xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเค้าทะมึน เกมฉีกรธน.แค่เป้าหลอก-เป้าจริงยั่วให้ป่วน !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมืองไทย 360 องศา




แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ทันที่รัฐบาล “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะบริหารได้ครบเดือน แต่ในซีกฝ่ายค้านก็ไม่ยอมให้ได้หายใจหายคอ หรือเปิดโอกาสให้ได้ทำงานพิสูจน์ผลงานกันเสียก่อน แต่กลับเดินหน้าสกัดกั้น หรือพยายามเตะตัดขากันทุกทาง เรียกว่าหาทางจัดการกันตั้งแต่ต้นมือกันเลยทีเดียว

แม้ว่าการเคลื่อนไหวของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นแกนนำฝ่ายค้านเป็นไปตามสิทธิการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญก็ตาม และที่สำคัญเป็นใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญที่พวกเขาแสดงอาการรังเกียจก็ตาม หรือบางพรรคอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ที่ได้ประโยชน์จากผลผลิตของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในเรื่องของการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการคิดคำนวณคะแนน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่ได้เป็นกอบเป็นกำ และที่ผ่านมาก็เคยแสดงท่าทีแบบหยั่งเชิงขอแก้ไขบางมาตราเพื่อลดบทบาทของ ส.ว.เท่านั้น แต่ก็ถูกคัดค้านจากพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้ฉีกทิ้งทั้งฉบับแล้วร่างใหม่ จนทำให้ต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องจับตาก็คือการเคลื่อนไหวทั้งนอกและในสภาที่สอดรับกัน เริ่มจากเวลานี้ที่ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แบบไม่ลงมติ แน่นอนว่านี่คือการใช้แท็กติกทางกฎหมาย ถล่ม “ลุงตู่” ก่อนที่สภาจะปิดสมัยประชุมในกลางเดือนหน้า และยังเป็นการใช้สิทธิ์ตามมาตราดังกล่าวได้ครั้งเดียวภายใน 1 ปี นั่นหมายความว่าใช้เสียก่อน ก่อนที่จะไม่ได้ใช้ โดยถือว่าเป็นการ “ซ้อมมือ” ก่อนถึงรายการใหญ่ที่เป็น “หมัดเด็ด”นั่นคือ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสมัยประชุมหน้า

สำหรับการซักฟอกแบบเรียกน้ำย่อยในครั้งนี้ ก็อย่างที่รู้กันก็คือ ฝ่ายค้านได้หยิบยกเหตุผลในเรื่องการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนของ นายกรัฐมนตรี และอ้างว่าในการแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่ได้ระบุที่มาของงบประมาณ ตามที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่พวกเขาจ้องจะฉีกทิ้งนั่นแหละ ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปชี้แจงหรือชี้แจงอย่างไร

แน่นอนว่าการพ่วงเอาเรื่องการแถลงนโยบายโดยไม่ระบุที่มาของงบประมาณเข้ามากับเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบก็เชื่อว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลี่ยงมาตอบสภา เพราะก่อนหน้านี้เขาอ้างเหตุผลที่ไม่ไปตอบกระทู้ถามของฝ่ายค้านว่าเวลานี้เรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วให้ว่ากันไปตามขั้น ดังนั้นการพ่วงเอาเรื่องหลังเข้ามาด้วยก็ทำให้เลี่ยงไม่ออกต้องไปตอบด้วยตัวเองนั่นเอง

อย่างไรก็ดีการยื่นซักฟอกแบบไม่มีการลงมติคราวนี้แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสถานะของรัฐบาล แต่ในวงการมองออกว่านี่คือรายการ “ด่าลุงตู่”ในสภา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาจากอารมณ์ร่วมของสังคมภายนอกด้วยว่าเขบ้านเขามองเรื่องนี้อย่างไร จะมอง่า “ป่วนไม่เลิก” หรือไม่ยอมเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ทำงานแก้ปัญหาในเรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อนเร่งด่วนก่อนหรือไม่ เช่น เสียงเรียกร้องให้แก้ปัญหาเรื่อง “ปากท้อง” เสียก่อน เป็นต้น ซึ่งก็น่าจับตาอยู่เหมือนกันว่าถึงตอนนั้นกระแสจะเทไปทางไหนได้มากกว่ากัน

แต่ที่น่าลุ้นมากกว่าก็น่าจะเป็นเรื่องการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะมีขึ้นในสมัยประชุมสมัยวิสามัญในเดือนตุลาคมนี้ ที่น่าจะเป็นการลุ้นอยู่หรือไปเหมือนกัน เพราะด้วยสภาพของรัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ” แบบนี้ มันก็น่าหวาดเสียว เพราะหากเกิดพลาดพลั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทางเลือกสองทางคือ ไม่ลาออกก็ต้องยุบสภา

แต่ขณะเดียวกันก่อนที่จะถึงการประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าว ในช่วงปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 กันยายนนี้ เวลานี้ก็ได้เห็นสัญญาณการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านที่กำลังเริ่มรณรงค์ให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งแน่นอนว่าทุกฝ่ายก็รับรู้กันอยู่แล้วว่ามัน “แก้ไขยาก” แต่ที่น่าจับตาก็คือมันมีรายการแบบ “วาระซ่อนเร้น” เหมือนกันมีเจตานาป่วน และช่วยไม่ได้ที่มีหลายคนมองออกว่ามีความพยายามสร้างกระแสให้เกิดความขัดแย้งปั่นป่วนขึ้นมาอีก โดยนำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นตัวล่อ

อีกทั้งปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประมติด้วยเสียงข้างมากมาแล้วถึงจำนวน 16.8 ล้านเสียง ถือว่าท่วมท้น ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งมันก็กลายเป็นเกราะป้องกันรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้อีกชั้นหนึ่งเหมือนกันว่าการคิดจะแก้ไขมันไม่ง่ายนอกเหนือจากต้องผ่านด่านในสภาที่ถือว่า “หิน” อยู่แล้ว นั่นคือ “นอกสภา” ที่ย่อมมีไม่น้อยที่ยังคิดว่ายังไม่ถึงเวลา หรือ “ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแบบคอขาดบาดตาย” รอให้ใช้ไปสักระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ 5 ปี ที่บทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับ ส.ว.แต่งตั้งก็จะสิ้นสุดลง เป็นต้น

อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้มันเหมือนกับว่ามีเจตนาสร้างความปั่นป่วนขึ้นมา เพราะรู้ว่ามันแก้ไขได้ยาก และสร้างความขัดแย้งขึ้นมาแน่นอนจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งเห็นเจตนาซ่อนเร้นเป็นคำถามว่าเจตนาที่แท้จริงนั้นเพื่อ “ล้มล้างรัฐธรรมนูญต้านโกง” เพื่อใครหรือไม่ ซึ่งมันก็ช่วยไม่ได้ที่จะถูกมองว่าการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นเพียง “เป้าหลอก” แต่ของจริงคือเจตนาให้เกิดคามปั่นป่วน หรือนำไปสู่การโค่นล้มทั้งรัฐบาล และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น