xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ลาออก ส.ส. รักษาคำพูด-ไม่อยากยกมือสวนมติพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงข่าวลาออกจาก ส.ส.
“มาร์ค”ไม่ทนฝืนใจโหวตให้”บิ๊กตู่” เป็นนายกฯกลางสภาได้ ประกาศลาออกจาก ส.ส. หลังโน้มน้าวใจเพื่อนล้มเหลว อัดพฤติกรรม รบ.เผด็จการซ้ำรอยระบอบแม้ว แอบหวัง ส.ส.พรรคพายเรือกลับลำสร้างปชต.-ธรรมาภิบาลของจริง เสียดายโอกาสพรรคได้ขวางบางคนที่ใช้ใช้ ปชต.เป็นเสื้อคลุม ยก จม.คานธีเรื่องบาป 7 ประการ ลั่นไม่อาจทำบาปโหวต”บิ๊กตู่”นั่งนายกฯ เหตุผิดหลักการ



วันนี้ (5 มิ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายกหลังการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ว่า ก่อนการเลือกตั้ง24 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้แสดงจึงยืนยันกับคนไทยทั้งประเทศว่า ไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ซึ่งการแสดงจุดยืนดังกล่าวในขณะนั้นอยู่ในฐานะหัวหน้าพรรค ซึ่งผมมั่นใจว่ามีความสอดคล้องกับอุดมการณ์พรรคที่ประกาศไว้ในวันก่อตั้งพรรค และสอดคล้องกับเป้าหมายของพรรค คือ ต้องการเห็นประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต เพราะมั่นใจว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา พรรคไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งได้แสดงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าพรรคด้วยการลาออก แต่มีประชาชนเกือบ 4 ล้านคนตัดสินใจลงคะแนนให้กับพรรค โดยทราบถึงจุดยืนของหัวหน้าพรรคว่าในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร ผมถือโอกาสขอบคุณประชาชนเหล่านี้ที่สนับสนุนจุดยืนของผมและพรรคในขณะนั้น และสำนึกตลอดว่าเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องทำจุดยืนเหล่านั้นให้เป็นจริงให้ได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แม้เลือกตั้งจะผ่านพ้นมายังยึดมั่นในจุดยืนนี้ โดยพยายามโน้มแนวให้สมาชิกรักษาจุดยืนดังกล่าวไ้ว้ จนถึงวันนี้ยังยืนยันจุดยืนเดิม เพราะมองว่าทั้งพฤติกรรมและเหตุการณ์จากวันที่ยืนยันจุดยืนจนถึงวันนี้ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศชาติต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต ซึ่งสิ่งที่ได้ประสบมาในการเลือกตั้งทั้งการใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน พฤติกรรมการได้มาในสิ่งต่างๆโดยมิชอบ จนถึงการกระทำอื่นๆ เช่น การสรรหาสว. การแทรกซึมในสื่อมวลชนบางแขนง การทำให้องค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบ ทัดทานรักษาความถูกต้องตามกติกาได้ ซึ่งพฤติการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมยืนยันว่ายังมีอยู่จริง ทำให้การใช้คำว่าสืบทอดอำนาจไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “วาทกรรมทางการเมือง” แต่เป็นความจริงที่ไม่แตกต่างจากเหล่าอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2548 ในวันที่ผมยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ

“พฤติกรรมที่เหมือนกันหากนึกไม่ออกแนะนำให้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า “Animal Farm”และจะได้ซาบซึ้งและเข้าใจว่าพฤติกรรม หรือพฤติการที่ต่อสู้กับบางสิ่งบางอย่าง แต่เมื่อได้อำนาจมาแล้วกลับทำเสมือนกันทุกประการเป็นอย่างไรผมหวังว่าจะไม่ต้องแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มต่อไปของผู้เขียนหนังสือดังกล่าว ที่ชื่อ “1984” ขอให้ไปอ่านแล้วกันว่าเรื่องนั้นมีเนื้อหาอย่างไร”

“เมื่อวานผมใช้ความพยายามอย่างมากในการโน้มน้าวสมาชิกพรรคว่าควรจะเลือกเส้นทางใด ซึ่งขณะนี้ทุกคนทราบดีแล้วว่าพรรคมีมติสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และจะเข้าร่วมรัฐบาล ด้วยความเคารพมติของพรรค แต่ขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ก็ได้บอกกับที่ประชุมไปแล้วว่าหากพรรคมีมติออกมาเป็นเช่นไร สมาชิกพรรคก็ควรต้องปฏิบัติตามเช่นนั้น ไม่มีการฝ่าฝืนมติของพรรค ซึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยเพราะยังแอบหวังลึกๆว่าสิ่งที่พรรคพยายามจะทำจะประสบความสำเร็จ นั่นคือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมายิ่งขึ้น รวมถึงความตั้งใจของเพื่อนๆในพรรคที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน แอบหวังลึกๆว่าคนของพรรคที่จะไปพายเรือให้จะกลับใจสร้างประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล แต่ที่ยืนยันในจุดเดิมของผมเพราะเสียดายโอกาสที่พรรคแม้ตอนนี้จะกลายเป็นพรรคขนาดกลาง สามารถที่จะสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ ด้วยการทำหน้าที่เป็นฝ่ายที่3 ที่เป็นกลาง พร้อมตรวจสอบรัฐบาล อะไรที่ดีพรรคก็สามารถสนับสนุนได้ อะไรที่ไม่ดีพรรคก็สามารถตรวจสอบและมีความเป็นอิสระในการแสดงออกกับการไม่เห็นด้วย เป็นการถ่วงดุลย์การใช้อำนาจที่เกินขอบเขตและสร้างคุณค่าในฝ่ายนิติบัญญัติ “

พร้อมกันนี้ที่ผมเสียดายก็คือการสร้างพื้นที่ที่จะเริ่มต้นพื้นที่เล็กๆ แต่เติบโตต่อไปเพื่อเป็นทางสายหลักของประชาชนธิปไตย ไม่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแบบอ้างคำว่าประชาธิปไตยบังหน้า หรือเป็นเสื้อคลุม แต่ไม่มีพฤติการณ์ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และเสียดายโอกาสที่จะไม่สามารถที่จะทำให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากการถูกบีบบังคับด้วยการเลือกข้างด้วยอารมณ์ ด้วยความเกลียดเผด็จการ หรือด้วยการกลัวทักษิณ จึงต้องเรียนว่าความพยายามของผมเมื่อไม่ประสบความสำเร็จแล้วต้องตัดสินใจว่าการดำเนินการต่อไปของตนคืออะไร อย่างไร

ประการแรกคือขอโทษพี่น้องประชาชนทุกคนที่ตัดสินใจเลทือกพรรคที่ผ่านมา โดยเข้าใจว้่าพรรคจะรักษาจุดยืนคำพูด และอุดมการณ์ของตนที่พูดไปในฐานะหัวหน้าพรรค ประการที่สอง ในการทำหน้าที่ที่ตนจะต้องทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในวันนี้ในการประชุมรัฐสภาวาระเลือกนายกรัฐมนตรี ผมคงไม่สามารถเดินเข้าไปในห้องประชุมและเดินไปลงคะแนนด้วยการฝ่าฝืนมติของพรรคได้ ผมเป็นนักการเมืองที่สนับสนุนระบบพรรคการเมืองได้รับโอกาสจากพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นหัวหน้าพรรคกว่า10 ปี จึงทราบดีว่านักการเมืองจะต้องมีวินัย จะให้เดินเข้าแล้วออกเสียงว่า ผมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ผมก็ทำไม่ได้ เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคเสียอีกคือสัญญาประชาคมที่ผมให้ไว้กับประชาชน

ผมขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกพรรคเมื่อวานนี้ที่พยายามเสนอทางออกให้กับผม ใ้คำว่า”อยากจะช่วยรักษาเกียรติภูมิให้กับผม ด้วยการเสนอให้ผมงดออกเสียง แต่ผมได้ตอบกลับไปในที่ประชุมว่าพรรคคงไม่มีหน้าที่ต้องรักษาเกียรติภูมิให้กับคนหนึ่งคนใด แต่พรรคมีหน้าที่รักษาเกียรติภูมิให้พรรค ส่วนการรักษาเกียรติภูมิให้ผมเป็นหน้าที่ของผม ดังนั้นจึงปฏิเสธแนวทางในข้อยกเว้นเกี่ยวกับเรื่องงดออกเสียงในที่ประชุม อย่างไรก็ตามทราบดีว่าปัญหาทั้งหมดไม่ได้จบลงวันนี้ทุกสัปดาห์ผมต้องเผชิญกับปัญหานี้ตลอดเหมือนกันสัปดาห์ที่แล้วขอยอมรับว่าตลอด 27 ปีของการเป็นส.ส.ที่ผ่านมาไม่เคยอึดอัดในการลงมติเพื่อให้เลื่อนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฏร ทั้งที่ไม่มีเหตุผลตอบกลับสังคม จึงขอถือโอกาสนี้ขอโทษกับประชาชน แต่ที่ทำไปเพราะไม่ต้องการฝืนมติพรรค และลดน้ำหนักกับการที่จะต้องไปต่อสู้ภายในพรรคเพื่อให้เดินไปในทิศทืางที่ถูกต้องในเรื่องที่ใหญ่กว่า ดังนั้นเมื่อถึงวันนี้แล้วผมเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิ ไม่ใช่เฉพาะผม แต่รวมถึงเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า”สัจจังเว อมตะวาจา “ที่จะต้องดรักษาคำพูดและรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับประชาชน เพราะการทำงานของผมสนั้นยึดถืออุดมการณ์ และหลักการเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเลื่อนลอย เพราะเชื่อว่าการมีอุดมาการณ์และหลักการเท่านั้น ถึงจะสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนและประเทศชาติในระยะยาวได้

“มหาคานธีเคยส่งจดหมายให้หลาน พูดถึงบาป7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอบคุณครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทันทีที่นายอภิสิทธิ์จบการแถลงข่าว ได้เดินออกจากอาคารทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมร่วมรัฐสภาชั่วคราวไปทันที โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามใดๆกับผู้สื่อข่าว อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงการตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวเพียงสั้นๆว่าขอรอดูก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ส่งผลให้ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ซึ่งอยู่ในผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 21ได้รับการเลื่อนขึ้นมาแทนทันที

คำต่อคำ "อภิสิทธิ์"แถลงลาออกจากการเป็น ส.ส.

"ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ผมได้แสดงจุดยืนทางการเมืองไปยังพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ว่าผมนั้นไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากการเลือกตั้ง

การแสดงจุดยืนของผมในขณะนั้น เป็นการแสดงจุดยืนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และจุดยืนที่แถลง ผมก็มั่นใจว่ามีความสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่วันก่อตั้งพรรค ซึ่งเป็นเวลากว่า 70 ปีแล้ว และยังสอดคล้องกับเป้าหมายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้ง นั่นก็คือ เราต้องการที่จะเห็นประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต ซึ่งเรามั่นใจว่ามันเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าผมจะได้แสดงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าพรรค ด้วยการลาออก แต่มีพี่น้องประชาชนเกือบ 4 ล้านคน ที่ได้ตัดสินใจลงคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยทราบดีว่า จุดยืน ที่ผมในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัยต์ ได้แสดงไว้นั้นเป็นอย่างไร ผมต้องขอถือโอกาสนี้ขอบคุณพี่น้องประชาชน 4 ล้านคน ที่ได้ให้การสนับสนุนจุดยืนของผมและพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น และผมสำนึกในบุญคุญของคนเหล่านั้นตลอดเวลา และตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องพยายามทำให้สิ่งที่พี่น้องประชาชนสนับสนุนนั้น มีความเป็นจริงให้ได้

นับตั้งแต่การเลือกตั้งผ่านพ้นมา ผมก็ยังได้ยึดมั่นในจุดยืนดังกล่าว ซึ่งได้พยายามที่จะโน้มน้าวบรรดาสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องในพรรคประชาธิปัยต์ให้รักษาจุดยืนดังกล่าวไว้ และจนถึงวันนี้ผมก็ยังยืนยันจุดยืนของผมเช่นเดิม ซึ่งผมมองว่า ทั้งพฤติกรรมและเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ผมได้แสดงจุดยืนมาจนถึงวันนี้ ก็ยังเป็นเครื่องยืนยันว่า ประเทศชาติยังต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่ และประชาธิปไตยสุจริต

สิ่งที่พวกเราหลายคนได้ประสบมาในช่วงการเลือกตั้ง ที่ได้เห็นถึงการใช้อำนาจรัฐ ใช้เงิน การได้คะแนนเสียงมาด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ ไล่เรียงมาจนถึงการกระทำอื่นๆ เช่น พฤติการณ์ในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา พฤติการณ์ที่มีการแทรกซึมเข้าไปในสื่อมวลชนบางแขนง พฤติกรรมที่ส่งผลให้องค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบ ทัดทาน รักษาความถูกต้องตามกติกาได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมยืนยันว่ายังมีอยู่จริง และจึงทำให้สิ่งที่เราใช้คำว่า การสืบทอดอำนาจ จึงไม่ใช่เรื่องของวาทกรรม แต่เป็นความเป็นจริง เป็นความเป็นจริงซึ่งไม่แตกต่างจากพฤติกรรมหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2548 ในวันที่ผมยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ"

พฤติกรรมหลายอย่างที่เหมือนกัน ถ้าท่านนึกไม่ออก ผมขอแนะนำให้ท่านไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ของจอร์จ ออร์เวลล์ ชื่อ Animal Farm ท่านจะได้ซาบซึ้งและเข้าใจว่า พฤติการณ์ของการต่อต้าน ต่อสู้กับบางสิ่งบางอย่าง แต่เมื่อได้อำนาจมาแล้ว กลับกระทำเสมือนกันทุกประการนั้น เป็นอย่างไร ผมก็หวังว่า ผมคงไม่ต้องแนะนำให้มาอ่านหนังสือเล่มต่อไปของผู้เขียนคนเดียวกัน ที่ชื่อ 1984 ท่านไปดูก็แล้วกันว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องอะไร

เมื่อพฤติกรรมต่างๆ เป็นเช่นนี้ แน่นอนที่สุด ผมก็ได้พยายามอย่างมาก เมื่อวานนี้ ในการประชุมร่วมของ ส.ส. และกรรมการบริหารพรรค ว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นควรจะเลือกเส้นทางใด ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่าบัดนี้ประชาธิปัตย์ได้มีมติในการที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และจะเข้าไปร่วมรัฐบาล ด้วยความเคารพในมติของเสียงข้างมาก ผมก็ต้องยืนยันว่า ผมไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ได้บอกกับที่ประชุมไปแล้ว ว่า เมื่อพรรคมีมติเช่นใด สมาชิกพรรคก็ควรที่จะปฏิบัติเช่นนั้น ไม่มีการไปฝ่าฝืนมติพรรค

ที่ผมไม่เห็นด้วย ยอมรับครับว่ายังแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าสิ่งที่พรรคพยายามจะทำ จะประสบความสำเร็จ นั่นก็คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงความตั้งใจของเพื่อนๆ ภายในพรรคที่อยากจะไปทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องให้กับประชาชน แอบหวังลึกๆ ว่าคนที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปพายเรือให้ จะกลับใจ สร้างประชาธิปไตยและสร้างธรรมาภิบาล แต่ที่ผมยังยืนยันจุดยืนเดิมนั้น เพราะผมเสียดายโอกาส โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์แม้จะกลายเป็นพรรคขนาดกลาง สามารถที่จะสร้างพื้นที่ทางการเมือง ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติในระยะยาว ด้วยการทำหน้าที่เป็นฝ่ายที่ 3 ที่เป็นกลาง พร้อมที่จะตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าก็คงจะเป็นการตั้งรัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง อะไรที่ดี พรรคก็สามารถสนับสนุนได้ อะไรที่ไม่ดี พรรคก็ควรที่จะตรวจสอบ และมีอิสระในการที่จะแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย เป็นการถ่วงดุลการที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขต และทำให้เห็นคุณค่าของฝ่ายนิติบัญญัติ

พร้อมๆ กันไป การสร้างพื้นที่ตรงนี้ผมเสียดายโอกาส ก็คือการมีพื้นที่ที่จะเริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ แต่เติบโตต่อไป เป็นทางสายหลักของประชาธิปไตย ไม่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาแอบอ้างคำว่าประชาธิปไตยบังหน้า หรือเป็นเสื้อคลุม แต่ไม่มีพฤติการณ์ที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ผมเสียดายโอกาสที่เราไม่สามารถจะสร้างพื้นที่ที่จะทำให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากการถูกบีบบังคับให้เลือกข้างด้วยอารมณ์ ด้วยความเกลียดเผด็จการ หรือด้วยการกลัวทักษิณ ผมจึงต้องเรียนกับทุกๆ ท่านว่า ความพยายามของผมนั้นเมื่อไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ผมก็ต้องมีการตัดสินใจว่าสิ่งที่ผมสมควรจะดำเนินการต่อไปคืออะไร

ประการแรก สิ่งที่ผมต้องทำ คือกล่าวขอโทษพี่น้องประชาชนทุกคนที่ตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งที่ผ่านมา โดยเข้าใจว่าพรรคฯ จะรักษาจุดยืน คำพูด และอุดมการณ์ของผมที่พูดไปในฐานะหัวหน้าพรรค

ประการที่สอง ในการทำหน้าที่ที่ผมจะต้องทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ เมื่อมีการประชุมรัฐสภา ก็คือวาระของการเลือกนายกรัฐมนตรี ผมคงไม่สามารถเดินเข้าไปในห้องประชุมและลงคะแนนที่เป็นการฝ่าฝืนมติของพรรคได้ ผมเป็นนักการเมืองซึ่งสนับสนุนระบบพรรคการเมือง ได้รับโอกาสจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรคยาวนานกว่า 10 ปี ผมทราบดีว่า นักการเมืองที่ดี สมาชิกที่ดี ต้องมีวินัย จะให้ผมเดินเข้าไป แล้วออกเสียงว่าผมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมก็ทำไม่ได้ เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคเสียอีก คือสัญญาประชาคมที่ผมให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้่งประเทศ

ผมขอบคุณเพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวานนี้ ที่พยายามเสนอทางออกให้กับผม ใช้คำว่า อยากจะช่วยรักษาเกียรติภูมิให้กับผม ด้วยการเสนอให้ผมนั้นงดออกเสียง ผมได้ตอบไปในที่ประชุมว่า พรรคคงไม่มีหน้าที่ที่จะมารักษาเกียรติภูมิให้คนหนึ่งคนใด พรรคมีหน้าที่รักษาเกียรติภูมิของพรรค ส่วนการรักษาเกียรติภูมิของผม เป็นหน้าที่ของผม ผมจึงปฏิเสธแนวทางที่จะให้ผมเป็นข้อยกเว้นและงดออกเสียงในที่ประชุมในวันนี้

แต่ผมทราบดีว่าปัญหาทั้งหมดมันไม่จบอยู่ตรงนี้หรอกครับ ทุกสัปดาห์ผมก็ต้องมาเผชิญกับปัญหานี้อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมต้องยอมรับว่า ใน 27 ปีของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผม ไม่เคยอึดอัดเท่ากับการลุกขึ้นลงมติเพื่อให้เลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลที่จะตอบกับสังคม ซึ่งผมขอถือโอกาสนี้ ขอโทษกับพี่น้องประชาชน แต่ผมทำไปเพราะว่าผมไม่ต้องการ ฝืนมติพรรค และลดน้ำหนักในการที่ผมจะไปต่อสู้ภายในพรรคเพื่อที่จะให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องในเรื่องที่ใหญ่กว่า

ดังนั้น เมื่อมาถึงวันนี้แล้ว ผมก็เหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิ ไม่ใช่เฉพาะของผม แต่เกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า "สจฺจํเว อมตา วาจา" ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบต่อคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน เพราะการทำงานทางการเมืองของผมนั้น ผมยึดถืออุดมการณ์และหลักการเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของความเลื่อนลอย แต่เพราะผมเชื่อว่าการเมืองที่มีอุดมการณ์และหลักการเท่านั้นถึงจะสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนและประเทศชาติในระยะยาวได้

คานธี เคยส่งจดหมายให้กับหลาน พูดถึงบาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้น คือการเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจ ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอบคุณครับ"



กำลังโหลดความคิดเห็น