xs
xsm
sm
md
lg

พลิกปูม “เสธ.น้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ออกมาป้องนามสกุล เป็น ตท..11 ** “ลุงตู่” กำหนดสเปกโฆษกรัฐบาลต้องรอบรู้ ส่วนใครมาเป็นอีกไม่กี่วันได้รู้กัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ข่าวปนคน คนปนข่าว



**พลิกปูม “เสธ.น้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ออกมาป้อง “นามสกุล” เป็น ตท..11 เพื่อนร่วมรุ่น “พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ และ จปร.22 รุ่นเดียวกับ “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เคยมีชื่อเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.รุ่น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งยังเป็นหนึ่งในทหารคนสนิท “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

กรณี “น.ส.แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ”เป็นประเด็นร้อน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเซียลฯ จน พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ “เสธ.น้อย” อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะสมาชิกตระกูล “เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ต้องออกมาพูดปกป้อง “นามสกุล” วอนสื่อและโซเซียลฯ อย่าเหมารวมโยงคดี “แพรวา” เพราะเป็นนามสกุลพระราชทาน เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำโดยส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับนามสกุล ใครทำเสียหายจะฟ้องร้องดำเนินคดีถึงที่สุด...

“เสธ.น้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2493 เป็นบุตรชายคนโตของ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรอง ผบ.ทบ. และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และคุณหญิงเพลิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา
น.ส.แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา - พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
พล.อ.วิชญ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11 (ตท.11) รุ่นเดียวกับ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ พล.ร.อ.สุวิทย์ ธาระรูป เป็นต้น ขณะที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นรุ่นที่ 22 (จรป.22) รุ่นเดียวกับ “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล

สำหรับเส้นทางการรับราชการทหารได้รับตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 ในปี พ.ศ. 2545, ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในปี พ.ศ. 2547, ราชองครักษ์ ในปี พ.ศ. 2548, รองแม่ทัพภาคที่ 1 ในปีเดียวกัน , แม่ทัพน้อยที่ 1 ในปี พ.ศ. 2549, ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, หัวหน้าคณะนายทหาร ฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ในปี พ.ศ. 2551, ตุลาการศาลทหารสูงสุด เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 และได้รับเลื่อนยศเป็น พลเอก (พล.อ.) พร้อมกับรับตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน

ว่ากันว่า “บิ๊กน้อย” ถือเป็นนายทหารที่ใกล้ชิดสนิทสนมคนหนึ่งของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี พ.ศ. 2553 มีข่าวเป็นชื่อแคนดิเดตสำหรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ต่อจาก “ลุงป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่จะเกษียณในกลางปีนั้น ร่วมกับ พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง แต่สุดท้ายเป็น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เป็น ผบ.ทบ.

ส่วนราชสกุล “เทพหัสดิน ณ อยุธยา” นั้น มีผู้บันทึกไว้ว่าเป็นสายพระปฐมวงศ์สืบเชื้อสายเดิมมาจากพระสัมพันธวงศ์เธอเจ้าฟ้าตันกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสลำดับที่ 1ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้าแก้ว กรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้าแก้ว กรมพระศรีสุดารักษ์ ทรงเป็นพระพี่นาง (พี่สาว) พระองค์รองในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้าแก้ว กรมพระศรีสุดารักษ์ ทรงมีพระโอรส-ธิดา กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน คหบดีชาวจีน ที่สืบเชื้อสายมาจากขุนนางจีนในกรุงปักกิ่ง ทั้งหมด 6 พระองค์ โดยหนึ่งในพระธิดาของพระองค์ คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีพระนามเดิม บุญรอด เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

** “ลุงตู่” กำหนดสเปกโฆษกรัฐบาล ต้องรอบรู้ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของประเทศ โดยเฉพาะโลกในยุคโซเชียลฯ ดิจิทัล รวมถึงรู้ในระบบราชการ...ส่วนใครมาเป็น อีกไม่กี่วันได้รู้กัน
ธนกร วังบุญคงชนะ - การดี เลียวไพโรจน์
หลังจาก “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว ก็กลับมาประชุมครม.ในช่วงค่ำวันเดียวกันทันที และในการประชุม ครม.ครั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้ง นายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือที่มักเรียกกันว่า “นายกฯ น้อย” ส่วนตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือโฆษกรัฐบาล ตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งยังไม่ได้มีการแต่งตั้ง

ย้อนไปช่วงท้ายของรัฐบาล คสช. ผู้ที่ทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลคือ “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โดยควบตำแหน่ง รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ต่อมาเมื่อ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” หนึ่งในแกนนำ กปปส.ได้เข้ามาเป็น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการเมือง ดูแลงานประชาสัมพันธ์ ตอบโต้ประเด็นการเมืองที่มากระทบรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่ง “เสธ.ไก่อู” ไปนั่งเป็นอธิดีกรมประชาสัมพันธ์ “พุทธิพงษ์” จึงเข้ามาทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลเต็มตัว และในช่วงที่มีการเลือกตั้ง บทบาทของ “พุทธิพงษ์” ที่สำนักโฆษกฯ ก็ลดลง โดยผู้ที่แถลงข่าวของรัฐบาลส่วนใหญ่จะเป็น พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค และทีมรองโฆษกฯ

เมื่อมีรัฐบาลใหม่ จึงมีการจับตากันว่าใครจะมานั่งในตำแหน่ง “โฆษกรัฐบาล” เพราะถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ เป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาล ที่สำคัญจะต้องมีความรู้ ความสามารถ มีปฏิภาณไหวพริบที่จะชี้แจงนโยบาย เนื้องานของรัฐบาล และตอบโต้กระแสข่าวที่มากระทบรัฐบาล โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เป็นยุคดิจิทัล มีกระแสข่าวมากมายในโลกโซเชียลฯ ทั้งข่าวจริง ข่าวเท็จ คนที่จะมานั่งตำแหน่งนี้จึงต้อง “ครบเครื่อง” ทันกระแสการเมือง กระแสโลก และกระแสเทคโนโลยี

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ได้เสนอชื่อ “เสี่ยต้อย” สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อดีตแกนนำ กปปส. และผู้บริหารสื่อฯ ให้เข้ารับตำแหน่งนี้ ต่อมาเสี่ยต้อยก็ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว ... ยังมีชื่อ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเจ้าตัวก็ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าวเช่นกัน

หลังจากนั้นก็มีกระแสข่าวออกมาอีกหลายรายชื่อ อาทิ “ธนกร วังบุญคงชนะ” รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นคนในสายของกลุ่มสามมิตร แต่คนส่วนใหญ่เมื่อเห็นชื่อนี้ต่างมองว่า “ไม่น่าจะใช่”

นอกจากนี้ก็มีชื่อ “การดี เลียวไพโรจน์” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอโครา ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาธุรกิจ ที่ต้องการขายไอซีโอ หนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ ซึ่งเป็นคนนอกวงการการเมือง แต่เจ้าตัวก็ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว โดยบอกว่า “กราบขอบพระคุณ ที่มีผู้ใหญ่เล็งตำแหน่งอันทรงเกียรติไว้ให้ นะคะ แต่ด้วยความสัตย์จริง ไม่เคยมีการพูดคุย หรือทาบทามแต่อย่างใดเลยค่ะ ตอนนี้มาส่งลูกเรียนที่ US เปิดไลน์มาแทบจุก ขอขอบคุณเพื่อนๆ ที่ดีใจ แต่ไม่ต้องแสดงความยินดีด้วยแล้วนะคะ”

หลังจากนั้นก็มีชื่อของ “น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์” ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ สาวสวยคนนี้จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม จุฬาฯ และปริญญาโทด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม YALE University USA เคยทำงานที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, บริหารงานภาคธุรกิจ ด้านโทรคมนาคม บริษัท ดีแทค, ทรูมูฟ และงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ก่อนมาลงสมัคร ส.ส.กทม.ที่เขต 6 ราชเทวี พญาไท และจตุจักร
น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ - นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
ล่าสุดมีชื่อของ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคนในพรรคมองว่าคนนี้มีคุณสมบัติเด่น เคยเป็นอาจารย์จากนิด้า ตำแหน่งวิชาการ คือ ศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษาจบสถิติศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) จุฬาฯ, Master of Science (คณิตศาสตร์ประยุกต์) Georgia State University สหรัฐอเมริกา, Master of Business Administration (Applied Economics) University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา และ Doctor of Philosophy (Finance) University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา ...ก่อนจะได้รับการคัดเลือกให้ลงสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ก็ทำงานให้ “รัฐบาลลุงตู่” มาก่อน ในตำแหน่ง “ผู้ช่วย รมว.คลัง” ผู้อยู่เบื้องหลัง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” ที่เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล ปัจจุบันมีคนถือบัตรนี้ ถึง 14.5 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีที่ทำเนียบรัฐบาลมองว่า ตำแหน่งโฆษกรัฐบาลที่ “ลุงตู่” มองไว้ น่าจะเป็นคนนอก หมายถึงไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะถ้าเป็น ส.ส.จะทับซ้อนกับงานสภา ไม่คล่องตัว ส่วนรองโฆษกฯ อาจจะเป็นคนในที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเสนอมาได้

ขณะที่ “ลุงตู่” ได้พูดถึงตำแหน่งนี้หลังการประชุม ครม.นัดแรกว่า “ตำแหน่งโฆษกฯ นั้นกำลังหาอยู่ จะพิจารณาทั้งคนนอกและคนในอย่างเหมาะสม ซึ่งยังมีตำแหน่งรองโฆษกฯ รวมทั้งหมด 3 คน คุณสมบัติของโฆษกรัฐบาลนั้น ต้องรอบรู้ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของประเทศ โดยเฉพาะโลกในยุคโซเชียลฯ ดิจิทัล รวมถึงรู้ในระบบราชการ ดังนั้นจึงต้องมีหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายต่างๆ ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ ขอให้ใจเย็นๆ”

เชื่อว่า “ลุงตู่” มีโฆษกฯ ในใจอยู่แล้ว แต่จะมีรายชื่อที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ รอลุ้นกันอีกไม่กี่วันรู้


กำลังโหลดความคิดเห็น