากพิจารณาจากเส้นทางเอกสารจากทางราชการที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้เป็นหลักในการพิจารณามันก็สามารถชี้ชัดได้ดีว่าข้อเท็จจริงเป็นแบบไหน


อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมที่จะออกมาตามที่กำหนดและต้องเคารพ แต่หากพิจารณาจากแนวโน้มและความน่าหวาดเสียว และตัวอย่างที่เห็นเบื้องต้นก่อนหน้านี้ ทั้งกรณีของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกร้องในประเด็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ กับกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในคำร้องถือหุ้นสื่อ นาทีนี้ถือว่าน่าหวาดเสียวพอกัน เพราะมีผลต่ออนาคตทางการเมือง รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต แต่มองจากแนวโน้มก็ยังเห็นว่ารายหลังน่าหวาดเสียวกว่าหลายเท่านัก !!




กำลังโหลดความคิดเห็น