พท.-อนค.จับมืออัดคุณสมบัติ “บิ๊กตู่” หาความรับผิดชอบ “ชวน” หากทูลเกล้าฯ ถวายผิดคน “ปิยบุตร” วอนหยุดสืบทอดอำนาจ หวั่นซ้ำรอยปี 35 ฝ่ายหนุนโต้เหมาะสม ไม่สง่างามแต่ชาติเดินได้ “เสรี” ปะทะคารม “คารม” ปมเผาบ้านเผาเมือง แถมข้องใจข้อบังคับ อนค.
วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ประชุมรัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ได้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมต่อจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยสมาชิกส่วนใหญ่จากพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ต่างอภิปรายประเด็นขัดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ใน 5 ประเด็น คือ 1. ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 2. ขัดจริยธรรมเพราะคนที่จะเป็นนายกฯจะต้องไม่มีพฤติกรรมอื่นที่ฝ่าฝืน หรือขัดจริยธรรมร้ายแรง แต่ 5 ปีที่ผ่านมาปรากฏให้เห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร เพราะพยายามที่จะสืบทอดอำนาจแล้วให้ตัวเองได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง โดยการออกแบบรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว 3. เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ไปกระทบกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 4. วิธีคิด การบริหารราชการโดยใช้ราชการเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีผลทำให้กระทบต่อบ้านเมือง หากมองไปข้างหน้าจะเข้าสู่ภาระรัฐล้มเหลว หากไม่เปลี่ยนแนวคิดถือว่าเป็นอันตรายมาก และ 5. การขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น เรื่องการตั้ง ส.ว.เข้ามาเพื่อทำให้ตนเองกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง ดังนั้นตนไม่สามารถที่จะรับ พล.อ.ประยุทธ์ได้ หากประธานรัฐสภานำชื่อขึ้นทูลเกล้าจะรับผิดชอบอย่างไร
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม เพื่อไทย อภิปรายว่า นายชวนก็เป็นนักกฎหมายน่าจะเข้าใจปมปัญหานี้ ก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์เคยชี้ว่าสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลย คือ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ มารายงานตัวฐานขัดคำสั่ง คสช. และศาลฏีกาก็ยืนตามศาลอุทธรณ์ ซึ่งหมายความว่าคนที่ออกคำสั่ง คสช.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นหลักฐานชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ขัดหรือมีคุณสมบัติที่ไม่สามารถเป็นนายกฯได้ อีกทั้งพรรคได้ตรวจสอบพบว่าหัวหน้า คสช.ได้รับเงินเดือนค่าตอบแทน ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำก็เข้าข่ายเช่นกัน และการออกคำสั่งพักงานนายก อบจ.เพราะทุจริตในหน้าที่ แต่พอใกล้เลือกตั้งก็ยกเลิกคำสั่งและให้เปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม ถือว่าหัวหน้าคสช.ปฏิบัติเป็นกฎหมาย อยู่ในบังคับบัญชา กำกับงานของรัฐ
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวอภิปรายโดยชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจเข้าข่ายขัดคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง โดยเฉพาะข้อ 5 ที่ระบุว่าต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีพฤติกรรมฉีกรัฐธรรมนูญก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจ และมีอำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่มีผลต่อการบริหารราชการแผ่นดินและออกกฎหมายได้ พร้อมเตือนให้ ส.ส.รับผิดชอบต่อประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลายแบบเดือนพฤษภาคมปี 2535
“ผมประทับใจพรรคประชาธิปัตย์ในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รวมถึงพรรคการเมืองอื่นในขณะนี้ด้วย ดังนั้นในโอกาสนี้จึงขอเรียกร้องให้ท่านหยุดยั้งร่วมแรงยุติการสืบทอดอำนาจ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์ดังกล่าว ที่มีคนลงมาประท้วงบนถนน และจบด้วยโศกนาฏกรรม พวกเราต้องหยุดการสืบทอดอำนาจ และกลับมาบริหารในระบบปกติ มาว่ากันใหม่ เริ่มกันใหม่ ทั้งนี้ กระบวนการสืบทอดอำนาจเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 57 และวันนี้กำลังจะเข้าเส้นชัย ขอแรงสุดท้ายจริงๆ ขอให้ทุกท่านหยุดยั้งในสืบทอดอำนาจในครั้งนี้ โดยการไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีก ขณะที่ ส.ว.ได้รับแต่งตั้งจากคสช.แล้ว ก็ถือว่าเป็นอิสระ จึงเป็นโอกาสทองที่ไม่โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ได้” นายปิยบุตรกล่าว
ขณะที่สมาชิกฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เช่น นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้ทันที ไม่ต้องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการใหม่ เชื่อว่าเครื่องบินลำนี้สามารถพาคนไทย 60 กว่าล้านคนไปสู่อนาคตได้ทันที แล้วประชาธิปไตยจะตามมา เพราะหลายพรรคการเมืองต่างมีเงื่อนไขแล้วว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเรามองแล้วจึงตัดสินใจเอาประเทศชาติ ประชาชนมาอันดับหนึ่ง เอาประชาธิปไตยมาอันดับสองในการแก้ไขแล้วไปยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกกลับเข้ามาใหม่อีกครั้ง ถ้าเป็นอย่างนี้เชื่อว่าประเทศชาติเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร ดังนั้นการเลือกพล.อ.ประยุทธ์แม้จะไม่สง่างามแต่ทำให้ประเทศชาติเดินไปได้อย่างทันที
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายปิยบุตร การพิจารณาคนที่มีคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นายกรัฐมนตรี แต่การเปรียบเทียบก็ควรจะทำไปพร้อมกันทั้ง 2 ท่านที่ถูกเสนอชื่อ ส.ว.ทุกท่านที่เข้ามามีอิสระ ไม่มีสิ่งใดที่ต้องมาตอบแทนใคร เราจะพิจารณาเรื่อเหล่านี้ด้วยเหตุผลและข้อมูล สถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมามีความแตกแยกแบ่งฝักฝ่าย ประชาชนออกมาต่อสู้ มาเผาบ้านเผาเมือง ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทหารจะออกมาทำรัฐประหาร ทำให้นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นประท้วง โดยกล่าวว่าอย่ามาใช้คำพูดเผาบ้านเผาเมืองมาใช้ ท่านเสรีเป็นทนายความ สภาแห่งนี้ไม่มีใครกลัวใคร อย่ามาใช้อำนาจที่ท่านรับใช้ใคร ด้านนายเสรีกล่าวโต้ว่า ตนไม่ได้เอ่ยชื่อใคร จะเดือดร้อนทำไม อยู่ดีๆ จะมารับว่าเผาบ้านเผาเมืองทำไม ขณะที่นายคารมโต้กลับว่า อย่าเอาคำว่าทนายความมาใช้ ออกไปข้างนอกระวังทนายความทั่วประเทศ ท่านเป็นทนายความ พูดลอยๆ เผาบ้านเผาเมืองในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ทำไมใครจะไม่รู้ ดูก็รู้ว่าตีกินพวกของตน นายเสรีอาวุโสกว่าตน ไม่อยากให้คนที่เสียหายที่ได้รับการตัดสินคดีจากกระบวนการยุติธรรม เขาจะรู้สึกอย่างไร ทนายความที่ดีจะไม่พูดแบบนี้
ด้านนายพรเพชร ประธานในที่ประชุมพยายามยุติการโต้เถียง และให้นายเสรีอภิปรายต่อ โดยนายเสรีกล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ต้องการจะทำรัฐประหาร แต่มันเกิดจากปัจจัยในประเทศที่บีบบังคับ สมาชิกที่กล่าวว่ามีการสืบทอดอำนาจนั้น ในวันนี้ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดในประเทศที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม แม้แต่สมาชิกในที่ประชุมนี้ก็มาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญเช่นกัน การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ก็เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ตรงนี้สืบทอดอำนาจอย่างไร ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจที่ท่านพยายามยัดเยียดมาให้ เพราะที่ผ่านมาประชาชนก็มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ ลองไปถามประชาชนดูว่าพวกเขาพอใจแค่ไหนที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
“หากผมจะเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ผมก็ไม่ได้มองด้านเดียว อย่างหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผมก็ติดตามมาตลอด ก็นำมาเปรียบเทียบกันว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะมาเป็นผู้นำ เป็นที่น่าตกใจ ในข้อบังคับพรรคของพรรคอนาคตใหม่ไม่มีข้อความในเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่างจากพรรคอื่นที่มีเหมือนกันหมดทุกพรรค ในเมื่อไม่มี ผมก็ไม่ไว้ใจ ผมจึงเลือกไม่ได้ อยากให้ไปปรับปรุงข้อบังคับพรรคด้วย อีกทั้งผลงาน ประสบการณ์ในการบริหารประเทศของนายธนาธรที่ผ่านมาอาจจะเป็นครั้งแรกที่เข้ามาเป็นนักการเมือง ผลงานอาจจะน้อย หากมาเปรียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ในการบริหารประเทศ 5 ปีที่ผ่านมา ผมนิยมเผด็จการประชาธิปไตย แต่ไม่นิยมประชาธิปไตยจอมปลอม”
ด้าน นายปิยบุตรได้ใช้สิทธิพาดพิงถึงเรื่องข้อบังคับ โดยกล่าวว่าเรายึดมั่นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งหมายถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่แล้ว ดังนั้น หากผิดจริงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คงไม่ปล่อยให้มีการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ได้
เวลา 15.50 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ได้เสนอให้ที่ประชุมปิดการอภิปราย เพื่อทำการโหวตเลือกนายกฯ เนื่องจากว่าการอภิปรายของสมาชิกเริ่มวนอยู่ที่เดิม และใช้เวลาในการอภิปรายนานกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า พวกเรานั่งอยากฟังความเห็นจากหลาย ๆ พรรค เช่น พรรคภูมิใจไทย ตนก็อยากจะทราบเหตุผลในการเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ว่าพรรคพลังธรรมใหม่ทนฟังไม่ได้ ก็เสนอให้ปิดอภิปราย แนะนำหากไม่อยากฟังก็ออกไปนั่งที่ห้องกาแฟก่อนได้
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานในที่ประชุม จึงขอให้ นพ.ระวี ถอนออกไปก่อน นพ.ระวี จึงกล่าวว่า เพื่อให้ประเด็นครบถ้วน หากจะมีการอภิปรายออกไปอีก 2 ชั่วโมง ตนก็เห็นด้วย
จากนั้นที่ประชุมจึงอภิปรายต่อไป โดยมีนายชวน หลีกภัย ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม