ทนายดัง “อนันต์ชัย” นำชาวสระบุรีร้องศาลปกครองกลาง จี้เพิกถอนเหมืองหินผลิตปูนซีเมนต์ บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชี้รุกป่าสงวน-พื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ-ทำ EIA มิชอบ กระทบโบราณสถานภาพสลักนูนต่ำยุคทวาราวดีอายุ 1,200 ปี ทำลายสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย
วันนี้ (20 มิ.ย.)นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวัดถ้ำพระโพธิ์สัตว์ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เข้ายื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 29 แห่ง และเอกชน 2 รายคือบริษัท TPI โพลีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ บี อี เอ็น เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นท์ จำกัด ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนสัมปทานเหมืองแร่ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน ไม่ให้มีการดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ และในรัศมี 2,000 เมตร รอบวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ โบราณสถาน เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) และเพิกถอนคำอนุญาตของกรมป่าไม้ ที่อนุญาตให้บริษัท ทีพีไอ เข้าใช้ป่าสงวน
นายอนันต์ชัยกล่าวว่า ตนเป็นลูกศิษย์วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ทางวัดต่อสู้กับเรื่องนี้มาเกือบ 30 ปี เพราะพื้นที่โดยรอบวัดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ มีโบราณสถานเก่าแก่ เช่นภาพแกะสลักนูนต่ำสมัยทาราวดีอายุ 1,200 ปี เป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสต้น จนกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ต่อมาทางบริษัท ทีพีไอ มีการขอสัมปทานทำเหมืองหินปูนอ้างว่าได้รับสัมปทานมาอย่างถูกต้อง ทั้งที่บริเวณโดยรอบ กรมทรัพยากรธรณีเคยมีหนังสือแจ้งเจ้าอาวาสวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ในปี 2536 ว่าในรัศมี 2,000 เมตรรอบวัด กรมทรัพยากรธรณีจะไม่มีการออกสัมปทานบัตรให้กับเอกชนรายใด ทำให้ตนต้องฟ้องต่อศาลปกครองไปแล้วเมื่อปี 2560 ซึ่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองไม่ให้เปิดหน้าเหมืองเพิ่ม แต่กลับพบว่าทาง บริษัทมีการลักลอบเปิดหน้าเหมือง อีกทั้งสัมปทานเดิมจะหมดปี 2564 ทางบริษัท ทีพีไอ จึงมีการขอสัมปทานเพิ่มอีก 30 ปี และขยายพื้นที่ออกไปอีก 4 แปลง ซึ่งเข้าไปในพื้นที่ ที่จัดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 1เอ กำหนดเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จึงได้มีการไปร้องเรียนกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็อ้างว่า ครม.มีมติยกเว้นพื้นที่ 1เอ ให้ทำเหมืองได้ ก็ต่อสู้มา และเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ได้ไปติดตามที่ สำนักนโยบายและแผน กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็อ้างว่ายังไม่ได้มีการอนุมัติ และจะนำข้อห่วงของทางวัดไปพิจารณา แต่ก็ถูกหลอกโดยวันที่ 17 พ.ค. 62 อุตสาหกรรมจังหวัด ได้จัดทำประชาพิจารณ์ตนกับชาวบ้านก็ไปร่วม แล้วได้รับเอกสารฉบับหนึ่ง มีเนื้อหาระบุว่า 22 ม.ค 62 หลังวันที่ตนไปที่สำนักนโยบายและแผนฯไม่กี่วัน คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพ้นที่แล้ว ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงชาวบ้านยังไม่รู้เรื่องกับโครงการดังกล่าวเลย จึงถือว่าอีไอเอดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทราบมาว่าในวันที่ 24 มิถุนายน จะมีการนำมตินี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากเห็นชอบก็จะเสนอ ครม.พิจารณา ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ ทีพีไอก็จะทำเหมืองปูนได้ตลอด 30 ปี ในพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ
“ผมอยากให้ชาวสระบุรีลุกขึ้นมาปกป้องผืนป่า ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ โบราณสถานที่เป็นสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย เพราะถ้าไม่ต่อสู้ ต่อไปก็จะไม่มีพื้นที่สีเขียว ไม่มีฟาร์มโคนม ไม่มีแหล่งต้นน้ำลำธาร ถ้าเราไม่ช่วยกันต่อสู้ ทุกอย่างก็หมดจริงๆ” นายอนันต์ชัยกล่าว และว่ายังได้ขอให้ศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้มีการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมในวันที่ 24 มิ.ย.เนื่องจากเป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหากที่สุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและ ครม.มีมติเห็นชอบ ก็จะฟ้องคดีอาญา มาตรา 157 กรณีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ