คืบหน้าปรับโครงสร้าง กอ.รมน. พ่วงแบ่งส่วนงาน-อัตรากำลัง ตามบัญชา "บิ๊กตู่" เผย มติครม. สั่ง กอ.รมน.พิจารณาใหม่อย่างรอบครอบ หลังขอจัดตั้งแบ่ง 6 ส่วนงานภายใน จาก 12 หน่วย เป็น 18 หน่วย เผย ก.พ./ก.พ.ร./คปร. เห็นพ้อง อาจกระทบจัดงบประมาณเพิ่มสูงขึ้น ส่วนประด็น"กรอบอัตรากำลัง" ทั้งประจำ/ช่วยราชการ ให้บริหารจัดการภายใต้กรอบอัตรากำลังเดิมเป็นลำดับแรกก่อน ปรับวิธีทำงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานก่นจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เสนอทบทวนกรอบอัตรากำลังช่วยราชการเป็นรายปี ให้สอดคล้องแผนฯประจำปี
วันนี้ (16 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือ มติครม. 11 มิ.ย. เรื่องการปรับปรุงแก้ไขการจัดโครงสร้าง การแบ่งส่วนงาน อำนาจหน้าที่ของส่วนงาน และอัตรากำลังของกองอำนวยการการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) เป็นการปรบปรุงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 174/2552 ตามความเห็นของคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขการจัดโครงสร้างฯ กอ.รมน.
โดยเสนอให้เปลี่ยนโครงสร้าง กอ.รมน.จากเดิม 12 หน่วยงาน เป็น 18 หน่วยงาน โดยนำหน่วยที่จัดตั้งขึ้นตามแผนรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรประจำปีเข้ามาบรรจุไว้ในคำสั่งนี้ด้วย เพื่อให้มีความชัดเจนในการปฏิบัติงานตามแผนแม่บทฯ ซึ่งได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของ กอ.รมน.ไว้ชัดเจนแล้ว
ทั้งนี้ยังขออนุมัติอัตรากำลังโดยขอปรับกรอบอัตรกำลังช่วยราชการ จากเดิม 1,578 อัตราเป็น 1,452 อัตรา ลดลง 126 อัตรา และปรับอัตรากรอบกำลังประจำเดิม 171 อัตรา เป็น 200 อัตรา เพื่อนำไปเพิ่มตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย" ประเภทอำนวยการ ระดับสูง 1 อัตราและตำแหน่ง "ผู้อำนวยการส่วน" (เทียบเท่าระดับกอง) ประเภทอำนวยการ ระดับสูง ในสำนักฝ่ายอำนวยการ (เทียบเท่าระดับกรม) จำนวน 8 อัตรา และอัตราอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ประเด็นความมั่นคง) พ.ศ. 2561-2580
ทั้งนี้ มติครม. 11 มิ.ย. ให้ กอ.รมน.ไปพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการจัดโครงสร้าง การแบ่งส่วนงานของ กอ.รมน. ในข้อเสนอจัดตั้งเป็นส่วนงานขึ้นใหม่ จำนวน 6 ส่วนงาน อย่างรอบครอบ ให้เป็นไปตามมติ ครม. 1 พ.ค.2561 เรื่องการขอตั้งหน่วยงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ตามความเห็นของสำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
โดยในส่วนของกรอบอัตรากำลังประจำ ให้บริหารจัดการภายใต้กรอบอัตรากำลังประจำที่มีอยู่เดิมเป็นลำดับแรกก่อน และปรับวิธีการทำงานให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก่อนเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ รวมทั้งต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้น
สำหรับอัตรากำลังช่วยราชการ ให้พิจารณาตามเหตุผลความจำเป็นของภารกิจตามสถานการณ์ทีเกิดขึ้นตามความเห็นของ สำนักงานคณะกกรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนของภาครัฐ คปร.) รวมถึงให้ กอ.รมน.นำความเห็นชของสำนกงบประมาณไปพิจารณา
"ก.พ. และคปร. เห็นว่าในกรอบอัตรกำลังเพื่อปฏิบัติงานใน กอ.รมน. สำหรับอัตราช่วยราชการ ควรพิจารณาเหตุผลความจำเป็นของภารกิจและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สมควรทบทวนกรอบอัตรากำลังช่วยราชการเป็นรายปี เพื่อสอดคล้องกับแผน กอ.รมน.ประจำปี สำหรับอัตรากำลังประจำ นั้น ควรให้ กอ.รมน.บริหารจัดการภายใต้กรอบอัตรากำลังที่มีอยู่เดิม เพื่อควบคุมงบประมาณบุคลากรไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นตามแนวทางปัจจุบัน"
เมื่อต้นปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.กอ.รมน. คาดหวังกับบทบาท กอ.รมน. ที่ต้องการให้ปรับบทบาท ตามสภาวะแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไป ในการจัดการกับภัยความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ยิ่งเมื่อ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 2561-2580 มีผลบังคับใช้แล้ว และ กำหนดให้ กอ.รมน. เป็นหน่วยขับเคลื่อนหลัก ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ก็ยิ่งทำให้ กอ.รมน. มีความสำคัญมากขึ้น
นอกจากนั้นยังต้องการเปลี่ยนภาพพจน์ของกอ.รมน. จากองค์กรของทหาร ให้มีทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร โดยจากที่มี ทหารมากถึง 770 คน ก็ให้ เพิ่มสัดส่วน ตำรวจและพลเรือน มากขึ้น ในอัตรา ทหาร-ตำรวจ-พลเรือน 2 ต่อ 1 ต่อ 1 เพราะเดิม มี พลเรือนและตำรวจอยู่แค่ 200 คนเท่านั้น และเมื่อรวมกับข้าราชการ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่มาช่วยราชการรวม 1,500 นาย แล้ว ก็ยังพบว่า มีสัดส่วนของทหารมากอยู่
"นายกรัฐมนตรีอยากให้กอ.รมน. เป็นภาพของพลเรือน,ตำรวจ,ทหาร ไม่ใช่มีแต่ทหารอย่างเดียว ถ้ามีแต่ทหารอย่างเดียวจะถูกมองว่า กอ.รมน. เป็นเครื่องมือของกองทัพ เพราะฉะนั้นต้องมีการปรับให้มีทั้งตำรวจและพลเรือนมากขึ้น โดยเฉพาะในศูนย์การประสานการปฏิบัติ (ศปป.) ควรจะมีทหารและพลเรือนอัตรา 2:1:1 เพื่อจะให้มองเป็นภาพของพลเรือน,ตำรวจและทหาร" รายงานข่าวระบุ.