ข่าวปนคน คนปนข่าว
** ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เผยโปรไฟล์ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ลูกชาย “ดร.ซุป-ศุภชัย” - เจ้าของร้านเป็ดย่างดัง “โฟร์ซีซั่นส์” ในไทย เปิดตัวเป็นหัวหน้าทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจคนใหม่ ปชป.
พรรคประชาธิปัตย์เปิดตัวทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจทันสมัย (New Economy) ซึ่งปรากฏว่าหัวหน้าทีม คือ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรค หลายคนสงสัยว่า หนุ่มวัยย่าง 42 ปี ผู้นี้เป็นใคร มีดีอย่างไรถึงได้ผงาดเหนือ “กรณ์ จาติกวนิช” ที่คุมเศรษฐกิจของพรรคมาก่อนในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค
“ปริญญ์ พานิชภักดิ์” เป็นลูกชายคนโตของ “ดร.ซุป” ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจหลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการ ตลอดจนอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)
“ปริญญ์” ถือเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ... หลังจากจบโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ สกูล ในเมืองเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ ก็เรียนต่อปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ลอนดอน สกูล ออฟ อีโคโนมิกส์ (แอลเอสอี) หลังเรียนจบก็เริ่มงานแรกที่ลอนดอน เป็นนักวิเคราะห์ที่ธนาคารเมอร์ริล ลินช์ จากนั้นย้ายไปเป็นวาณิชธนากร ที่ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ก่อนกลับเมืองไทยมาทำงานเป็นรองประธานที่ดอยช์แบงก์
จากนั้นย้ายไปเป็นหัวหน้าฝ่ายตลาดเครดิต ลียองเนส์ ประเทศไทย ก่อนที่จะโยกไปเป็นผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการลงทุนภูมิภาคเอเชีย บริษัท เครดิต ลียองเนส์ (ฮ่องกง) และในช่วงเวลานี้เองที่เขาเริ่มนำร้านเป็ดย่างชื่อดังในกรุงลอนดอน “โฟร์ซีซั่นส์” มาเปิดสาขาในไทย
“เป็ดย่างโฟร์ซีซั่นส์” ถือเป็นธุรกิจส่วนตัว ในฐานะหุ้นส่วนร้านของปริญญ์ เริ่มต้นมาจากที่ปริญญ์ได้รู้จักและสนิทสนมกับ “ปีเตอร์ ลัม” ลูกชาย “เดวิด ลัม” เจ้าของร้านเป็ดย่างโฟร์ซีซั่นส์ ต้นตำรับลอนดอน
ตำนานของร้านเป็ดย่างชื่อดังในไทยจึงมาจากปริญญ์นี่เอง
ในขณะงานอาชีพก็ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จากเครดิต ลียองเนส์ ฮ่องกง “ปริญญ์” ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการลงทุนภูมิภาคเอเชียและญี่ปุ่น บล.ซี แอล เอส เอ (ฮ่องกง) และกลับมาเมืองไทย เป็นกรรมการผู้จัดการ บล.ซี แอลเอส เอ (ประเทศไทย) ในวัยย่าง 35 ปี เป็นมืออาชีพที่ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรสูงสุด ด้วยอายุน้อยที่สุดในเวลานั้น
ช่วงที่ปริญญ์เข้ามาบริหาร ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) มีดีลที่รู้จักโด่งดังในวงการตลาดทุนมากที่สุด เช่น ปี 2556 เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) เข้าซื้อหุ้นบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (F&N) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และเครื่องดื่มของสิงคโปร์ ที่ก่อตั้งมานาน 130 ปี และนับเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนั้น ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้ “นพ.สมยศ อนันตประยูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ขายหุ้นล็อตใหญ่ 5.5% ให้กลุ่มแคปปิตอล วัน กองทุนยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
จากชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนโตมารับหัวหน้าทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจ ปชป.ถอดด้ามบอกว่ามีพ่อเป็นไอดอล สอนให้มีสติ อยู่กับปัจจุบัน ... ที่ผ่านมาหลายครั้งเมื่อถูกถามว่าใฝ่ฝันที่จะเจริญรอยตามเส้นทางการเมืองเหมือนพ่อหรือไม่ ก่อนนี้เขาไม่เคยคิด... กระทั่งวันนี้ตัดสินใจด้วยตัวเองเข้าวงการการเมืองในสังกัดพรรคที่พ่อเคยสังกัดมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองขึ้นมาทันที
“ทีมอเวนเจอร์” ชุดนี้แต่ละคนล้วนมีดีกรีไม่ธรรมดา เช่น นายอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ เคยเป็นเบอร์ 1 ของเชลล์ ประเทศไทย ประสบการณ์ล้นเหลือในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และ Green Energy
“อักษรศรี พานิชสาส์น” อดีตข้าราชการ สังกัดกองการค้าพหุภาคี (WTO) อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านประเทศจีนเป็นพิเศษ ...“สัญชัย พอพลี” ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการเงินยุคใหม่ บล็อกเชน ...“ปิยะดา ปุณณกิตติเกษม” ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และโซเชียลมีเดีย กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด โซเชียลมีเดีย และการท่องเที่ยว เป็นต้น
เหล่านี้เรียกว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่ธรรมดา
ภารกิจในตำแหน่งหัวหน้าทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจ ปชป.ของ “ปริญญ์” ไม่คิดจะเทียบ ดร.ซุป ผู้พ่อก็คงไม่ได้แล้ว เนื่องเพราะทางที่กำลังเดินเท่ากับเดินตามรอยเท้าพ่อ ดร.ซุป เต็มๆ
** ประเด็นร้อน 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นสื่อฯ ที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ และกำลังจะมีอีก 20 ส.ส.ฝ่ายค้านตามมา ถึงที่สุดแล้วจะออกหัว ออกก้อย จะมีการสั่งให้ ส.ส.เหล่านี้ หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตา
กรณี “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นคำร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณี 41 ส.ส.ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่ถือหุ้นสื่อฯ เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามต่อการเป็น ส.ส.หรือไม่ ซึ่งนายชวนได้ส่งคำร้องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้วนั้น ...ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็เตรียมยื่นคำร้องเรื่องการถือครองหุ้นของ ส.ส.ฝ่ายค้าน 7 พรรคการเมืองประมาณ 20 คน ต่อนายชวน เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วยเช่นกัน ...เป็นอันว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบพบว่า ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล มีการถือหุ้นสื่ออยู่ไม่ต่ำกว่า 60 คน
การยื่นคำร้องดังกล่าวผ่านนายชวน ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่า เป็นการมาตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยแน่นอน... แต่เมื่อรับเรื่องไว้พิจารณาแล้วจะมีคำสั่งให้ ส.ส.เหล่านี้ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างจากกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลฯ ได้สั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราว จนกว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จ เนื่องจากเห็นว่า หากปล่อยให้ “ธนาธร” ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป อาจเกิดความเสียหายได้ เนื่องจากขณะนั้นกำลังจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลือกนายกรัฐมนตรี
กรณีของ “ธนาธร” ที่ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดียนั้น ชัดเจนว่าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อทำธุรกิจสื่อโดยตรง มีรายได้จากการนี้ชัดเจน แต่ปมปัญหาอยู่ที่ว่า เขาได้โอนหุ้นออกไปก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือโอนหุ้นหลังจากที่สมัคร ส.ส.ไปแล้วกันแน่ ...ซึ่งตามสำนวนที่ กกต.ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบการวินิจฉัยนั้น ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้หาก บริษัท วี ลัค มีเดีย มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจะมีการแจ้งต่อกรมธุรกิจการค้าอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วัน แต่ครั้งนี้กลับล่าช้าอย่างผิดสังเกต
ส่วนกรณี ส.ส.ที่ถูกร้องว่าถือหุ้นสื่อฯ อีกประมาณ 60 คนนี้ เมื่อศาลฯรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว จะต้องมีขั้นตอนให้ผู้ถูกร้องได้ชี้แจง แสดงหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหา หรือศาลฯ อาจขอข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้า มาประกอบการพิจารณา ว่าบริษัทที่ ส.ส.ถือหุ้นอยู่ หรือเป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นนั้น ได้ทำธุรกิจสื่อฯ จริงหรือไม่ หรือเป็นการจดไปตามแบบฟอร์มหนังสือบริคณห์สนธิที่มีธุรกิจสื่อฯ รวมอยู่ด้วย หรือเป็นการจดวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจสื่อฯเพิ่มเติมเข้าไปจากแบบฟอร์มเดิม และบริษัทดังกล่าว ยังดำเนินกิจการอยู่ หรือเลิกกิจการไปแล้ว ถ้าเลิกกิจการได้แจ้งกรมธุรกิจการค้าแล้วหรือยัง ... เหล่านี้คือสิ่งที่ศาลฯ จะนำมาประกอบการพิจารณา วินิจฉัย ส่วนจะมีมติออกมาอย่างไรนั้น ล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น
มีการมองกันว่า หากบริษัทดังกล่าวแม้จะมีระบุในวัตถุประสงค์ว่าทำธุรกิจสื่อรวมอยู่ด้วยตามแบบฟอร์ม แต่ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อฯ เลย อาจจะไม่ผิดก็ได้... ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่เห็นว่า การที่ ส.ส.ถือหุ้นสื่อฯ ทั้งที่บริษัทนั้นไม่เคยดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อฯ เลย เพียงแต่มีปรากฏอยู่ในแบบฟอร์มเท่านั้นก็ถือว่าขาดคุณสมบัติแล้ว โดยยกกรณีของ “ภูเบศร์ เห็นหลอด” ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 สกลนคร ของพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ระบุว่า เป็นผู้ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร ส.ส.มาเทียบเคียง...ซึ่ง หจก.มาร์ส์ เอนจิเนียริ่ง แอนด์เซอร์วิส ที่ “ภูเบศร์ เห็นหลอด” เป็นเจ้าของนั้น มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ จัดทำสื่อโฆษณา สปอตโฆษณา สำเร็จรูป โดยแนบคำขอจดทะเบียนเพิ่มเติมเข้าไป แต่ไม่เคยได้ดำเนินธุรกิจดังกล่าวเลย และได้จดทะเบียนเลิกกิจการแล้ว เมื่อ 6 มี.ค. 62 แต่เป็นการเลิกกิจการหลังจากที่เขาได้ลงสมัคร ส.ส.เขตไปแล้ว จึงถูกศาลฯ สั่งให้เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัคร ส.ส. ... ดังนั้น ชะตากรรมของ 60 ส.ส.ที่ว่านี้ คงต้องรอคำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ เท่านั้น
ส่วนประเด็นที่ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว จะมีคำสั่งให้ ส.ส.เหล่านี้ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำตัดสินออกมาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลฯ เช่นกันว่า หากสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว จะเกิดผลกระทบ เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จนยากแก่การเยียวยาหรือไม่... แน่นอนว่า ถ้า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 41 คน ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะเกิดปัญหาในการพิจารณากฎหมายในสภาฯ ถึงขั้นทำให้รัฐบาลพังได้ทันที ... เพราะขณะนี้ เสียง ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลก็เกินกึ่งหนึ่งมาไม่กี่เสียง ... แต่ถ้าไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ก็จะเข้าทางของพรรคอนาคตใหม่ ที่จะนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของ “ธนาธร” และจะมีเสียงโจมตีออกมาว่า “ศาลรัฐธรรมนูญสองมาตรฐาน” ...เรื่อง ส.ส.ถือหุ้นสื่อฯ จึงเป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตา