xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยบุตร” หนุนวิจารณ์ศาล รธน.ช่วยปรับปรุงการทำหน้าที่ให้เป็นเสาหลัก ยันต้องแก้ ม.279

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาฯ อนค.หนุนการมีอยู่ศาล รธน. รับวิจารณ์เสมอเพราะปรารถนาดี ขออดทน มองเรื่องดีช่วยปรับปรุงการทำหน้าที่ หวังให้เป็นเสาหลัก ติงที่มาไม่เชื่อมโยงสภา ชี้ต้องค้านรัฐประหาร แปลกใจไม่โดนยุบทิ้ง ย้ำต้องแก้ ม.279 เพื่อตรวจสอบคำสั่ง คสช.

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาวาระรับทราบรายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายสนับสนุนการมีอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญ และช่วงที่ตนเป็นนักวิชาการได้วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย และการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ ด้วยความปรารถนาดีว่าอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พิทักษ์ระบบนิติรัฐ นิติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญในการรักษากฎหมายสูงสุดของประเทศ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเสียงข้างมาก คุ้มครองเสียงข้างน้อย คุ้มครองสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นธรรมชาติที่ศาลรัฐธรรมนูญมักเผชิญหน้ากับสภาอยู่เสมอ ในส่วนของสภามีความชอบธรรมเพราะมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติด้วย พวกเราจึงต้องแสวงหาความชอบธรรมเช่นกัน

นายปิยบุตรกล่าวว่า ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องออกแบบให้เชื่อมโยงประชาชนผ่านกระบวนการทางสภา เช่น ประเทศเยอรมนี แต่ในประเทศไทยที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่เชื่อมโยงกระบวนการทางสภา ส.ส.แทบไม่มีโอกาสพบปะกับบุคคลที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลย เพราะมีที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง และให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติรับรอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะตัวศาลเองมีที่มาที่ไม่เชื่อมโยงสภาเลย

นายปิยบุตรกล่าวด้วยว่า ในรายงานประจำปีของศาลรัฐธรรมนูญ ได้รวบรวมสถิติคดีตั้งแต่ปี 2551-2560 พบว่าตั้งแต่ปี 2557 จำนวนคำร้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นปีที่มีการรัฐประหาร ซึ่งปกติเวลารัฐประหารสิ่งแรกๆที่คณะยึดอำนาจต้องทำ คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ เพื่อใช้อำนาจตัวเองตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนมูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต้องแสดงบทบาทไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และต้องบอกว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ดังนั้น เมื่อมีการรัฐประหารนอกจากคณะยึดอำนาจจะฉีกรัฐธรรมนูญ ยังต้องออกประกาศยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง แต่ปรากฎว่าการรัฐประหารปี 2557 คณะยึดอำนาจปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อซึ่งถือว่าแปลกประหลาด

นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับรองให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อ แบบนี้จะเข้าไปตรวจสอบองค์กรที่มาจากการยึดอำนาจได้หรือไม่อย่างไร เมื่อสภาพการณ์ทางรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้จึงไม่ต้องสงสัยถึงจำนวนคดีที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

“เวลารัฐประหารเสียงปืนดังขึ้นกฎหมายก็เงียบลง วันนี้เรามีรัฐธรรมนูญ 2560 มีรัฐบาลใหม่แล้วหากการถวายสัตย์สมบูรณ์จริง วันนี้เสียงปืนสงบลงแล้วจะถึงเวลาที่กฎหมายกลับมาดังขึ้นเหมือนเดิมได้หรือไม่ วันนี้ยังมีประกาศคำสั่ง คสช.จำนวนมากมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มีเนื้อหาหลายอย่างขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคนร่างรัฐธรรมนูญมองการณ์ไกลว่าอะไรที่ชอบในรัฐธรรมนูญ 2557 ให้ชอบในรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ดังนั้น เราจะพยายามผลักดันแก้ไขให้ยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตรวจสอบคำสั่งคสช.ให้ได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรอภิปรายถึงการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า มาตรา 38 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาว่าการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญแบบไหนจึงจะเข้าเงื่อนไข ว่าเป็นการวิจารณ์โดยสุจริตไม่หยาบคาย ไม่อาฆาตมาดร้าย ยกตัวอย่าง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ถามว่าตนวิจารณ์ได้หรือไม่ เพราะเป็นทางเดียวที่ตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนเห็นว่าการวิจารณ์เป็นเรื่องดีที่จะช่วยปรับปรุงการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

“อยากให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญอดทนอดกลั้นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย เราเป็นนักการเมืองธรรมดาไม่มีอาวุธจะไปยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยได้ แต่การถูกวิจารณ์จะเป็นเกราะคุ้มกันศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน จึงอยากเห็นศาลรัฐธรรมนูญเป็นเสาหลัก ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชน และช่วยประคับคองบ้านเมืองในยามหัวเลี้ยวหัวต่อ ผมอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญดำรงต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นายปิยบุตรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น