xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงตู่” มือใหม่ เข้าสภาครั้งแรกไม่ทิ้งสไตล์นายกฯ พบประชาชน ดุดันขึงขัง อินเนอร์มาเต็ม! ** ฟังจากปาก “ประธานบอร์ด กทพ.” คดีค่าโง่ทางด่วน 1.37 แสนล้าน! ยันสู้คดีหากแพ้เสี่ยงเงินไม่พอจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ข่าวปนคน คนปนข่าว

** “ลุงตู่” มือใหม่ เข้าสภาครั้งแรกไม่ทิ้งสไตล์ “นายกฯ พบประชาชน” ดุดันขึงขัง อินเนอร์มาเต็ม! โดน “ดาวยั่ว” รัวใส่เป็นชุด ชวนทะเลาะ ข้อหา “ชี้นิ้วสั่ง-เกรี้ยวกราด-ตะคอก-ขมขู่” มาหมด ขณะที่ประธาน “ชวน หลีกภัย” ได้ฉายาใหม่ “ชวน ปิดไมค์”

#ประชุมสภา กลายเป็นแฮชแท็กที่แรงที่สุดในทวิตเตอร์ เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) อาจจะเป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่บอกว่า ประชาชนให้ความสนใจต่อการประชุมรัฐสภา วาระการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาครั้งนี้มากกว่าหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ... การประชุมเริ่มขึ้นเวลาประมาณ 09.30 น. โดยมี “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระ ส.ส.พลังประชารัฐ หลายคนลุกขึ้นดักคอฝ่ายค้านว่าต้องอภิปรายในกรอบเท่านั้น ห้ามนำเรื่องคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาพูดในสภาโดยอ้างเรื่องนี้ยังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ

จากนั้นสิ่งที่หลายคนรอคอย อยากจะดูลีลาและจับจ้องอากัปกิริยาของ “ลุงตู่” ก็มาถึง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มแถลงนโยบายด้วยการพูดคล้ายกับพูดในรายการ “นายกฯ พบประชาชน” น้ำเสียงห้วนสั้น ดุดัน บางช่วงออกท่าทาง วาดมือ ชี้นิ้ว โดยไม่ได้อ่านตามเอกสารนโยบายที่ส่งให้สมาชิกรัฐสภา ทำให้ฝ่ายค้านลุกขึ้นประท้วงอย่างต่อเนื่อง ...ฝ่ายค้านที่ประท้วงเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสียส่วนใหญ่ นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. และเป็นไปตามที่หลายๆ คนคาด “ดาวสภา” และ “ดาวยั่ว” ของเพื่อไทย จี้จุดไปที่ “ลุงตู่” โดนวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่จัดรายการนายกฯ พบประชาชน ด้วยบุคคลิกกิริยาแข็งกร้าวแบบนายทหาร และภาวะทางอารมณ์ต่ำ หรือคุมอารมณ์ไม่ได้ ยั่วมากๆ เดี๋ยวก็หลุด!
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ก่อนที่ “ลุงตู่” จะเข้าสภาเป็นครั้งแรก คนเขาก็ประเมินและจับตาเรื่องนี้มากกว่านโยบายที่จะแถลงเสียอีกว่า “ลุงตู่” จะไหวมั้ย? แรกๆ พล.อ.ประยุทธ์ คุมอารมณ์ได้ดีกว่าที่คิด พูดแซว นพ.ชลน่าน ว่า “ดาวสภาอยู่แล้ว เชิญครับ” หลังจาก นพ.ชลน่านพูดจบ พล.อ.ประยุทธ์พูดต่อว่า “ผมไม่ทะเลาะกับพวกท่านอยู่แล้ว เอาละ ผมจะอ่านให้ฟัง อ่านภาษาไทยเนี่ยแหละ คุณเปิดหนังสือและอ่านตามผมไปด้วย”

แต่จากนั้น “ลุงตู่” ก็โดนรัวเป็นชุดว่า นายกฯ ต้องอ่านตามเอกสารเท่านั้น ไม่ควรพูดเอง เพราะเป็นการแถลงนโยบาย ต้องมีการบันทึก และ “สภาไม่ใช่ค่ายทหาร” ไม่ควรมีท่าทีเหมือนพูดกับใต้บังคับบัญชา

“ที่นี่ไม่ใช่ทหารที่จะมาพูดมาชี้มาสั่ง ที่นี่คือสมาชิกรัฐสภา มาฟังนายกฯ แถลงนโยบาย ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน มาข่มขู่สั่งสอนไม่ได้”

“ลุงตู่” ก็พยายามเก็บอารมณ์ ชี้แจงกลับว่า ไม่เคยมอง ส.ส.เป็นทหารใต้บังคับบัญชา ให้เกียรติท่าน บางครั้งพูดเสียงดัง เพราะกดดัน แต่บางครั้งท่านก็พูดไม่ให้เกียรติผมตามคลิปต่างๆ แต่ก็ไม่ได้อาฆาต ... บางจังหวะลีลาของ “ลุงตู่” ก็แอบเหน็บแนมผู้ประท้วงกลับบ้าง “ผมคิดถึงพวกท่านมาโดยตลอด แม้ไม่ได้มาเจอ แต่ผมก็ดูโทรทัศน์ทุกวัน ผมก็จดประเด็นไว้ตลอดว่าใครพูดอะไร แล้วก็นำข้อวิพากษ์วิจารณ์ ส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ปัญหา วันนี้จึงถือเป็นเกียรติ ที่ได้มาพบปะทุกท่าน มาเสนอนโยบายในนาม ครม.ใหม่ ”
ชวน หลีกภัย
ตอนท้ายๆ “ลุงตู่” ยอมรับว่าตัวเองมือใหม่ รับปากว่าจะปรับปรุงตัวเองให้ดีกว่านี้ ซึ่งตัวตนเป็นคน “พูดเร็วรัวจริง พูดไม่เก่ง แต่พูดแล้วทำ”... ทว่า ฝ่ายค้านก็ไม่หยุดที่จะแซะ โดยอ้างอ่านข้อความผ่านทวิตเตอร์ พบคำถามของหลายคน ถามว่า “ฟังไม่ชัด ลิ้นเป็นอะไรหรือไม่ หรือป่วยหรือไม่ รวมถึงแสดงความสงสารเยาวชนที่เรียนภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ซึ่งสะท้อนถึงภาวะผู้นำ และความสามารถของการบริหารจัดการ”

การรับน้องลุงตู่ดำเนินไปเป็นช่วงๆ ขณะที่ท่านประธาน “ชวน” ก็ทำหน้าที่อย่างน่าได้รับคำชื่นชม ด้วยประสบการณ์ สามารถคลี่คลายบรรยากาศการประชุมให้ดำเนินไปด้วยดี ขณะที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ก็เปลี่ยนท่าทีเป็นสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่มีอารมณ์หงุดหงิด แต่ไม่วายจากการใช้ดุลพินิจปิดไมค์ของผู้ประท้วงกันไปมา ชาวเน็ตเลยตั้งฉายาจาก “ชวน หลีกภัย” เป็น “ชวน ปิดไมค์”

พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวลาในการแถลงนโยบายชั่วโมงครึ่ง เนื้อใหญ่ใจความก็อยากจะให้สังคมไทยต้องเดินหน้า คนไทยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมรับกับศตวรรษที่ 21 ... ทว่า ในเวลาช่วงนั้นอารมณ์ของผู้ดูถ่ายทอดสด หรือในโลกโซเซียลฯ #การประชุมสภา เชื่อว่าดรามาไม่ต่างจากดูหนังดูละคร ประเดี๋ยวดุดัน เกรี้ยวกราด ประเดี๋ยวตลกขบขัน เป็นความบันเทิงภาคการเมืองที่ 5 ปีที่ผ่านมาขาดหายไป

ส่วนเนื้อหาที่ท่านผู้เกียรติในสภาถกแถลงกันนั้น...ฟังไม่น่าเข้าหูกันชัวร์

** ฟังจากปาก “ประธานบอร์ด กทพ.” คดีค่าโง่ทางด่วน 1.37 แสนล้าน! ยันสู้คดีหากแพ้เสี่ยงเงินไม่พอจ่าย ทำเองค่าใช้จ่ายบาน หนุนผลเจรจายุติข้อพิพาทแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ
สุรงค์ บูลกุล - ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ปม “คดีค่าโง่ทางด่วน” ที่ว่าอาจจะมีมูลค่าพิพาทสูงถึง 137,517 ล้านบาท ทางเลือกทางออกสัมปทานทางด่วน ที่เป็นเรื่องถกเถียงกันเป็นวงกว้างว่า ควรเป็นแบบไหนที่จะทำให้รัฐมีภาระน้อยที่สุด ประชาชนได้ประโยชน์ และเอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุน ถกเถียงลากถ่วงกันมาจนกลายเป็นชนวนให้กรรมาธิการพิจารณาเรื่องนี้ของสภาฯ วงแตก ซัดกันนัว

“สุรงค์ บูลกุล” ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่เกี่ยวข้องโดยตรง บอกชัดว่าหากสู้คดีทางด่วน เสี่ยงเงินไม่พอจ่ายหากแพ้!

เรื่องการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อยุติข้อพิพาทว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ประธานบอร์ดกทพ.ได้เข้าชี้แจง ต่อคณะกมธ.แล้ว ซึ่งในที่ประชุมได้สอบถามถึงที่มาของข้อพิพาททั้งหมด แต่ละข้อพิพาท เป็นอย่างไร ซึ่งทางกมธ. มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่มีข้อสงสัยกันอยู่ ซึ่งกทพ.จะหาข้อมูลเพิ่มเติม รายงานต่อกมธ.อีกครั้ง

นอกจากนี้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม จะเรียกให้ กทพ.ชี้แจงข้อมูลเรื่องข้อพิพาทและการต่อสัญญา ในสัปดาห์หน้า

“สุรงค์” ยืนยันว่า การที่ กทพ.ได้เจรจากับเอกชน เป็นไปตามคำสั่ง ครม. ส่วนข้อยุติจะต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาล ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบ ซึ่งเป็นกรอบและหลักการ หากจะมีการต่อสัญญา ยังจะต้องเจรจาในรายละเอียดในแต่ละเงื่อนไขกันอีก ... การต่อสัญญาเพื่อยุติข้อพิพาทเป็นแนวทางที่ "ดีที่สุด" เนื่องจากกรณีแพ้คดีในอนาคต จะมีปัญหาเรื่องการหาเงินมาชำระหนี้ ... ขณะที่สัญญาใหม่ จะแก้เงื่อนไขที่เดิมกทพ.เสียเปรียบ เช่น สิทธิพื้นที่ใต้ทางด่วน การปรับลดค่าผ่านทางในบางด่านได้

ส่วนกรณีที่เห็นว่า กทพ. ควรจ่ายชดเชยคดีทางแข่งขัน ตามคำสั่งศาล ส่วนคดีที่ยังไม่ยุติให้ต่อสู้ไปตามขั้นตอน หากในอนาคตคดีสิ้นสุดผลออกมาว่า กทพ.แพ้ กทพ.ยังจะมีรายได้จากค่าผ่านทางมาชำระได้นั้น

เรื่องนี้กรณีไม่ต่อสัญญา กทพ.จะได้ทางด่วนมาบริหารเอง ในระยะ 30 ปี จะมีรายได้ค่าผ่านทางประมาณ 7 แสนล้านบาท แต่ปัญหาคือ กทพ. มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน รวมๆ กว่า 3 แสนล้านบาท เพราะมีค่าใช้จ่ายพนักงาน เฉลี่ยคนละ 8 หมื่นบาท/ปี ตลอด 30 ปี เป็นเงินเท่าไร ? ... ยังมีค่าก่อสร้างทางเพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาจราจร หาก ต้องไปก่อสร้างบนทางด่วนที่ยังเป็นสัมปทานของ BEMอยู่ จะต้องเจรจากันอีก รวมถึงการอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ

"การเจรจาเพื่อยุติขอพิพาท จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จ กทพ. มีศักยภาพในการสร้างรายได้ ปีละ 5,700 ล้านบาท ต้องนำส่งรัฐ 3,500 ล้านบาท เหลือใช้จ่าย 1,000 กว่าล้านบาท ขณะที่ไม่มีใครตอบได้ว่า จะแพ้คดีแค่ไหน จะแพ้พร้อมกันหลายคดีหรือไม่ จะหาเงินไปชำระได้ทันหรือไม่ สุดท้ายจะเป็นภาระงบประมาณหรือไม่. กทพ.พยายามบริหารความเสี่ยง ให้ยุติข้อพิพาท และไม่เป็นภาระต่อรัฐแน่นอน” ประธานบอร์ด กทพ.ว่า

เรื่องนี้ต้องรอดูกันต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น