xs
xsm
sm
md
lg

สลค. เวียน 7 หลักเกณฑ์ ใช้งบฯ 62 ระหว่างรองบฯ 63 ให้อำนาจ สงป.จัดงบกลาง เพิ่มให้ "อบจ."เฉพาะเงินเดือน ได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สลค. เวียนหนังสือ 7 หลักเกณฑ์/เงื่อนไข แจงให้ใช้งบฯปี 62 ไปพลางก่อน ระหว่างรอ งบฯปี 63 หลังนายกฯ บอกล่าช้าไปถึงเดือนม.ค.-ก.พ. เผย ให้อำนาจ สำนักงบฯ จัดสรรได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของแผนงาน เฉลี่ยงบกลาง/งบทุนหมุนเวียน ส่วน"กระทรวงอุดมศึกษาฯ"ที่รับโอนงบฯไม่พอ ให้จัดเต็มจำนวนแต่ละแผนงานที่รับโอนมาจากงบฯ62 ย้ำหากไม่พอ ให้จัดงบกลาง เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินได้เต็มที่ ส่วน กรณี"ท้องถิ่นระดับ อบจ." ให้อำนาจจัดงบกลาง เพิ่มได้เฉพาะเงินเดือนบุคลากร เงินสงเคราะห์หรือสวัสดิการประชาชน ไม่เกินกึ่งหนึ่งของงบปีฯ62 พร้อมจัดงบกรณีต้องจ่ายตามคำพิพากษา สัญญากับรัฐบาลตปท. สถาบันการเงิน หรือองค์การระหว่างประเทศ และจำเป็นเร่งด่วน

วันนี้ (29 ส.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน ภายหลัง ครม.เมื่อ 27 ส.ค.รับทราบจากสำนักงบประมาณแล้ว ทั้งนี้ระหว่างรอพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่จะประกาศใช้บังคับ ไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ.2563

ซึ่งในกรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 141 บัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน ประกอบกับ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 บัญญัติให้การนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วมาใช้ไปพลางก่อน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนด โดยนายกรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ให้สำนักงบประมาณ มีอำนาจจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณ ได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของแผนงานต่าง ๆ รายการงบกลาง และงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

2. สำหรับหน่วยรับงบประมาณที่ตั้งขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยได้รับโอนงบประมาณรายจ่ายมาจากหน่วยรับงบประมาณอื่น รวมถึงหน่วยรับงบประมาณภายในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งอาจได้รับโอนงบประมาณไม่เพียงพอ สำหรับใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันในระหว่างที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ยังไม่ประกาศใช้บังคับ

"ให้สำนักงบประมาณ มีอำนาจจัดสรรงบประมาณ ได้เต็มจำนวนงบประมาณรายจ่ายแต่ละแผนงานตามที่ได้รับโอนมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และหากยังไม่เพียงพอ ให้สำนักงบประมาณ มีอำนาจจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น"

3. กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณให้ได้เฉพาะค่าใช้จ่ายบุคลากรและเงินสงเคราะห์หรือสวัสดิการที่จ่ายแก่ประชาชนไม่เกินกึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้โดยสำนักงบประมาณจะจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

4. กรณีมีความจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเกินกว่าหรือนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ข้างต้น ให้สำนักงบประมาณ มีอำนาจจัดสรรงบประมาณได้ตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวงเงินงบประมาณรายจ่ายแต่ละ แผนงาน/รายการ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

"เฉพาะกรณี ดังนี้ (1) เป็นรายจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล (2) ต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงิน ระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ (3) มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน"

5. ให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพัน ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรจากสำนักงบประมาณแล้ว โดยงบประมาณรายจ่ายที่สำนักงบประมาณอนุมัติเงินจัดสรร ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งต้องหักออกจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับแล้ว

6. การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เฉพาะกรณี ตามข้อ 2 และ 3 ให้สำนักงบประมาณจัดสรรโดยไม่ต้องเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เนื่องจากเป็นการจัดสรรเพื่อให้นำไปใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันตามแผนงานปกติของหน่วยรับงบประมาณ

ซึ่งต้องอนุมัติให้มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ที่จัดสรรในกรณีนี้ จะนำไปหักออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของหน่วยรับงบประมาณนั้น ๆ ต่อไป

7. ให้สำนักงบประมาณ มีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณ รายจ่าย และการหักงบประมาณรายจ่ายออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และให้ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้

ทั้งนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อนจากนายกรัฐมนตรีแล้ว สำนักงบประมาณ จะได้กำหนดวิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และ เงื่อนไขดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและ แผนการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ การอนุมัติเงินจัดสรร การใช้งบประมาณรายจ่าย และการหัก งบประมาณรายจ่ายที่หน่วยรับงบประมาณได้รับอนุมัติเงินจัดสรรออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อเวียนแจ้งให้หน่วยรับงบประมาณทราบและถือปฏิบัติต่อไป

วานนี้ (28 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ระบุว่า "แผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 วันนี้ก็ต้องล่าช้าไปถึงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ เพราะฉะนั้น ก็กราบเรียนว่า ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าในช่วงที่พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่ออก สามารถใช้งบประมาณได้กึ่งหนึ่งหรือครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายปี 2562 เพราะฉะนั้นอย่าไปให้ใครเข้ามาบิดเบือนว่าจะไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีเงินเดือนจ่ายแล้วมันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งสามารถใช้ก่อนได้ครึ่งหนึ่งของงบประมาณปีที่แล้ว ที่จะนำมาใช้ในช่วง 4 เดือนนี้ กว่าจะถึงการพิจารณาวาระงบประมาณ ส่วนที่เหลือก็เป็นแผนงานใหม่ ๆ งบลงทุน ก็ต้องรอตรงนู้นหน่อย”.


กำลังโหลดความคิดเห็น