เวทีสภาที่สามถกคดีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานคร เรียกร้อง“อุตตม” แสดงหลักฐานในฐานะกรรมการบริหารเคยคัดค้านการปล่อยกู้ อ้าง แม้ไม่ถูกฟ้องแต่คำพิพากษาศาลในคดีนี้ระบุกรรมการบริหารมีส่วนช่วยเหลือจำเลย
วันนี้(13 ก.ค.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดเวทีสาธารณะสภาที่ 3 (The Third Council Speak) “คดี อุตตม สาวนายน ใครถูก ใครผิด ประชาชนพิพากษา” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า กรณีมีการตั้งข้อครหาว่านายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อธนาคารกรุงไทยให้กับบริษัทในเครือกฤษฎามหานคร คณะกรรมการญาติวีรชนฯ จึงได้จัดเวทีเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ กล่าวว่า คดีมหากาพย์กรุงไทยเกิดขึ้นมานาน ช่วงปี 37-46 บริษัทโกลเด้น กลุ่มกฤษดามหานคร เป็นลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ มีหนี้สินรวม 1.3 หมื่นล้าน ช่วงปี 46 ธนาคารกรุงไทยเข้ามาแก้ปัญหา กลุ่มกฤษดาฯ มาขอยื่นกู้เงินธนาคารกรุงไทยเพื่อใช้คืนธนาคารกรุงเทพ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทยขณะนั้น มีนายสุชาย เชาว์วิศิษฐ์ นายวิโรจน์ นวลแข นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา และนายอุตตม สาวนายน เป็นกรรมการบริหาร ผู้มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.46
บริษัทในเครือกฤษดามหานครมีการขอสินเชื่อ 3 วงเงิน 1.ใช้คืนหนี้ธนาคารกรุงเทพ วงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท 2. ซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และ 3.พัฒนาสาธารณูปโภค วงเงิน 1,400 ล้านบาท รวมวงเงิน 9,900 ล้านบาท วันที่ 17 ธ.ค.46 มีการประชุมและรับรองรายงานการประชุมวันที่ 9 ธ.ค. 18 ธ.ค. โดยที่นายอุตตม ไม่ได้เข้าร่วมประชุม
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นบริษัท โกลเด้น ได้เบิกเงินกู้วงเงินรีไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาปิ่นเกล้า มีการแยกเช็คเป็น 11 ฉบับ มีการชำระหนี้คืนธนาคารกรุงเทพ 4,400 ล้านบาทที่เหลือนำไปใช้วัตถุประสงค์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพและสร้างความเสียหายให้กับธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ ภายหลังมีการประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อติดตามการปล่อยสินเชื่อ ก็ไม่ปรากฎว่ามีการคัดค้าน หรือท้วงติงการปล่อยกู้ครั้งนี้แต่อย่างใด
“อยากเรียนถามท่านอุตตมว่าท่านแสดงอาการไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติสินเชื่อนี้เมื่อใด ในเมื่อท่านอยู่ในคณะกรรมการผู้มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อครั้งนี้” นายวันชัยกล่าว
นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่มีการประชุมเกี่ยวกับการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ตามหลักฐานรายงานการประชุม ต้องถือว่านายอุตตมไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ที่จะคัดค้านการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้และมีการรับรองรายงานการประชุมโดยถูกต้อง ซึ่งนายอุตตมต้องแสดงหลักฐานที่มีการยืนยันชัดเจนว่าได้คัดค้านหรือมีการทักท้วงการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ภายหลังนายอุตตมจะเป็นพยานให้ศาลอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ให้การว่าได้คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ แต่หลักฐานในการประชุมชัดเจนว่านายอุตตมไม่ได้คัดค้าน ถือว่าฟังได้ยากว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
“คดีนี้เป็นคดีกึ่งๆ การเมือง ที่มีความชัดเจนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีความไม่ซื่อสัตย์ อาจจะไปเกี่ยวข้องกับบิ๊กบอสหรือไม่ ประชาชนต้องเป็นผู้พิจารณาตัดสิน” นายชัยเกษมกล่าว
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องร่วมกันช่วยตรวจสอบ เพราะตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจทุกฝ่ายเข้ามาตรวจสอบด้วย ซึ่งในคดีนี้ศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2558 แม้นายอุตตมจะไม่ได้ถูกฟ้องครั้งนี้ แต่ในคำพิพากษาเขียนครอบคลุมกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยทั้ง 5 คน ว่ามีส่วนช่วยเหลือให้จำเลย คือกลุ่มกฤษดามหานครให้ได้รับสินเชื่อ จำนวน 9,900 ล้านบาท โดยไม่ได้รักษาผลประโยชน์ให้ธนาคารกรุงไทยแต่อย่างใด
“ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเห็นว่าเรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสุจริต ก็สามารถยื่นตรวจสอบกับ ป.ป.ช.ได้ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้มีความไม่ต้องถูกต้อง ก็ต้องตั้งเรื่องขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง” พ.ต.อ.ทวีกล่าว
ทั้งนี้ นายอุตตม ไม่ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้ แต่ได้มีการชี้แจงผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า “ในการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ได้ทักท้วงในการประชุมคณะกรรมการบริหารแล้วว่าไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ หลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาตรวจสอบ ไม่พบว่ากระผมมีส่วนในการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ จึงไม่กล่าวโทษ
“เมื่อคดีถูกโอนให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ชี้มูลว่าผมไม่มีความผิด ตีตกข้อกล่าวหาและไม่ได้ส่งฟ้องต่ออัยการ กระบวนการทั้งหมดจึงยืนยันว่าไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โดยผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอน”
สำหรับความคืบหน้าคดีค่าโง่ทางด่วน 1.37 แสนล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งสภาที่สามได้ติดตามตรวจสอบก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สภาฯ ได้มีการอภิปรายในญัตตินี้ พ่วงประเด็นการให้สัมปทานบีทีเอสอีก 40 ปี ได้ผลสรุปให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณาใน 2 ประเด็นดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลา 4-5 วันพิจารณาให้จบในกรณีค่าโง่ทางด่วน แต่กรณีบีทีเอสต้องใช้เวลา โดยนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 18 ก.ค.นี้