xs
xsm
sm
md
lg

“วัส” ข้องใจ 2 กสม.ไขก๊อกสานต่อปณิธานเซตซีโร่ ปัดรวบอำนาจ ยกผลงานระดับโลกยัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธาน กสม. แถลงเคลียร์ “อังคณา-เตือนใจ” ลาออก พร้อมยื่นหาคนใหม่ รับเห็นต่างต้องลงมติกันปัดรวบอำนาจ ไม่เคยห้ามรับคำร้องชาวบ้าน ยกผลงานระดับโลกยัน แขวะสานต่อปณิธานเซตซีโร่ ชี้ การให้ข่าวองค์กรต้องมีมาตราฐาน “ประกายรัตน์” ไม่ลาออกตาม

วันนี้ (31 ก.ค.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แถลงข่าวหลัง นางอังคณา นีละไพจิตร และ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น กสม. ว่า ได้รับหนังสือลาออกจากทั้งสองคนในช่วงเช้าที่ผ่านมา และจะทำหนังสือด่วนที่สุดในวันนี้ ถึงประธานศาลฎีกา และ ประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ทำการคัดเลือก กสม.ขึ้นมาทำหน้าที่ชั่วคราวระหว่างรอการสรรหา กสม.ชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานนักก็ได้คนมาทำหน้าที่ กสม.ชั่วคราว เดิมองค์กร กสม.มีจำนวน 7 คน ในจำนวนนี้ 1 คน ทำหน้าที่ประธาน ซึ่งก่อนรัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 เม.ย.มี กสม. 1 คนลาออก และเมื่อ 1 มิ.ย. 62 ก็มี กสม.อีก 1 ลาออกไปทำหน้าที่ในองค์กรอื่น จนล่าสุดมี กสม. 2 คนยื่นหนังสือขอลาออก ทำให้ขณะนี้เหลือ กสม.ทำหน้าที่อยู่ 3 คน

นายวัส กล่าวว่า การทำหน้าที่ของ กสม.ที่ผ่านมา ต้องทำหน้าที่ในฐานะองค์กรกลุ่มที่ต้องมีการให้ความเห็นและเมื่อความเห็นต่างก็ต้องลงมติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งหลายครั้งตนเองมักเป็นเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะการประชุม 2 ครั้งหลังสุด แต่ตนก็เคารพเสียงข้างมากในการตัดสินใจ ดังนั้น ข้อความที่ระบุว่าประธาน กสม.รวบอำนาจไว้คนเดียวไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่ของ กสม.มี 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.เรื่องการคุ้มครองสิทธิที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน แม้ไม่มีผู้ร้องเรียนก็สามารถหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบเองได้ รวมทั้งกรณีที่ กสม.ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม การที่ปรากฏว่าห้าม กสม.รับคำร้องจากชาวบ้านในข้อเท็จจริงไม่เคยมีการห้าม แต่เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการที่จะรับเรื่องร้องเรียน 2.ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็มีการจัดเวทีให้ความรู้ส่งเสริมประชาชนเข้าใจในเรื่องสิทธิ และส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และก่อนชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่มีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่ 90% เมื่อเข้ามาในเดือน พ.ย. 58 ทำงานมา 3 ปีเศษ เร่งดำเนินการเรื่องร้องเรียนค้าง ปรับระบบการทำงานทำให้เรื่องร้องเรียนเสร็จไปถึง 81% เหลือค้างไม่ถึง 20% โดยเรื่องที่เหลืออยู่ในกระบวนการกลั่นกรอง

“ตอนที่มี กสม.เหลืออยู่ 5 คน เราทำงานด้วยดีมาตลอด ความเห็นไม่ตรงกันก็ใช้วิธีการลงมติเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งรายงานการตรวจสอบที่ออกไปก็เป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ที่ประเทศต่างๆ ชูประเทศไทยเป็นตัวอย่างโดยเฉพาะการที่จะมาดูงานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น เนปาล ยอมรับว่าเสียดายกับสิ่งที่เกิดขึ้น การทำงานมีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ผลงานจะเป็นที่ยืนยัน ซึ่งรายงานที่กสม.ออกไปมีข้อโต้แย้งน้อยมาก”

ประธาน กสม. ยังกล่าวอีกว่า หลังมี กสม.ลาออกตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.2560 กำหนดให้ กสม.ที่เหลือทำหน้าที่ แต่เมื่อขณะนี้เหลือเพียง 3 คน ทำให้องค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ในแง่ขององค์กรกลุ่มทำให้ไม่สามารถประชุมเพื่อออกรายงานของ กสม.ได้ แต่ทั้ง 3 คนจะยังคงทำหน้าที่ต่อไป และถ้าดูตัวเลข กสม.ที่ลาออกไปแล้ว 4 คน อาจจะเหมือนมาก แต่ก็เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาในการทำงานและมองว่าเป็นปัญหาเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ตอนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. 2560 ยังเป็นร่างกฎหมายทางกรรมาธิการ สนช.ได้ส่งมาให้ กสม.พิจารณาเนื้อหาที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องภาพรวมของการทำงาน ก็มี กสม. 2 คนเห็นด้วย รวมถึงเห็นด้วยกับประเด็นการเซตซีโร่ กสม.ชุดนี้ ทั้งที่ กสม.อีก 4 คนไม่เห็นด้วย ฉะนั้น กสม.ที่เห็นด้วยกับการเซตโร่ กสม.ชุดนี้ ก็ต้องถือว่า บรรลุวัตถุประสงค์และคิดว่าจะไม่เอาองค์กรตัวเองไว้แล้ว จึงไม่แน่ใจว่าการลาออกของ 2 กสม.ที่สุดเป็นการสานต่อปณิธานของเขาหรือไม่ แต่จะมีเหตุผลนี้หรือไม่ก็ต้องพิจารณากันต่อไป

ส่วนที่มีการอ้างว่ากสม.มีวางแนวปฏิบัติในเรื่องการให้ข่าวเคร่งครัดนั้น นายวัส ยืนยันว่า ไม่ได้มีการห้าม เพราะไม่มีอำนาจจะไปห้ามเป็นการส่วนตัว แต่การให้ข่าวขององค์กรกลุ่มต้องมีมาตรฐานและมีระเบียบซึ่งที่ผ่านมา กสม.ออกแนวปฏิบัติในการให้ข่าวโดยกำหนดว่าถ้าเป็นเรื่องสำคัญก็ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการหรือคนที่ได้รับมอบหมาย ส่วนที่เป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสม.แต่ละคนก็สามารถให้ข่าวได้ แต่การให้ข่าวเรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบและข้อเท็จจริงยังไมได้สรุปก็เป็นเรื่องที่สมควรต้องหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวของประธาน กสม. นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิ์ที่ไม่ได้ลาออก ได้มาร่วมฟังการแถลงข่าว ขณะที่ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ โดย นางประกายรัตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวได้พบกับหนึ่งในกสม.ทื่ยื่นลาออกและได้พยายามยับยั้งขอให้ทำหน้าที่ต่อไป เข้าใจว่า ทั้งสองคนอาจคุ้นเคยกับการทำงานแบบองค์กรเดี่ยว แต่เมื่อมาทำงานแบบองค์กรกลุ่มอาจจะอึดอัด และเชื่อว่า หลายคนที่ทราบข่าวการลาออกคงรู้สึกตกใจแต่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของทั้งสองคน แต่สำหรับตัวเองจะไม่ลาออก จะอดทนทำหน้าที่ เพราะถือว่าอาสาเข้ามาทำหน้าที่นี้แล้วก็ต้องเดินหน้าสานต่อและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนต่อไป

“เราควรต้องอยู่เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหน้าที่อำนาจ ดิฉันกับท่านประธานจะอยู่ทำงาน ถึงเราจะอยู่กัน 3 คน ก็ยังสามารถดูแลสิทธิมนุษยชนของประชาชน แม้จะมีข้อจำกัดในบางเรื่องก็หวังว่าทางออกที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลจะทำให้เราได้ กสม.ชั่วคราวเข้ามาช่วยทำงานเพื่อช่วยออกรายงานการประชุมในการเสนอต่อ ครม.ด้วย นายประกายรัตน์ กล่าวและระบุว่า ไม่สามารถแสดงความเห็นหรือทราบว่า นางฉัตรสุดา จะมีความเห็นอย่างไรต่อการที่ กสม. 2 คนลาออก





กำลังโหลดความคิดเห็น