เมืองไทย 360 องศา
"หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากนั้นผมจะคุยกับเขา(พรรคการเมือง)ได้ตามกฎหมาย วันนี้ต้องหาทางพูดคุยกันโดยคำนึงถึงความเหมาะสม หาจุดลงตัวให้ได้ นโยบายที่ทุกพรรคเสนอเข้ามานั้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งสิ้น ในฐานะรัฐบาลถือเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงต้องเป็นรัฐบาลของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งนี้การนำนโยบายต่างๆมาปรับให้สอดคล้องกับงบประมาณ ต้องดูทั้งแผนงานเดิมและแผนงานใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดคิดว่าคงเรียบร้อยโดยเร็ว"
คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อบ่ายวันที่ 11 มิถุนายน ก่อนที่จะมีการพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่นาที โดยในคำพูดดังกล่าวเขาได้ย้ำในสองสามประเด็นหลักนั่นคือ เป็น"รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง" เป็นการปิดเกมวาทกรรมแบ่งฝ่าย ประชาธิปไตย กับเผด็จการหรือ"สืบทอดอำนาจ" ของอีกฝ่ายหนึ่งที่พยายามสร้างกระแสแบ่งข้างมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง
ประเด็นต่อมา"ต้องมีการหลอมรวมนโยบาย"จากแต่ละพรรคร่วมเพื่อเป็น"นโยบายรัฐบาล" โดยให้สอดคล้องกับงบประมาณซึ่งต้องพิจารณาทั้งแผนงานเดิมและแผนงานใหม่ นั่นก็แสดงให้เห็นว่ามีทั้ง"สานงานต่อและก่องานใหม่" ความหมายก็คือแม้ว่าจะมีการหลอมหลายนโยบายจากหลายพรรคการเมือง แต่หลายนโยบาย หลายโครงการสำคัญของรัฐบาลเดิมจะต้องสานต่อหรือเดินหน้าต่อไป
แม้ว่านาทีนี้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าแต่ละพรรคจะได้บริหารกระทรวงใดบ้าง หรือได้โควตากี่กระทรวง แต่นับจากนี้จะได้เห็นการเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ชัดเจนขึ้น เพราะเวลานี้ถือว่าเขามีอำนาจเต็มแล้ว และที่สำคัญสามารถเคลื่อนไหวได้โดยเปิดเผยแล้ว ดังนั้นคำพูดที่ระบุว่า"จะจบโดยเร็ว" ก็น่าจะเป็นไปตามนั้น เพราะในฐานะนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจของหัวหน้ารัฐบาลในการได้มากขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ข้างต้นก็พอมองออกว่าจะหลอมรวมเป็นนโยบายรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีสามารถกำกับดูแลสั่งการได้ทุกกระทรวงและรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐบาล เชื่อว่าคงจะไม่ปล่อยให้แต่ละพรรคไปแยกบริหารตามโควตากระทรวงเหมือนกับลักษณะ"แบ่งสัมปทาน"กันไปอย่างแน่นอน
เพราะหากปล่อยให้แยกบริหารตามโควตากระทรวง ตามที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับไปย่อมต้องมีปัญหาเกิดขึ้นแน่ โดยเฉพาะกระทรวงที่มักมีเรื่องของผลประโยชน์จำนวนมาก
ดังนั้นแม้ว่าในเวลานี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่าการเจรจาต่อรองการบริหารกระทรวงใดบ้าง พรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลจะสามารถดึงกลับมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พาณิชย์ รวมทั้งคมนาคม เป็นต้น แต่รับรองว่าไม่ว่าพรรคไหนจะได้บริหาร เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องใช้อำนาจนายกฯเข้าไปล้วงลูกสั่งการอย่างแน่นอน ในลักษณะที่จะทำให้เป็นผลงานของรัฐบาลไม่ใช่ผลงานของพรรคการเมือง
แน่นอนว่าการเลือกใช้วิธีบริหารจัดการแบบนี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงบทบาท"ผู้นำ"อย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลให้เดินหน้าไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเหมือนกับว่าถูกล้วงลูก โดยเฉพาะในบางโครงการที่อาจมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ดังนั้นหากพิจารณาจากท่าทีข้างต้นของ "ลุงตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นับจากนี้ไปจะใช้บทบาทของนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มตัวลงไปประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลโดยตรง และแม้ว่าดีลแบ่งกระทรวงอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงได้มากนัก แต่รับรองว่าจะต้องใช้อำนาจในฐานผู้นำรัฐบาลเข้าไปล้วงลูกสั่งการทุกกระทรวง คงไม่ปล่อยให้"สร้างอาณาจักร"แบ่งสัมปทานกันไปอย่างแน่นอน !!