xs
xsm
sm
md
lg

ยกรายงาน “กฤษฎีกา” เคสหน่วยงานรัฐ โบ้ยจับสุนัขจรจัดในที่เอกชน สั่งแก้ปมหน้าที่/อำนาจเฉพาะ ระหว่างราชการภูมิภาค-ท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ครม.ยกรายงาน “กฤษฎีกา” เคสหน่วยงานโบ้ยจัดการสุนัขจรจัดในที่ดินเอกชน สั่ง มท.-กษ.-สธ.แก้ปมหน้าที่/อำนาจเฉพาะ ระหว่างราชการส่วนภูมิภาค-ท้องถิ่น หลังกฤษฎีกาชี้ช่อง “กรมปศุสัตว์ในภูมิภาค” มีอำนาจเต็ม แต่หากยื้อเวลาทำประชาชนเดือดร้อน ถือเป็นปัญหาความสัมพันธ์ในการกระจายอำนาจทางราชการ ระหว่างส่วนภูมิภาคกับ อปท. แม้ว่าจะมีการกระจายหน้าที่และอำนาจให้ อปท.ไปแล้ว

วันนี้ (11 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รายงานผลการพิจารณา เรื่องเสร็จที่ 421/2562 เรื่องหน้าที่และอำนาจในการจัดการปัญหาสุนัขจรจัดของกรมปศุสัตว์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีเทศบาลตำบลเขาน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดย ครม.มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ไปพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจระหว่างราชการส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ในกรณีข้อร้องเรียน สุนัขไม่ปรากฏเจ้าของในที่ดินของเอกชน แต่ อปท.ไม่สามารถใช้อำนาจ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจจับสัตว์ควบคุมในที่สาธารณะเพื่อกักขัง ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวจะต้องหมายถึงเฉพาะ “สัตวแพทย์” เท่านั้น

โดยผลการพิจารณาสรุปได้ว่า การที่ราชการส่วนภูมิภาคไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด และปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยจนเป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นตัวอย่างของปัญหาการจัดความสัมพันธ์ในการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจระหว่างราชการส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งโดยหลักการแล้ว แม้ว่าจะมีการกระจายหน้าที่และอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว แต่หากกฎหมายเฉพาะยังกำหนดให้ราชการส่วนภูมิภาคมีหน้าที่และอำนาจใด ๆ ราชการส่วนภูมิภาคก็ยังคงต้องปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนดเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

ทั้งนี้ ตามเรื่องเสร็จที่ 421/2562 ระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือ เห็นว่าจากข้อเท็จจริงที่กรมปศุสัตว์ขอหารือมานั้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การจัดการปัญหาสุนัขจรจัดที่เกิดขี้นในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลเขาน้อย ทั้งในกรณีที่สุนัขจรจัดอาศัยอยู่ในที่หรือทางสาธารณะและกรณีที่อาศัยอยู่ในที่ดินของเอกชน จะอยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรมปศุสัตว์หรือเทศบาลตำบลเขาน้อย หรือเป็นหน้าที่และอำนาจ ของทั้งสองหน่วยงาน

ทั้งนี้ เห็นว่าในการพิจารณาปัญหา ในทางกฎหมายนั้น จำเป็นต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับไปพร้อมกัน ซึ่งกรณีข้อหารือนี้ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องสี่ฉบับ คือ พระราขบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

สำหรับการจัดการปัญหาสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่ในที่หรือทางสาธารณะนั้น โดยที่ มาตรา 40 (3) (4) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลฯ กำหนดให้เทศบาลตำบลมีหน้าที่ และอำนาจในการป้องกันและระงับโรคติดต่อ รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ และมาตรา 29 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ กำหนดให้อปท. มีอำนาจออกข้อบัญญัติเพื่อกำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์

และในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพบสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะโดยไม่ปรากฏเจ้าของ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจกักสัตว์ดังกล่าวได้ ซึ่งปรากฏว่าเทศบาลตำบลเขาน้อยได้ออกเทศบัญญัติ เรื่องการควบคุม การเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2561 เพื่อใช้บังคับแล้ว เทศบาลตำบลเขาน้อย จึงมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการกับสุนัขจรจัดในที่หรือทางสาธารณะได้แต่การที่เทศบาลตำบลเขาน้อย มีหน้าที่และอำนาจดังกล่าวไม่ได้เป็นการตัดหน้าที่หรืออำนาจของหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่หรืออำนาจในการดำเนินการกับสุนัขจรจัดเหล่านั้นได้

ในกรณีที่เป็นปัญหานี้ปรากฏว่า มาตรา 9 และมาตรา 15 ประกอบกับบทนิยามคำว่า "สัตว์ควบคุม” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งพบสุนัขในที่สาธารณะมีอำนาจจับสุนัขที่ไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ควบคุมเพื่อกักขัง และดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด และทำลายสุนัขที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า

และปัจจุบันได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราขบัญญัตินี้ ประกอบกับข้อ 24 (1) แห่งกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2557 กำหนดให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคพิษสุนัขบ้า

ดังนั้น ทั้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเทศบาลตำบลเขาน้อย จึงมีหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ในการจัดการปัญหาสุนัขจรจัดที่อยู่อาศัยในที่หรือทางสาธารณะได้

สำหรับการจัดการปัญหาสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่ในที่ดินของเอกชนนั้น เห็นว่า โดยที่มาตรา 108 และมาตรา 149 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ กำหนดให้สัตวแพทย์มีอำนาจเข้าไปในบ้าน โรงเรือน หรือสถานที่ อันเป็นที่ดินของเอกชน เพื่อดำเนินการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดกับสุนัขจรจัดได้

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า หรือได้รับแจ้ง หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า สุนัขนั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนขบ้าฯ กำหนดนิยามคำว่า “สัตวแพทย์” ให้หมายความว่า สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น

ดังนั้น สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์และของ อปท.ต่างมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการตามมาตรา 10 และมาตรา 14 ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีบุคลากรในตำแหน่งสัตวแพทย์ก็สามารถเข้าไปดำเนินการ กับสุนัขจรจัดในที่ดินของเอกชนได้เอง แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่าเทศบาลตำบลเขาน้อย ไม่มีบุคลากรในตำแหน่งสัตวแพทย์ จึงไม่มีอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวในการเข้าไปในที่ดินของเอกชนเพื่อจัดการปัญหา หน้าที่นั้นจึงเป็นภาระของสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ที่จะต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของตนต่อไป เมื่อเทศบาลตำบลเขาน้อย แจ้งไปยังส่านักงานปศุสัตว์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขอให้จัดส่งสัตวแพทย์ไปร่วมกับเทศบาลตำบลเขาน้อย เพื่อเข้าไปจัดการปัญหาสุนัขจรจัดในที่ดินเอกชน จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่จะต้องร่วมมือกับเทศบาลตำบลเขาน้อยเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรให้ลุล่วงไปโดยเร็ว



กำลังโหลดความคิดเห็น