xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชง 6 ข้อเสนอหามาตรารับวิกฤตจราจร หลังเปิดสถานีรถไฟฟ้ากลางบางซื่อ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานผู้ตรวจฯ ร่วมประชุมคมนาคม รฟท. พร้อมลงพื้นที่สถานีรถไฟฟ้ากลางบางซื่อ ชง 6 ข้อเสนอ หน่วยงานเร่งหามาตรการรองรับวิกฤตจราจรแห่งใหม่คนเมือง ก่อนเปิดให้บริการต้นปี 64 หวั่นกระทบภาพลักษณ์ สูญเสียความเป็นเมืองน่าอยู่

วันนี้ (15ส.ค.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 ร่วมประชุมกับกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรุงเทพมหานคร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกองบังคับการตำรวจจราจรและลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อศึกษาผลกระทบของโครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อและแผนการรองรับด้านคมนาคม โดยพล.อ. วิทวัส กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน โดยจะมีโครงการสถานีกลางบางซื่อซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่บนเนื้อที่กว่า 795 ไร่ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน รถไฟความเร็วสูง และเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญ คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง รวมถึงโครงข่ายถนนและทางพิเศษที่สำคัญ ได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน ซึ่งสถานีกลางบางซื่อมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 สามารถเปิดให้บริการภายในต้นปี 2564

ทั้งนี้สนข. คาดการณ์ว่าปี 65 จะมีปริมาณผู้มาใช้บริการโดยรอบโครงการในแต่ละวันกว่า 650,000 คน และต่อไปจะพัฒนาพื้นที่ภายในให้เป็นคอมเพล็กซิตี้ เช่น สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย และพื้นที่นันทนาการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางการจราจรทั้งการเข้า - ออก และการจราจรโดยรอบสถานี หากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่มีแผนงานรองรับทั้งการจราจรการจราจรภายใน-ภายนอกโครงการการจัดระบบขนส่งมวลชนและพื้นที่จอดรถให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ดังนั้นเพื่อทุกฝ่ายจะได้บูรณาการวางแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอ 1. ให้ บขส. กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดทำแผนการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) จตุจักร ไปที่ศูนย์ฯ รังสิตให้ชัดเจนโดยเฉพาะในเรื่องห้วงเวลา 2.ให้กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม สนข. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกันจัดทำแผนก่อสร้างขยายถนน และสะพานข้ามแยก 5 โครงการบริเวณแยกเกียกกายภายใน 90 วัน เพื่อนำไปสู่การก่อสร้างให้ทันกับการเปิดใช้งานโครงการสถานีกลางบางซื่อในต้นปี 2564เพื่อช่วยลดปัญหาผลกระทบด้านการจราจร

3.ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผนอำนวยการจราจรบริเวณทางขึ้น-ลงของหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ เช่น ด่านประชาชื่น ด่านจตุจักร ด่านพระราม 6 และจัดทำแผนดำเนินการทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานคร ภายใน 90 วัน รวมทั้งเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทันกับการเปิดใช้งานโครงการสถานีกลางบางซื่อ 4. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำแผนรองรับปัญหาสถานที่จอดรถของผู้ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อไม่เพียงพอ 5.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดดำเนินการจัดทำระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT) ให้แล้วเสร็จทันกับการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อหรือหากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ให้จัดหามาตรการรองรับในเบื้องต้นเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้มาใช้บริการ 6.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพร่วมกันจัดทำแผนเชื่อมโยงการให้บริการจุดรับส่งระหว่างรถประจำทางและระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT) และจัดการเดินรถให้เพียงพอกับปริมาณผู้ใช้บริการ
.
“ปัญหาจราจรปัจจุบันวิกฤตมากอยู่แล้ว หากสถานีกลางบางซื่อซึ่งเป็นศูนย์คมนาคมขนาดใหญ่เปิดใช้บริการในต้นปี 2564 จะมีจำนวนประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติมาใช้บริการจำนวนมาก ประกอบกับปริมาณการจราจรโดยรอบสถานีขนส่งหมอชิต ทางด่วนกรุงเทพฯ ช่วงนี้ทั้งขาเข้า-ขาออกก็มีความคับคั่งทั้งวันอยู่แล้ว การเตรียมการก่อสร้างถนนและเส้นทาง-เข้าออกสถานีกลางบางซื่อและลงมือก่อสร้างให้ทันกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการจราจรติดขัดในเมืองหลวงของประเทศจะเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมและอาจทำให้สูญเสียความเป็นเมืองน่าอยู่ ของกรุงเทพมหานครได้ “













กำลังโหลดความคิดเห็น