สภาสูงจัดสัมมนา “อุดม” ชี้ รธน.ให้ ส.ว.ทำหน้าที่สภาพลเมือง คอยเสนอแนะ-ค้านฝ่ายการเมือง คาดหวังจะทำตามบทบาท ยึดประโยชน์ชาติ หากรัฐบาลไม่ปฏิรูป 16 ด้านจริงจัง ยื่นฟ้อง ป.ป.ช.ได้ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
วันนี้ (2 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่หอประชุมบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดโครงการสัมมนา ส.ว.ประจำปี 2562 โดยนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อภิปราย เรื่อง “ความสำคัญของการกลั่นกรองกฎหมายของ ส.ว.” ว่า ส.ว.ชุดนี้เกิดมาจากปัญหาการเมืองขาดการตรวจสอบ ดังนั้น วุฒิสภาต้องมีที่มาที่แตกต่าง ตนไม่ได้บอกว่าพรรคการเมืองไม่ดี แต่พรรคย่อมบริหารโดยคำนึงถึงสมาชิกของพรรคเป็นหลัก ในขณะที่ ส.ว.ออกแบบมาเพื่อให้เป็นสภาพลเมือง สภาเติมเต็ม เป็นผู้ค้านพรรคการเมือง หากเห็นว่าอะไรไม่ดีก็ต้องท้วงถาม นี่คือประสงค์ของรัฐธรรมนูญ
นายอุดมกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในหมวด 16 ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ถ้ารัฐบาลหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจริงจังถึงขึ้นให้ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ การปฏิรูปประเทศอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยกระดับให้ความสำคัญถึงขึ้นกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และยกให้เป็นหน้าที่ของ ส.ว.ในการตรวจสอบรัฐบาลว่าคืบหน้าอย่างไร พร้อมกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานให้ทราบทุก 3 เดือน
“ส.ว.ต้องทำหน้าที่ตามมาตรา 270 ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 7 ด้านการปฏิรูป ทั้งนี้ เรื่องการปฏิรูปไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่ทำมาตั้งแต่สภาปฏิรูปประเทศแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ บทเรียนของการปฏิรูปประเทศบอกเลยว่าจะรอแต่ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ดึงไปทางนั้นทีทางนี้ทีไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีเป้าหมายชัดเจน ส.ว.ต้องทำให้สิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดเกิดมรรคเกิดผล” อดีต กรธ.กล่าว
นายอุดมกล่าวอีกว่า วุฒิสภาดูเหมือนว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ขอเรียนว่าเป็นความปรารถนาของรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดความเชื่อมต่อ ดังนั้น ส.ว.จึงมีบทบาทนำสู่การเมืองที่ควรจะเป็น หากคิดว่าการกระทำใดจะทำให้เกิดปัญหาวุฒิสภาควรให้ข้อแนะนำ ตรวจสอบ และท้วงติงคนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยนำเอากฎเกณฑ์ หลักการ วางกรอบให้เขา