xs
xsm
sm
md
lg

“หมอระวี” หนุนรื้อค่าโง่โฮปเวลล์ แนะแก้ กม.อนุญาโตตุลาการ หยุดโกงสามประสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นพ.ระวี มาศฉมาดล (แฟ้มภาพ)
“หมอระวี” หนุนอัยการรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ หวังศาลปกครองพลิกคำพิพากษา รัฐไม่ต้องจ่าย 1.2 หมื่นล้าน เหมือนค่าโง่คลองด่าน แนะถอดบทเรียนสารพัดค่าโง่ แก้กฎหมายอนุญาโตตุลาการป้องกันเสียค่าโง่ซ้ำซาก หยุดโกงแบบสามประสาน เอกชน-ขรก.-ฝ่ายการเมือง

วันนี้ (7 ส.ค.) นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีที่อัยการสูงสุดยื่นศาลปกครองเพื่อรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล้านให้มีการพิจารณาใหม่ว่า เป็นบทเรียนของภาครัฐซ้ำรอยกรณีค่าโง่คลองด่าน ซึ่งผลของเรื่องคลองด่านศาลปกครองกลางได้กลับคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองสูงสุดที่ให้กรมควบคุมมลพิษปฏิบัติตามมติของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้รัฐบาลยังไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนกว่า 9 พันล้านให้เอกชน แต่คดีก็ยังไม่ยุติ ต้องรอศาลปกครองสูงสุดตัดสินก่อน นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าตกลงรัฐบาลได้เรียกเงินที่จ่ายชดเชยไปสองงวดก่อนที่จะมีการรื้อคดีกลับมาหรือไม่ ความจริงรัฐบาลควรทำความกระจ่างในเรื่องนี้ต่อสังคมด้วย เพื่อยืนยันถึงการรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชน

นพ.ระวีกล่าวด้วยว่า ทุกค่าโง่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ค่าโง่คลองด่าน ค่าโง่ทางด่วน รวมถึงค่าโง่โฮปเวลล์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องถอดบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐอีก โดยในส่วนของโฮปเวลล์ถือเป็นเรื่องดีที่อัยการยื่นเรื่องให้มีการรื้อคดีใหม่ เพราะมีหลักฐานใหม่ที่จะส่งให้ศาลปกครองพิจารณาเพื่อทบทวนคำพิพากษา แต่ก็ยังต้องลุ้นกันต่อว่าศาลปกครองกลางจะรับไว้พิจารณาหรือไม่

หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่กล่าวด้วยว่า บทเรียนค่าโง่ของรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำซากต้นทางก็มาจากการทุจริตแบบสามประสานที่สมรู้ร่วมคิดกันระหว่างรัฐเอกชน แล้วก็ข้าราชการ แต่สุดท้ายเมื่อโครงการไปไม่รอดคนที่เสียประโยชน์ที่สุดคือประชาชนที่ไม่ได้ใช้โครงการและยังต้องเสียค่าโง่จากการที่รัฐบาลทุจริต ทำสัญญาที่รัฐเสียเปรียบ ดังนั้น นอกจากจะตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วควรจะพิจารณาในเชิงหลักการว่าจะมีการตรวจสอบดูแลอย่างไรให้การจัดทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนไม่ให้รัฐเสียเปรียบ และควรพิจารณาข้อเสนอของสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้กฎหมายเพื่อกำหนดว่า กรณีที่ศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขัดหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีนั้น เมื่อคู่กรณีแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ศาลจะต้องตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายว่าถูกต้องหรือไม่ มิใช่ดูแต่เพียงผลของคำวินิจฉัยว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่ แล้วตัดสินให้บังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการโดยไม่ตรวจสอบลงไปในรายละเอียด

นพ.ระวีกล่าวด้วยว่า ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนที่ให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด ส่วนใหญ่จะจบลงที่รัฐเป็นฝ่ายแพ้ และหลายโครงการมีการกระทำไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น จึงมีการเสนอว่าควรแก้ไข พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ ให้ครอบคลุมเฉพาะข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรศึกษาผลดี-ผลเสียเพื่อหาบทสรุปที่ดีที่สุดโดยไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ ควรมีการถอดบทเรียนและสร้างกลไกขึ้นมาตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา โดยมีเรื่องที่รัฐบาลเริ่มต้นได้ทันทีจากการทำโครงการอย่างเปิดเผย โปร่งใส ภายใต้กฎระเบียบ มีความรัดกุมในการจัดทำสัญญา เปิดให้สาธารณชนตรวจสอบได้ ซึ่งการมีข้อตกลงคุณธรรมร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดทางให้คนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียเข้าไปสังเกตการณ์ เสนอแนะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน แต่ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่ใช้ข้อตกลงคุณธรรมเป็นพิธีกรรมสร้างภาพให้รัฐบาลเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น