xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ปลื้มอันดับการพัฒนาที่ยั่งยืนไทยพุ่ง 19 ขั้น ขึ้นยืนหนึ่งอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
นายกฯ พอใจอันดับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ ปีล่าสุดไทยเลื่อนขึ้น 19 อันดับ ขึ้นมาอยู่อันดับ 40 เป็นเบอร์ 1 อาเซียน โดยเฉพาะด้านการขจัดความยากจนได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ย้ำเป็นความสำเร็จของทุกฝ่าย

วันนี้ (1 ก.ค.) พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบและพอใจผลการจัดอันดับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ (UN SDGs) ปี 2019 ซึ่งประเทศไทยเลื่อนขึ้น 19 อันดับจากอันดับที่ 59 เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่อันดับ 40 ในปีนี้ และถือเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน จากรายงานของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network - SDSN) และมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung

“นายกฯ กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความพยายามและความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยรัฐบาลเน้นเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศที่มีความสมดุลในเรื่องคนกับสิ่งแวดล้อม คนกับคนหรือการลดความเหลื่อมล้ำ และคนกับเทคโนโลยี ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชา”

สำหรับปีนี้ประเทศไทยมีคะแนนตาม SDG Index ที่ 73.0 คะแนนเฉลี่ยภูมิภาค 65.7 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นเรื่องการขจัดความยากจน การจัดการน้ำและสุขาภิบาล โดยเฉพาะการจัดบริการน้ำดื่มและบริการสุขาภิบาล รวมทั้งการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อวัดจากประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีบัญชีกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น หรือกับผู้ให้บริการการเงินผ่านมือถือ และมีอัตราการว่างงานที่ต่ำ

ส่วนในด้านอื่น ๆ ไทยมีแนวโน้มดีขึ้นถึง 6 ข้อ คือ 1) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 2) ความเท่าเทียมทางเพศ 3) พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ 4) อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 5) เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน 6) สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก

รองโฆษกฯ กล่าวว่า ในรายงานระบุว่า การขจัดความยากจนยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญของโลก แต่ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้นจึงสะท้อนว่า เรามีความพยายามและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยรัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริมความเท่าเทียมด้านรายได้และการลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสและเข้าถึงบริการสาธารณะ

ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียนได้รับการจัดอันดับดังนี้ เวียดนาม อันดับ 54 สิงคโปร์ อันดับ 66 มาเลเซีย อันดับ 68 ฟิลิปปินส์ อันดับ 97 อินโดนีเซีย อันดับ 102 พม่า อันดับ 110 สปป.ลาว อันดับ 111 กัมพูชา อันดับ 112 ส่วนบรูไน ไม่ได้รับการจัดอันดับ




กำลังโหลดความคิดเห็น