xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสั่งเข้มค้ามนุษย์-ลอบเข้าเมือง รับปมโรฮิงญาถูกคู่แข่งการค้าใช้เป็นเครื่องมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (แฟ้มภาพ)
“ประวิตร” ประชุมปราบค้ามนุษย์ รมว.พม.เผยสั่งเข้มตรวจสอบผู้กระทำผิด ดูแลขวัญกำลังใจ จนท. ชี้ทิปรีพอร์ตมีข้อมูลไม่ตรงบ้าง รับทั้งหมดเสียหาย ยันเข้มลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รับต้องระวังปมโรฮิงญา ถูกคู่แข่งการค้าใช้เป็นเครื่องมือ

วันนี้ (30 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2/2562 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เข้าร่วม

จากนั้น นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์ถึงผลประชุมว่า พล.อ.ประวิตรสั่งการในที่ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและเพิ่มสถิติการจับกุมผู้กระทำผิดที่เกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ และให้ดูแลขวัญกำลังใจ รวมถึงค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวน โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เร่งเรื่องเอกสารต่างๆ เพื่อให้เสร็จสิ้นในสิ้นเดือน ส.ค.นี้

นอกจากนั้น รัฐบาลได้นำข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการค้ามนุษย์ทั่วโลกที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (ทิปรีพอร์ต) ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นกระจกเงาสะท้อนปัญหาของไทย มีข้อมูลที่ตรงและไม่ตรงอยู่บ้างกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย หากยอมรับทั้งหมดจะทำให้เราเสียหาย เพราะบางเรื่องเป็นสิ่งที่เขาเล่าว่าเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์เป็นอย่างไร เนื่องจากยังมีการลักลอบเข้าเมืองของผู้อพยพชาวโรฮิงญาเป็นระยะ นายจุติกล่าวว่า มีสองมุมมอง คือ เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ไม่มีเรื่องค้ามนุษย์ กับการลักลอบเข้าเมืองและมีการค้ามนุษย์ แต่ทั้งสองกรณีมักจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์ ยืนยันว่ารัฐบาลจะเพิ่มความเข้มงวดสกัดการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่ง พล.อ.ประวิตรสั่งการให้ตำรวจและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เร่งดูแลแก้ปัญหา ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะเข้าไปดูเรื่องที่พักพิงของผู้เข้าเมืองเพิ่มเติม ในระหว่างดำเนินคดีและผลักดันออกนอกประเทศ ซึ่งต้องทำให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด ทั้งนี้ ปัญหาโรฮิงญาถูกบางประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของไทยนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อออกมาตรการกีดกันทางการค้าแต่ไม่ใช่เรื่องทางภาษีกับประเทศไทย จึงต้องระวังในเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น