xs
xsm
sm
md
lg

อจน.แจง "มท.1" พบระบบบำบัดน้ำเสีย ใน 24 อปท. มูลค่ารวมกว่า 5 พันล. ใช้ไม่คุ้มค่า ใหญ่เกินจำเป็น แถมจ่อแบมือของบฯซ่อม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


องค์การจัดการน้ำเสีย รายงาน "มท.1" พบ "ระบบบำบัดน้ำเสียท้องถิ่น" 24 แห่ง ใน 19 จังหวัด มูลค่าก่อสร้าง ตั้งแต่ 20 ล้าน - 700 ล้าน เดินระบบได้ไม่ต่อเนื่อง มีปัญหาอุปสรรค หลายแห่งอ้างขาดงบฯซ่อมแซม ขาดเงินเดินระบบฯ บุคลากรไม่เพียงพอ บางแห่งขนาดระบบรวบรวมน้ำเสียใหญ่เกินจำเป็น ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย แถมระบบรวบรวมน้ำเสียไม่ครอบคลุมพื้นที่ เครื่องจักรมีอายุใช้งานนานทำให้ชำรุด/เสื่อมสภาพ เผยพบ 6 แห่ง 5 จังหวัด ก่อสร้างแล้ว ไม่สามารถเดินระบบได้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมของ ก.วิทย์

วันนี้( 25 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) หน่วยงานใหม่ที่เพิ่งโอนภารกิจมาอยู่ในกำกับกระทรวงมหาดไทย และอยู่ในกำกับของนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานข้อมูลสถานภาพและการบริหารจัดการระบบบำบัดนำเสียชุมชนขององค์กรปกครองสว่นท้องถิ่น (อปท.) ให้ รมว.มหาดไทยรับทราบ โดยล่าสุดพบมีกว่า 105 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้จากสถานภาพของระบบบำบัดนำเสีย ของอปท. ทั้งของ อบจ. เทศบาลนคร (ทน.) เทศบาลเมือง (ทม.) และเทศบาลตำบล (ทต.) พบว่า สามารถเดินระบบได้อย่างต่อเนื่องตามปกติไม่มีปัญหาใด ๆ จำนวน 72 แห่ง ใน 42 จังหวัด ขณะที่ของ กทม. สามารถดำเนินการได้ 8 แห่ง ปกติเช่นกัน

ขณะที่การเดินระบบบำบัดน้ำเสีย ที่เดินระบบได้ไม่ต่อเนื่อง มีปัญหาอุปสรรค จำนวน 24 แห่ง ในพื้นที่ 19 จังหวัด ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างรวมกว่า 5 พันล้านบาท ประกอบด้วย ทน.เชียงใหม่ มูลค่า 529 ล้านบาท ทม.ลำพูน มูลค่า 582 ล้านบาท ทน.พิษณุโลก มูลค่า 380 ล้านบาท ทม.ตะพานหิน จ.พิจิตร มูลค่า 123 ล้านบาท ทม.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ มูลค่า 35 ล้านบาท ทต.สลกบาตร จ.กำแพงเพชร มูลค่า 230 ล้านบาท

ทม.อุทัยธานี มูลค่า 22 ล้านบาท ทต.ท่าแร่ จ.สกลนคร มูลค่า 64 ล้านบาท ทต.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม (ไม่ทราบวงเงินงบประมาณ) ทน.นครราชสีมา มูลค่า 738 ล้านบาท ทม.ยโสธร มูลค่า 520 ล้านบาท ทน.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี มูลค่า 179 ล้านบาท ทต.บ้านเพ จ.ระยอง มูลค่า 77 ล้านบาท ทม.มาบตาพุด จ.ระยอง มูลค่า 286 ล้านบาท

ทม.ขลุง จ.จันทบุรี มูลค่า 128 ล้านบาท ทน.ตรัง มูลค่า 491 ล้านบาท อบต.อ่าวนาง (เกาะพีพี) จ.กระบี่ มูลค่า 27.9 ล้านบาท ทน.สงขลา มูลค่า 521 ล้านบาท อบต.เชิงทะเล (หาดสุรินทร์) จ.ภูเก็ต มูลค่า และ อบต.เชิงทะเล (หาดบางเทา) จ.ภูเก็ต มูลค่า 355 ล้านบาท ทน.นครปฐม มูลค่า 219 ล้านบาท ทต.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มูลค่า 92 ล้านบาท ทม.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี (ไม่ทราบวงเงินงบประมาณ) และ ทม.กาญจนบุรี มูลค่า 491 ล้านบาท"

จากรายงานระบุว่า ปัญหาอุปสรรคในการเดินระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท. ดังกล่าวข้างต้น สามารถจัดลำดับความสำคัญของปัญหาได้ ดังนี้ อันดับแรก ขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมแซม ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย อันดับที่สอง - ขาดแคลนงบประมาณในการเดินระบบบำบัดน้ำเสีย และอันดับสาม - จำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ รวมถึงขนาดระบบรวบรวมน้ำเสียมีขนาดใหญ่ส่งผลต่อค่าใช้จ่าย ระบบรวบรวมน้ำเสียไม่ครอบคลุมพื้นที่ และเครื่องจักรมีอายุใช้งานนานทำให้ชำรุด/เสื่อมสภาพ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตอนท้ายยังระบุถึง ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ก่อสร้างแล้ว และไม่สามารถเดินระบบได้ จำนวน 6 แห่ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย ทน.ระยอง ทม.ปัตตานี ทน.ยะลา (วัดยะลาธรรมา) ทต.พระอินทราชา จ.พระนครศรีอยุธยา ทม.หัวหินระยะที่ 1 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทม.หัวหินระยะที่ 2 จ.ประจวบคีรีขันธ์

ข้อมูลยังระบุว่า มี อปท. 2 แห่ง คือ ทม.ชุมพร และ ทต.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ และมี อปท. 1 แห่ง คือ ทน.นครพนม ที่ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่

สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียของ อปท.ทั้ง 105 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นโครงการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เดิม) ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเป็นโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย โครงการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ก่อสร้างและเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2547.


กำลังโหลดความคิดเห็น