เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำชาวบ้าน จ.พระนครศรีอยุธยา ยื่นคำร้อง ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัย อธิบดีกรมศิลปากร เกี่ยวกับการบูรณะเพนียดคล้องช้างที่ ต.วัดพริก มีพิรุธ ไม่เป็นไปตามรูปแบบทางประวัติศาสตร์ ใช้งบประมาณในการดำเนินการส่อไปในทางทุจริต
วันนี้ (1 ก.ค.) ที่สำนักงาน ป.ป.ช. จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำประชาชนชาว จ.พระนครศรีอยุธยา ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและวินิจฉัย อธิบดีกรมศิลปากร ผู้อำนวยการ ( ผอ.) อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และอดีต ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 ฐานทุจริตต่อหน้าที่ หลังจากมีความขัดแย้งระหว่างกรมศิลปากรกับชาว จ.พระนครศรีอยุธยา เกี่ยวกับการบูรณะเพนียดคล้องช้างที่ ต.วัดพริก อย่างมีพิรุธ ไม่เป็นไปตามรูปแบบทางประวัติศาสตร์ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมาย และใช้งบประมาณในการดำเนินการส่อไปในทางทุจริต
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การบูรณะเพนียดดังกล่าวทำให้ประชาชนใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนนำเสาตะลุงทดแทนเสาเดิมที่ผุกร่อนชำรุด แต่ไม่เป็นไปตามรูปแบบเดิมที่มีลักษณะหัวมัณท์ หรือหัวบัว แต่กลับตัดหัวเสาตามแนวรั้วปีกกาด้านนอกออกทั้งหมด ทำให้ขาดอัตลักษณ์ที่ประชาชนเคยเห็นเสาเพนียดที่มีหัวมนในอดีต กลายเป็นเสาหัวตัด
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าว อาจชี้ได้ว่าเป็นการบิดเบือนและทำลายรากฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา มีการบูรณะซ่อมแซมแล้ว 3 ครั้ง ผู้รับเหมาได้ก่อสร้างตามหลักฐานคือ เสาตะลุงที่หลงเหลืออยู่เดิมมีหัวมัณฑ์ หรือหัวบัว กรมศิลปากรจึงได้ทำการซ่อมแซมทั้งด้านนอกด้านใน และซ่อมต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ไปเชื่อเพียงภาพถ่ายเพนียดคล้องช้างชั่วคราวของชาวต่างชาติเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน โดยไม่ดูบริบททางประวัติศาสตร์และความเชื่อที่แท้จริง นอกจากนั้นยังพบว่ามีการนำไม้เสาตะลุงเดิมมาแซมกับไม้ใหม่อย่างผิดสังเกต เมื่อเทียบกับงบประมาณ 35.8 ล้านบาท
“ขณะนี้มีข้อพิรุธ 7 ประการ ประกอบด้วย 1. ใช้งบประมาณสูงเมื่อเทียบกับปี 2550 ใช้งบเพียง 16 ล้านบาท ทั้งที่เสาตะลุงบางต้นใช้เสาต้นเดิม 2. การบูรณะปี 2550 มีเสาจะลุง 980 ต้น แต่ล่าสุดเสาตะลุงเหลือเพียง 846 ต้น 3. การบูรณะหลายครั้งที่ผานมาหัวเสาตะลุงบริเณปีกกาทั้ง 2 ด้านเสาตะลุงจะมีหัวบัว แต่บูรณะครั้งนี้ได้ตัดทิ้ง ทำให้เกิดทัศนอุจาด 4.เสาตะลุงเก่าที่รื้ออกเป็นทรัพย์สินของราชการ ต้องจัดเก็บและทำบัญชีทรัพย์สินไว้ แต่มีการตัดหัวเสาปล่อยทิ้ง ไม่เป็นไปตาม พรบ.การบริหารพัสดุ 2560 5. การบูรณะประตูโตง-เตง ไม่เหมือนเดิมมีลักษณะแคบ ไม่สมส่วน ใช้งานจริงไม่ได้ 6. หมุดเหล็กเสาตะลุงแต่ละต้นมีการใช้เหล็กยึดโคนเสากันเสาล้มที่บางและสั้นมาก 7.การจัดโครงการบูรณะเพนียดคล้องช้าง สถานที่ทางประวัติศาสตร์ของชาติ ไม่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” นายศรีสุวรรณ กล่าว