xs
xsm
sm
md
lg

TMA ครบรอบ 55 ปี ตอกย้ำการยกระดับความสามารถการแข่งขัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA จัดงานครบรอบ 55 ปี ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรยุคใหม่ โดยเชิญผู้นำจากองค์กรและสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ มุมมองและแนวความคิด เพื่อนการพัฒนาบุคคลและองค์กรก้าวสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ

Professor Dr. Barry Katz, IDEO fellow, consulting Professor of mechanical Engineering, Stanford University จากประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมงาน TMA Top Talk และนำเสนอแนวคิดภายใต้เรื่อง “Design with a Purpose” ได้มาบรรยายให้ฟังว่า การออกแบบเมืองก็จะต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตและความต้องการของผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ เป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องออกแบบให้ผู้คนมีความสะดวกในการเดินทางการ ขนย้ายสิ่งของต่างๆ หรือแม้แต่การจับจ่ายใช้สอย สำหรับการออกแบบทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเช่น การออกแบบปัญญาประดิษฐ์ เราก็จะต้องใช้แนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงความต้องการของมนุษบ์เป็นหลักและควบคุมดูแลออกแบบปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ก่อนที่มันจะพัฒนาตัวเองจนกระทั่งมาออกแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์

ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องออกแบบชีวิตของตนเองว่าต้องการใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันยังมีการออกแบบแม้กระทั่งการตายว่าเราต้องการที่จะตายอย่างไรอีกด้วย ทั้งนี้ การออกแบบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การออกแบบอนาคต ซึ่งเราควรออกแบบอนาคตที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะสามารถช่วยสร้างความยั่งยืนของโลกใบนี้ได้ต่อไปด้วย

ขณะเดียวกันงาน Leaders Forum ในหัวข้อ "The New Competitiveness Agenda: Designing a Compatible Future for All" TMA ได้รับเกียรติจาก Professor Stephane Garelli, Founder of IMD World Competitiveness center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Mr.Martin Wezowski, Chief designer & futurist and Chief innovation office, SAP's Innovation center network ประเทศเยอรมนี และ Professor Dr. Barry Katz

Professor Stephane Garelli กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของบริษัทชั้นนำระดับโลกจะไม่ใช่เรื่องของการทำกำไรอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น จึงต้องกลับมาคิดว่าโมเดลทางธุรกิจต่อไปของแต่ละบริษัทควรจะเป็นอย่างไร โดยบริษัทด้านเทคโนโลยีจะมีอิทธิพลสร้างผลกระทบต่อภาพรวมทั้งโลกมากขึ้น และเกิดเป็นคำถามเกี่ยวกับ mindset ที่ต้องปรับปรุง เพราะคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจึงต้องกลับมาคิดทบทวนเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินธุรกิจและศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคใหม่

Mr. Martin Wezowski ย้ำว่าไม่มีใครรู้ถึงโลกในอนาคตได้ ดังนั้นการเตรียมตัวหรือรับมือกับอนาคต ธุรกิจควรเริ่มจากการปรับวิธีการตั้งคำถามใหม่ โดยตั้ง “ความหวัง” ที่ต้องการอยากจะเห็น เพื่อใช้เป็นตัวชี้นำให้เห็นทิศทางที่ต้องการจะไปในอนาคต และใช้ “จินตนาการ” ในการปรับกระบวนการคิดและวิธีการดำเนินชีวิตในอนาคต ในการวาดภาพอนาคตที่ต้องการ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกระดับ จึงมีความจำเป็นที่ต้องดึงประชาชนในทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความคิด ยิ่งมีความหลากหลายมากเท่าไหร่ จะยิ่งช่วยให้เกิดไอเดียใหม่เพิ่มมากขึ้น และค่อยๆ หาวิธีลงมือทำให้เกิดขึ้นทีละจุดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นให้เป็นเส้นทางที่ต้องการ

ในแง่การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) Mr. Martin มองว่าการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ทั้งการนำ Machine learning และ AI มาช่วยในการทำงานที่มีลักษณะเป็นรูทีนหรืองานที่มนุษย์อาจตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึง โดยในแง่ของการใช้พลังงาน แม้ว่าในช่วงแรกการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอาจบริโภคพลังงานมากกว่า แต่จะค่อยๆ ลดลงไปตามลำดับ

ขณะที่ Professor Dr. Barry M. Katz ให้แง่มุมของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ย่อมก่อให้เกิด “ผู้แพ้” ในสังคม หรือเป็นกลุ่มคนที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ในการทำงาน ฉะนั้นธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม และพัฒนาศักยภาพบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะที่สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยี นอกจากนี้ธุรกิจยังต้องตรวจสอบสถานะการใช้พลังงานของเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเริ่มเห็นว่ามีการนำฟีดแบคของการใช้พลังงานมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในเรื่องรถยนต์แบบไร้คนขับที่อาจนำมาใช้กับการขนส่งสาธารณะแทนที่รถยนต์ส่วนบุคคล

โดยตลอดระยะเวลา 55 ปี TMA มุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านการพัฒนาทักษะผู้นำ การบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมพร้อมให้องค์กรไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วนในการช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น