กสม.เผยแพร่คำชี้แจง โต้รายงานฯฮิวแมนไรต์วอตช์ ชี้หลายจุดไม่ถูกต้อง แจงปมจำกัดเสรีภาพก่อนเลือกตั้งไม่เป็นความจริง-ปัจจุบันมีเลือกตั้งแล้ว
วันนี้ (9 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซด์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่คำชี้แจงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อกรณีองค์กรฮิวแมน ไรต์วอตช์ (HRW) ได้เผยแพร่รายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ครั้งที่ 29 ประจำปี 2562 ระบุว่า กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่ารายงานดังกล่าวมีการระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่อาจไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม โดย รายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเป็นรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงปี 2561 บางเรื่องมีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เช่น ประเด็นเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมาน กรณีเหตุการณ์ประท้วงทางการเมืองในปี 2553, การแก้ไขกฎหมายที่ทำให้ กสม.ขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่, กรณีความรุนแรงและการปฏิบัติที่มิชอบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรณีนโยบายปราบปรามยาเสพติด โดยประเด็นเหล่านี้ กสม.เคยมีการชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเนื้อหาในรายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนฯ ส่วนอื่นที่มีบางเรื่องที่รายงานข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม คือ ประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก กรณีที่รายงานว่า รัฐบาลชะลอการยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างเข้มงวด ทั้งที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว โดยจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมีผลให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.จำนวนหลายฉบับ รวมทั้งการยกเลิกความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไปตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ทำให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ และปัจจุบันก็มีการเลือกตั้งแล้ว
หรือกรณีที่รายงานว่านักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างน้อย 130 คน ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และบางคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นจากการเรียกร้องอย่างสงบ ให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งโดยไม่ให้มีการชะลอออกไป และให้ยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยทันที จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ได้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ทำให้ศาลจำหน่ายคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนกรณีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย พบว่าในบางกรณีที่รัฐสกัดกั้นการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุมได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เช่น การจัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” เป็นผลให้กิจกรรมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ
ส่วนประเด็นผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติ ที่มีการรายงานว่ามีการจับและควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกว่า 200 คนจากเวียดนาม กัมพูชา และปากีสถานในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่มีสภาพเลวร้าย มีการแยกเด็กกว่า 50 คน ออกจากพ่อแม่นั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ในประเด็นแยกเด็กออกจากพ่อแม่นั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2562 เพื่อไม่ให้มีการคุมขังเด็กในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกำหนดแนวทางปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการไม่กักตัวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไว้ในสถานกักตัวฯ และกรณีที่รายงานว่าสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย (NFAT) ซึ่งมีอิทธิพลได้รณรงค์ต่อต้านการให้สัตยาบันและการดำเนินงานตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง โดยจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการทำงานในภาคประมงแล้ว การให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคประมงตามที่กำหนดในอนุสัญญาฯ และต่อมาได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว และสหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทย เพื่อแสดงการยอมรับต่อความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของไทย