“ชวน” แนะตั้ง กมธ.วิสามัญ แยกพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภา หวั่นล่าช้า เหตุห้องประชุมทีโอทีไม่มีเครื่องลงคะแนน พร้อมชี้สถานะ “นาที” หมดความเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญแล้ว แต่อาจมีการยื่นอุทธรณ์
วันนี้ (11 ก.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากรับหลักการเมื่อวานนี้ว่า วันนี้จะมีการหารือกันว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแยกหรือตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาฯ เพื่อพิจารณา ซึ่งความเห็นส่วนตัวมองว่าข้อบังคับมีจำนวนมากถึง 192 ข้อ จึงควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณารายละเอียดรายมาตรา โดยเบื้องต้นได้พูดคุยกับประธานคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับแล้วว่า หากใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะพิจารณาเสร็จสิ้นประมาณวันที่ 20 ก.ค.นี้ แต่หากใช้คณะกรรมาธิการเต็มสภาฯ พิจารณา อย่างเร็วก็น่าจะเสร็จภายในช่วงค่ำวันนี้หากไม่มีการแปรญัตติ แต่หากพิจารณาไม่เสร็จสิ้นก็ต้องหารือกันอีกว่าจะพิจารณาต่อสัปดาห์หน้าหรือไม่ ขณะที่สมาชิกบางคนก็แสดงความกังวลเนื่องจากติดงานสำคัญทางศาสนา แต่อุปสรรคในการประชุมที่อาจทำให้กระบวนการล่าช้าเป็นเรื่องการลงคะแนน เพราะห้องประชุมชั่วคราวยังไม่มีเครื่องลงคะแนน โดยวันที่ 15 ก.ค.นี้จะไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่โดยเฉพาะห้องประชุมจันทรา หากเสร็จสิ้นเดือนหน้าก็จะได้ใช้เครื่องลงคะแนนได้ก่อน
ส่วนเรื่องการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา บอกว่า คงต้องใช้ห้องประชุมชั่วคราวที่สำนักงานใหญ่ทีโอที แจ้งวัฒนะ ปกติแล้วเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณก็จะรอการประชุมไว้ไม่เกิน 15 วัน เพื่อนัดประชุมรัฐสภารับฟังการแถลงนโยบาย
สำหรับสถานะของนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุก 1 เดือน รอลงอาญา 1 ปี กรณีแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จนั้น นายชวนกล่าวว่า สมาชิกภาพสิ้นสุดไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ไม่ให้ความเห็นหากจะมีการยื่นอุทธรณ์ภายหลัง เพราะกระบวนการกฎหมายเป็นเรื่องของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะดูแลเรื่องนี้
อนึ่ง วานนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ หลังจากสมาชิกได้อภิปรายกันสมควรแล้ว ประธานได้ขอมติจากที่ประชุม ปรากฏว่าสมาชิกลงมติรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ด้วยคะแนน เห็นด้วย 461 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง
จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเนื่องจากสภามีเวลาน้อยมาก ไม่เช่นนั้นต้องรอเดือน ส.ค.จึงจะมีข้อบังคับเกิดขึ้น แต่หากช่วยกันพิจารณาเต็มสภา ระยะเวลา 3 วันก็เชื่อว่าข้อบังคับการประชุม 192 ข้อ จะไม่มีปัญหา แต่นายชวนท้วงติงว่ามีข้อบังคับหลายข้อที่ต้องใช้เวลาอภิปรายอย่างรอบคอบ หากอภิปรายในสภาจะเสียเวลา แต่ถ้าพิจารณาในคณะกรรมาธิการข้างนอกซึ่งจะได้ใช้เวลาเต็มที่ ซึ่งตนมองเชิงประสิทธิภาพของงานที่ออกมา แต่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ ประธานวิปรัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐ แสดงว่าเห็นด้วยที่ให้มีการตั้งกรรมาธิการเต็มสภา หากข้อไหนไม่เห็นด้วยก็แขวนไว้ก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาทีหลัง
นายชวนกล่าวว่า ตนไม่ขัดข้องหากเสียงส่วนใหญ่จะให้มีกรรมาธิการเต็มสภา แต่ในฐานะที่เคยเป็นกรรมาธิการยาวนานรู้ว่าประชุมสามวาระรวดไม่ค่อยมีความพิจารณารอบคอบจริงๆ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันก็ไม่เป็นไร ตนและรองประธานจะทำหน้าที่ไล่ไปทีละมาตรา
ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นด้วยกับนายชวน เพราะจากการอภิปรายจะเห็นว่าเพื่อนสภาชิกมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้าใช้ระบบพิจารณาเต็มสภาก็มีการแสดงความเห็นซึ่งจะเหมือนการแปรญัตติที่ต้องขอมติกันในทุกมาตราที่จะใช้เวลาพอสมควร และเท่าที่สอบถามเพื่อนๆ ก็ยืนยันที่จะมีความเห็นไม่ตรงกับสิ่งที่ร่างมา แต่หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการนอกสภาแล้วพิจารณาภายใน 7 วัน แล้วนำกลับมาลงมติในวาระถัดก็จะเป็นไปได้ จากนั้นนายชวนได้สั่งพัก 20 นาที เพื่อให้มีการหารือกัน
ต่อมาเมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ตนก็อยากให้เต็มสภา แต่เมื่อฟังข้อกังวลของนายชวนก็มีความกังวลเหมือนกันในข้อปฏิบัติ เพราะมีถึง 192 ข้อ ไม่แน่ใจสมาชิกจะเห็นด้วยทั้งหมด เพราะถ้าพิจารณาไม่เสร็จต้องค้างไว้ เรื่องอื่นก็ทำไม่ได้เพราะจะทำให้ร่างข้อบังคับตกไป แต่หากแน่ใจจะพิจารณาคืนนี้แล้วเสร็จพรุ่งนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่จบข้ามไปสัปดาห์หน้าไม่แน่ใจจะมีเรื่องเร่งด่วนเข้ามาหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ รัฐบาลเสนอมาแถลงนโยบาย แม้จะบรรจุเป็นมติแต่ก็พิจารณาไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นควรจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญ โดยจะเป็นกรรมาธิการชุดเดิมก็ได้ เพราะมาจากสัดส่วนแต่ละพรรคอยู่แล้ว และแปรญัตติ 7 วัน ถ้าใครมีปัญหาถกเถียงในนั้นจะเร็วกว่า
ขณะที่นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุนข้อเสนอของนายชวน พร้อมกับเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาไปตามปกติ
อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่านก็ยังยืนยันญัตติของตน เพราะการแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่ใช่ปัญหาเพราะเป็นการแถลงต่อรัฐสภา เข้าใจว่ามีความอาวุโส แต่ไม่ควรให้เด็กต้องมาทำตามทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นด้วยตรงกัน แต่ประธานกลับคัดค้าน ไม่ทราบว่ารออะไร วันนี้เรามีสภาแล้วจำเป็นต้องรีบตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆเพื่อทำงาน ดังนั้นข้อบังคับสภาต้องให้เสร็จเร็วที่สุด
นายชวนกล่าวว่า ประเด็นที่พูดไม่เกี่ยวเลย ทุกวันนี้เราก็ทำงานได้ เพียงแต่ยังไม่ได้เป็นกรรมาธิการเพราะยังไม่มีข้อบังคับ ทุกวันนี้เราใช้ข้อบังคับเก่า แต่พูดไปเดี๋ยวจะหาว่าขัดขวางผลประโยชน์ แต่เราทำอะไรต้องคิดถึงความรอบคอบ เข้าใจดีว่าหลายคนผ่านประสบการณ์เก่งมาแล้ว แต่อยากให้ใช้เวลาไตร่ตรอง ข้อเสนอวันนี้มีโอกาสมาใส่ในแปรญัตติได้ ตนไม่มีเจตนาให้ข้อบังคับมันช้า แค่อยากให้ออกมามีคุณภาพ
“สิ่งที่ผมพูดไม่ใช่เรื่องอาวุโส ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่มีความปรารถนาดีเราควรจะบอกกล่าวกัน กฎหมาย 192 ข้อโดยทั่วไปต้องผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ พยายามทำให้สภานี้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะทำให้สภาเป็นที่ยอมรับ ตรงต่อเวลา ภาพไม่ดีเริ่มหายไป แต่งานในสภาเองก็ต้องไปปรับทำโครงสร้างใหม่แม้แต่การใช้งบประมาณ วันนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งแต่เป็นเรื่องวิธีการ บังเอิญรัฐบาลและฝ่ายค้านมีความเห็นตรงกัน ผมจึงบอกเหมือนคนเป็นฝ่ายค้านอยู่คนเดียว”
ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายว่า ตนทราบข่าวตอนต้นว่าวิปคุยกันน่าตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่พอถึงตอนเช้าวันนี้บอกว่าอาจให้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา แม้นายชวนไม่พูด ตนก็ตั้งใจว่าจะพูด น่าจะใช้กรรมาธิการเพื่อเกิดความรอบคอบ วิปฝ่ายค้านและรัฐบาลก็จริงใจมุ่งมั่นอยากให้เกิดเร็วที่สุด แต่เมื่อฟังข้อเสนอของนายชวน นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา นายเทอดพงษ์ ที่อาวุโสสุด ตนคิดว่าในเรื่องนี้เชื่อมั่นว่าไม่มีใครอยากเตะถ่วง ซึ่งนายชวนพูดเสนอว่าอยากให้ไม่มีเรื่องค้างในสภา อยากให้เดินเร็วที่สุด
นายชวนกล่าวว่า ตนจะขอหารือกับประธานกรรมาธิการร่างข้อบังคับฯ ว่าหากพิจารณาเต็มสภาจะใช้เวลาเท่าไหร่ เมื่อได้ข้อสรุปก็จะมาแจ้งให้ทราบ ยืนยันว่าทุกเรื่องตนไม่อยู่นิ่ง แม้แต่เรื่องจ่านิว ตนโทรศัพท์ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทุกเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพียงแต่ไม่พูดเท่านั้น หากถึงวันพฤหัสบดี ตนก็ยินดีเดินทางมา ตนไม่มีปัญหา เรื่องวันนี้ไม่ควรจะขัดแย้งกัน ทุกคนต่างก็หวังดี
หลังจากถกเถียงกันมาหลายชั่วโมง นายชวนได้แจ้งให้สมาชิกทราบว่าตนได้หารือกับประธานกรรมาธิการยกร่างฯ และจะนัดให้มีการลงมติในวันที่ 11 ก.ค. แต่ นพ.ชลน่านไม่ยินยอม และต้องการให้โหวตทันที ไม่ควรยื้อเวลาต่อไป แต่นายชวนพยายามชี้แจงเหตุผล และสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 20.53 น.