นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย สวน“ธนาธร” ยืนยันมาตรการแก้ IUU มีแต่ประมงพาณิชย์ 15% ที่เดือดร้อน แต่ประมงพื้นบ้าน 85% ได้ประโยชน์ แนะทำการบ้านให้มากขึ้น อย่าฟังด้านเดียวแล้วรีบสรุป ชี้จะเอาทหารออกไปต้องระบุให้ชัด อย่าโยงรัฐประหารเกินไป ทหารเรือต้องดูแลน่านน้ำ หรือจะให้งบฯ กรมประมงไปซื้อเรือรบ ตั้งข้อสงสัย พา ส.ส.แห่พบ “เฮียฮ้อ” คุยกันเรื่องอะไร เพราะเป็นคนปล่อยผีเรือปั่นไฟจนทะเลไทยย่อยยับ
จากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ไปพบชาวประมง แล้วบอกว่า พ.ร.ก.ประมง และการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) fishing) ของรัฐบาลมีปัญหา ทำให้ทะเลไทยไม่มีความยั่งยืน จะต้องมีการแก้ไขใหม่ทั้งหมดและต้องเอาทหารออกไปจากการจัดการประมุง วันนี้(3 มิ.ย.) นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คุยถึงแก่น” ดำเนินรายการโดยนายปรเมษฐ์ ภู่โต และ น.ส.นันทิยา จิตตโสภาวดี ทางช่อง NBT ถึงเรื่องดังกล่าวว่า เท่าที่ดูจากคลิป นายธนาธรเริ่มจากให้พี่น้องประมงที่มาประชุมกันที่สมุทรสาครได้ระบายว่าเดือดร้อนอย่างไร มาตรการแก้ไอยูยูส่งผลต่ออาชีพอย่างไรบ้าง อีกมิติหนึ่งตนก็เข้าใจ การที่พรรคการเมืองลงไปฟังปัญหาชาวบ้านเป็นเรื่องที่ดี เป็นมิติใหม่ พรรคการเมืองต้องมีบทบาทอย่างนี้ แต่มันต้องหลากหลาย และสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่และนายธนาธรต้องทำการบ้านเพิ่มก็คือ ฟังให้รอบด้าน อย่าฟังข้างเดียวแล้วมาสรุปเลย
“ผมพูดตรงๆ ก็ได้ว่า พี่น้องชาวประมงที่สมุทรสาครที่มานั่งฟังส่วนใหญ่เป็นประมงพาณิชย์ ซึ่งถ้าคุณธนาธรรู้ว่า ในประเทศนี้ ประมงแบ่งเป็นประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์มีสัดส่วนประชากรแค่ 15% แล้วคนอีก 85% ใน 22 จังหวัด เขาก็เป็นชาวประมง แล้วส่วนใหญ่มีเรือลำเดียวหากินแบบครอบครัว กับลูกกับเมีย ไม่ใช่มี 30 ลำ มี 60 ลำ ลำละ 20 ล้าน อันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำการบ้านต่อ ไม่เช่นนั้นคุณจะสรุปผิด แล้วก็ไปแก้ปัญหา ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่จริง ตรงนี้ต้องทำการบ้านกันหน่อย ถ้าคุณไม่เอาคน 85% นี่ เป็นตัวกำหนดว่าควรพัฒนาประมงของประเทศไปในทิศทางยังไง ผมว่าคุณพลาดแล้วถ้าสรุปอย่างนี้
นายบรรจงกล่าวอีกว่า ก่อนการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่ไม่ค่อยได้ลงไปคุยกับชาวประมงพื้นบ้านเลย มีครั้งหนึ่งที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ไปที่ภาคตะวันออก ก็พูดในทำนองเดียวกันนี้ ไปพูดเรื่องแรงงานทาส จะต้องแก้โน่นแก้นี่ ตนก็เลยสวนเขาไปนิดหน่อยในเฟซบุ๊ก นายธนาธรก็เลยนัดลงไปคุยกับตน ก่อนการเลือกตั้ง ก็ได้ให้ข้อมูลว่าเรื่องแรงงานก็มีส่วนหนึ่ง มันมี 2 ส่วน คือตอนนั้นเราโดนเรื่องแรงงานภาคประมง เป็นเรื่องใหญ่ และใหญ่ไปกว่านั้นคืออียู(สหภาพยุโรป)ออกมาตรการ และเราโดนใบเหลืองอยู่ ถ้าไม่แก้ สินค้าประมงเรามูลค่าเกือบ 3 แสนล้านจะถูกห้ามหรือถูกแบนไม่ให้ส่งไปอียู ฉะนั้นหน้าที่รัฐบาลก็คือทำอย่างไรจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ก่อน จริงอยู่สินค้าประมงส่งออกจำนวนมากเป็นของนายทุน อย่างทูน่ากระป๋อง แต่สินค้าจำพวกกุ้งนั้นมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนมาก ราคากุ้งจะลดฮวบทันทีถ้าส่งออกไม่ได้ ถ้านายธนาธรเป็นรัฐบาลก็จะต้องคิดหนักในเรื่องนี้ การที่รัฐบาลจะแก้ตรงนี้ก่อนก็เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว
ส่วนที่ 2 นายกรัฐมนตรีได้ไปเซ็นข้อตกลงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติแล้ว ข้อ 14 ระบุเลยว่า ทะเลเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ เพราะฉะนั้นต้องปรับปรุงแก้ไข ถ้าไม่มีมาตรการปรับปรุงแก้ไขออกมาที่เป้นรูปธรรม เราก็จะโดนใบแดงอียู ก็เลยเป็นที่มาของ พ.ร.ก.ประมง 2558 ซึ่งแน่นอนการออก พ.ร.ก.ในช่วงปฏิวัติก็อาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข
แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือว่าสิ่งที่มันหมักหมมมานานในประมงไทย อย่างเรือเถื่อน แรงงานทาส แรงงานเด็ก มันถูกหงายออกมาหมด จะเอาเรือออกก็ต้องมาดูก่อน ซึ่งมันกระทบเยอะ เพราะทะเบียนเรือ 1 ลำ บางคนมีตั้งกี่ลำก็ถูกหงายออกมาหมด ก็ออกเรือไม่ได้ ก็ต้องจอด แล้วก็มาโวยวายรัฐบาล ต้องซื้อเรือคืน แล้วเรือประมงพื้นบ้านที่เข้าต้องล่มสลายอาชีพต้องช่วยด้วยไหม หรือช่วยแต่ประมงพาณิชย์
ประเด็นก็คือเครื่องมือประมงที่มันรุนแรง ที่มันทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน เรื่องนี้ต้องให้เครดิตรัฐบาลที่ใช้ ม.44 ยกเลิก 1 ใน 3 ของเครื่องมือทำลายคืออวนรุน รวมทั้งเครื่องมืออื่นๆ ที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ถูกสั่งห้ามใช้ ใครมีไว้ก็ผิดกฎหมาย แต่ยังมีเครื่องมืออีก 2 อย่างที่รัฐบาลยังไม่สั่งยกเลิก คือเรือปั่นไฟ และอวนลาก แต่ พ.ร.ก.ประมง 2558 มาตรา 57 ก็สั่งห้ามนำสัตว์น้ำวัยอ่อนขึ้นบนเรือ เพียงแต่ไปผูกว่าให้รัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศ และเรารอมา 3 ปีแล้วยังไม่ประกาศ ตรงนี้ก็จะต้องแก้ไข ซึ่งโดยหลักการเห็นว่า มีบางมาตราของ พ.ร.ก.ประมงที่ต้องแก้ เช่น มาตรา 34 ห้ามประมงพื้นบ้านออกทะเลเกิน 3 ไมล์ทะเล แต่ไม่ใช่ว่ามันไม่ดีทั้งหมด มันจะต้องดำเนินการต่อไป ถ้าเราหวังเอาทะเลกลับมาเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง
นายปรเมษฐ์ ถามว่า หลังจากรัฐบาลออกมาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยู สถานการณ์ของทะเลไทยเป็นอย่างไร มีแต่ย่ำแย่ลงอย่างที่โฆษกพรรคอนาคตใหม่อ้างหรือเปล่า นายบรรจงกล่าวว่า ตรงนี้ตนเห็นตรงกันข้าม ที่ย่ำแย่น่าจะเป็นประมงพาณิชย์ที่เคยชินกับการใช้เครื่องมือแบบเดิมๆ และถูกมาตรการนี้ อันนี้ย่ำแย่แน่ เพราะเขาไม่มีสิทธิที่จะเอาเรือเถื่อนออกไปวิ่งจับปลาได้แล้ว
“แต่ในส่วนของพี่น้องประมงชายฝั่ง 22 จังหวัด ยืนยันว่าทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ที่ผมทำงานหลายพื้นที่ มีปลาอินทรีตัวละ 20-30 กิโลกรัม ผมทำงานมา 30 ปียังไม่เคยเห็นเลย นั่นหมายถึงว่าในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง ได้รับการดูแล อวนรุนถูกยกเลิกไป มีคณะกรรมการประมงจังหวัด กรมประมงก็มีการปรับ ทำให้ทะเลดีขึ้น ต้องให้เครดิตรัฐบาล และต้องพูดตรงไปตรงมาว่ามาตรการไอยูยูกระทบต่อประมงพาณิชย์จริง แต่คนกินปลา คนตัวเล็กตัวน้อยสถานการณ์ดีขึ้นค่อนข้างเยอะ”นายบรรจงกล่าว
เมื่อถามว่า ประเด็นที่นายธนาธรพยายามชูขึ้นมาว่าต้องเอากองทัพออกจากากรจัดการประมง เพราะกองทัพเป็นต้นเหตุความเดือดร้อนของชาวประมง นายบรรจงกล่าวว่า เป็นการโยงเข้าไปถึงเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารมากเกินไป แต่ตนมองในแง่การดูแลทะเล ซึ่งกองทัพเรือมีส่วนสำคัญ วันนี้เรามีปัญหาเรือต่างชาติเข้ามารุกล้ำน่านน้ำด้วย ใครจะดูแลถ้าไม่ใช่กองทัพเรือ คำว่าเอาทหารออกต้องลงรายละเอียดว่าทหารบก ทหารอากาศ หรือทหารเรือ หรือจะมาดูว่าบทบาทการทำหน้าที่ปกป้องทะเลเขาบกพร่องตรงไหน หรือต้องให้งบประมาณกรมประมงมาซื้อเรือรบ เรือตรวจการประมง ซึ่งวันนี้ก็ยังมีข้อจำกัด การผนวกเอากองทัพเรือเข้ามาอยู่ ตนคิดว่านายธนาธรอาจจะไปดูในรายละเอียดของ PIPO หรือ ศปมผ. (ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย) ที่ต้องมีทหารออกไปตรวจเรือในทะเลว่ามีแรงงานเด็ก แรงงานทาสหรือไม่ มันก็กระทบแน่ถ้าคุณทำไม่ถูกต้อง
กรณีนายธนาธร นำ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ เข้าพบนายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาประมงนั้น นายบรรจงกล่าวว่า ถ้านายธนาธรทำการบ้านสักหน่อยก็จะรู้ว่าเรือปั่นไฟที่ทำร้ายลูกปลาทูอยู่ในปัจจุบันนี้ นายมณฑลนั่นเองเป็นคนอนุญาตให้ปั่นได้ ทั้งที่ในปี 2526 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายแพทย์บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วย ขณะนั้นมีเรือปั่นไฟเกิดขึ้นจำนวนมากจนชาวบ้านเดือดร้อนทุกหัวระแหง นายแพทย์บุญเอื้อจึงได้สั่งยกเลิกเรือปั่นไฟ ทำให้ทะเลฟื้นฟูกลับมา พอในปี 2539 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป้นนายกรัฐมนตรี นายมณฑล เป็น รมช.เกษตรฯ ก็ไปยกเลิกประกาศของนายแพทย์บุญเอื้อให้เรือปั่นไฟออกทะเลได้ ทำให้ทะเลไทยได้รับผลกระทบจากเครื่องมือประมงเรือปั่นไฟ ที่นายธนาธรไปหานายมณฑล ก็ไม่รู้ว่าคุยอะไรกัน ถ้าบอกว่าต้องจัดการโน่นนี่นั่นตามนายมณฑล ตนก็ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะนายมณฑลเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนทำให้ทะเลไทยย่อยยับ
นายบรรจงยังกล่าวถึงปัญหาเรืออวนลาก ซึ่งรัฐบาลเคยมีมาตรการไม่ต่อใบอนุญาต แต่นักธุรกิจประมงไม่เคยเชื่อว่ารัฐบาลจะควบคุมเขาได้ เขาก็ต่อเรืออวนลากเพิ่มเพื่อรอว่าวันหนึ่งพรรคพวกของเขาจะได้เป็นรัฐบาล ซึ่งก็เป็นจริง ทุกวันนี้เรืออวนลากเต็มทะเล เพราะรัฐบาลไม่เคยมีมาตรการบังคับได้หลังจากหยุดต่อใบอนุญาต ห้ามต่อเรือเพิ่ม เรานิรโทษกรรมเรืออวนลากมาแล้ว 4 ครั้ง แล้วมาโวยวายตอนนี้ ตอนที่รัฐบาลบอกว่าต้องรักษาทะเลไว้ เพราะทะเลมันสำคัญ ถ้าเราหยุดตั้งแต่ปี 2523 ไม่มีการนิรโทษกรรม วันนี้เราจะไม่มีเรืออวนลากในประเทศไทยอีก แต่พเวกเขาไม่เชื่อ เพราะคิดว่าเดี๋ยวพรรคพวกเป็นนักการเมืองเป็นรัฐมนตรีก็แก้ได้ วิธีคิดอย่างนี้อันตราย