xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กฉิ่ง” แจงด่วน! ยกเว้นใช้เงินสะสมแสนล้าน อปท.7,852 แห่ง สนองนโยบายล้วงงบท้องถิ่น เน้นกระตุ้น 5 ด้าน พ่วงสำรองจ่ายเป็นเงินเดือนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“บิ๊กฉิ่ง” แจงด่วน! แนวทางยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมแสนล้านบาทของ อปท.7,852 แห่ง สนองนโยบายล้วงงบท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลลุงตู่ 2/1 ใน 5 ด้าน “โครงสร้างพื้นฐาน-สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน-เศรษฐกิจและสังคม-ส่งเสริมการท่องเที่ยว-พัฒนาการศึกษา” เผย “บิ๊กป๊อก” ไฟเขียวแก้ไขแล้ว ระเบียบ มท.ว่าด้วยการใช้จ่ายเงิน อปท.ฉบับปี 2547 พ่วงยกเว้นให้ อปท.กันเงินสะสมสำรองจ่ายเป็นค่าเงินเดือนบุคลากร ค่าบริหารงาน รับมือสาธารณภัย ตามความจำเป็น ย้ำ อปท.ต้องเสนอโครงการต่อสภาท้องถิ่นภายใน 31 ต.ค.นี้เท่านั้น

วันนี้ (30 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แจ้งยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7,852 แห่ง เพื่อให้นายอำเภอทุกอำเภอ และ อปท.รับทราบถือปฏิบัติ

โดยในหนังสือระบุว่า ด้วยรัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกำหนดมาตรการหลายมาตรการเช่น การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะงบลงทุนเศรษฐกิจฐานรากด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การลงทุน และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยส่งเสริมสนับสนุน อปท.ใช้จ่ายเงินสะสมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพื่อให้ใช้เงินสะสมอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมเพื่อสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2. ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน 3. ด้านเศรษฐกิจและสังคม 4. ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 5. ด้านการศึกษา

ทั้งนี้ ให้อาศัยอำนาจตามความในข้อ 89/1 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยความเห็นชองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุมัติยกเว้นให้ อปท. สามารถนำเงินสะสมไปใช้จ่ายในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้

โดยยกเว้นการกันเงินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 89 และที่ อปท.พิจารณากันเงินสะสมสำรองจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และกรณีที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้นตามความจำเป็น โดนคำนึงถึงสถานะทางการคลัง และต้องเสนอโครงการเพื่อจ่ายเงินสะสมต่อสภาท้องถิ่น ภายในวันที่ 31 ต.ค. 2562 เท่านั้น

เมื่อต้นสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่าเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ใช่จำนวน 6 แสนล้าน เพราะมีการนำไปใช้จำนวนมากแล้ว ในช่วงที่ผ่านมามีการปลดล็อคให้ท้องถิ่นนำไปทำงานได้หลายอย่าง ดังนั้นเหลือไม่ถึง 6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ด้านการคลังของ อปท.ปีงบประมาณ 2562 พบว่าฐานะการคลังของ อปท.7,852 แห่ง ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 มีมีรายได้รวม 370,469 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 22,914 ล้านบาท หรือ 6.6% โดยเป็นรายได้จากเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น จำนวน 11,429 ล้านบาท หรือ7.4%

ขณะที่รายจ่ายช่วง 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2562 อปท.มีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 311,770 ล้านนบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 37,813 ล้านบาท หรือ 13.8% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายยประจำและรายจ่ายงบกลางจำนวน 30,846 และ 7,504 ล้านบาท หรือ 22% และ 11.3% ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท.เกินดุล 58,699 ล้านบาท โดยเกินดุลต่ำกว่ำช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 14,899 ล้านบาท หรือ 20.2%

ส่วนเงินฝากของ อปท.ในระบบธนาคาร และเงินฝากคลังของ อปท. ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 632,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก สิ้นปีงบประมาณที่แล้ว 58,699 ล้านบาท หรือ 10.2% ประกอบด้วยเงินฝากสุทธิของ อปท.ในระบบธนาคาร จำนวน 624,853 ล้านบาท และเงินฝากคลังของ อปท.จำนวน 7,190 ล้านบาท

ขณะที่สถานะหนี้เงินกู้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 หนี้เงินกู้คงค้างของ อปท.จากระบบธนาคารมีจำนวน 12,905 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีงบประมาณ 2561 จำนวน 2,141 ล้านบาท หรือ14.2%.



กำลังโหลดความคิดเห็น