รมว.เกษตรฯ ระบุเศรษฐกิจฐานราก เริ่มเดินหน้านโยบายประกันรายได้เกษตรกร ประเดิมด้วยเรื่องปาล์มน้ำมัน สั่งเร่งออกเอกสารจีเอพีให้ผู้ส่งออกผลไม้ไปนอก
วันนี้ (8 ส.ค.) ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพค ฟอรัม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวในการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงตอนหนึ่งว่า เรื่องเศรษฐกิจฐานรากในนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ตอนนี้ได้เริ่มออกมาแล้วจากเรื่องปาล์มน้ำมัน ตนได้เรียกหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนเกษตรกรมาประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาเพื่อให้มาตัดสินใจและตกลงร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินโยบายด้านนี้เป็นไปอย่างราบรื่นต่อไป โดยที่ประชุมมติให้ประกันราคาปาล์มที่กิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาท ณ ปริมาณน้ำมัน 18 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ครอบครัวผู้ปลูกปาล์มน้ำมันต้องมีไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน
สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด ที่ผ่านมาเราพึ่งพาการส่งออกโดยมีตลาดใหญ่คือจีน แต่ตอนนี้จีนเริ่มเคร่งครัดเรื่องการตรวจคุณภาพสินค้าเกษตร มีการขอเรียกตรวจดูเอกสารรับรองมาตรฐาน GAP ที่ต้องออกโดยกรมวิชาการเกษตร ตนจึงขอให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งออกเอกสารดังกล่าวเพื่อช่วยผู้ประกอบการส่งออกพืชผักผลไม้ไปยังต่างประเทศ อย่าให้เกิดเป็นปัญหาคอขวดและมีความล่าช้า มิฉะนั้นจะกระทบต่อการส่งอออกของประเทศ นอกจากนี้ เรื่องของเซฟการ์ด เมื่อมีสินค้าเกษตรตัวใดถูกนำเข้ามาในไทยในปริมาณมากผิดปกติ เราสามารถใช้มาตรการนี้มาจัดการเพื่อไม่ให้สินค้าเกษตรจากต่างประเทศมากระทบต่อสินค้าเกษตรในไทย ดังนั้น ตนขอให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งทำตรงนี้และจริงจังด้วย เพื่อให้ลดผลกระทบต่อสินค้าเกษตรในบ้านเรา
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า เรื่องการส่งออก เรารักษาตลาดเดิม และต้องเปิดตลาดใหม่ เช่น ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้ ฟื้นตลาดอิรัก การเพิ่มการส่งออกด้านหนึ่ง คือ การเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนซึ่งก็คือประเทศในอาเซียน ส่วนการพัฒนาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจดทะเบียนจีไอ หรือการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น ไข่เค็มไชยา ได้ประสานงานผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รวบรวมสินค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจีไอ จากนั้นจะจัดโมบายยูนิตลงไปจดทะเบียนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นต่อไป