xs
xsm
sm
md
lg

“วัชระ” วอน ปชป.ไม่ร่วมรัฐบาลเพื่อรั้ง “อภิสิทธิ์” หวั่นลาออก ส.ส.พรรคจะสูญเสียบุคลากรสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“วัชระ” หวั่น “อภิสิทธิ์” ลาออกจาก ส.ส.หากประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล พปชร. ชี้ พรรคจะสูญเสียบุคลากรสำคัญไป แต่ผลตัดสินก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมการบริหาร - ส.ส. ซึ่งไม่ว่าจะออกมาอย่างไรวอนประชาชนเข้าใจ เพราะเป็นโจทย์ที่ยากมาก ไปทางไหนก็ล้วนแต่โดนด่า พร้อมขอนักการเมืองช่วยกันรักษาสภาไว้อย่าให้ทหารมายึดอำนาจอีก ลั่นต่อให้พิกลพิการก็แก้ไขกันเองได้



วันที่ 28 พ.ค. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ประชาธิปัตย์บนทางสามแพร่ง?”

โดยช่วงหนึ่ง นายวัชระ กล่าวว่า ตอนนี้ประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะตัดสินใจทางไหนก็โดนวิจารณ์ทั้ง 2 ทาง อดีตหัวหน้าอภิสิทธิ์ประกาศชัดเจนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ เรามีผู้นำประกาศชัดเจนในแนวทางนี้ บรรดาสมาชิกพรรคก็หาเสียงในแนวทางเดียวกัน แล้วการโหวตนายกฯ จะต้องเรียกชื่อเป็นรายบุคคลให้ ส.ส.ลุกขึ้นยืน สิ่งที่ทุกคนหาเสียงไว้ แล้วมายืนขานสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ชาวบ้านเคยฟังปราศรัยจะคิดอย่างไร

นายวัชระ กล่าวอีกว่า ถ้าประชาธิปัตย์ไปเป็นนั่งร้านช่วยเผด็จการทหารสืบทอดอำนาจ เสียหายแน่ แม้สมาชิกพรรคส่วนหนึ่งและประชาชนจำนวนหนึ่งบอกว่าต้องร่วม จึงเป็นทางตัดสินใจที่ยากลำบากมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นกับกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. แต่ยืนยันว่าสมาชิกพรรคส่วนมากไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์

“สิ่งสำคัญต้องรักษาท่านอดีตหัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ไว้ให้ได้ เพราะถ้าตัดสินใจไปตรงกันข้ามกับที่ประกาศจุดยืนไว้ ถ้าท่านลาออกจาก ส.ส. ขึ้นมา ประชาธิปัตย์จะเสียหายมาก ท่านเป็นอดีตหัวหน้ามายาวนาน เป็นบุคลากรสำคัญของพรรค ทุกคนไม่ประสงค์ให้ออกจากพรรค เพราะว่าเข้าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล” นายวัชระ กล่าว

นายวัชระ กล่าวต่ออีกว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์ พี่น้องคงเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น มันมีความกดดันทั้งสองฝ่าย สร้างความลำบากใจให้คนที่ตัดสินใจเป็นอย่างมาก ซึ่งอยากให้ฟังเหตุผล คณะกรรมบริหารพรรคว่าตัดสินใจอย่างไร ก็ต้องฟังเหตุฟังผลว่าฟังขึ้นหรือไม่ ขอให้มองอย่างเข้าใจ เพราะไม่ว่าทางใดก็มีคนผิดหวังเป็นธรรมดา เป็นโจทย์ที่ยากมากในวันนี้ ตนไม่อยากให้นายอภิสิทธิ์ลาออก เพราะถ้าลาออกจากการรักษาจุดยืน พรรคจะเสียบุคลากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ทุกคนควรร่วมมือกันสร้างพรรคให้เป็นที่พึ่งประชาชนมากที่สุด

นายวัชระ ยังกล่าวด้วยว่า วิงวอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ช่วยกันรักษาสภาไว้ อย่าให้ทหารมายึดอำนาจอีก ต่อให้มันพิกลพิการอย่างไรเราก็แก้ไขกันได้

คำต่อคำ : ประชาธิปัตย์บนทางสามแพร่ง? : คนเคาะข่าว 28/05/2019


เติมศักดิ์- สวัสดีครับขอต้อนรับเข้าสู่รายการคนเคาะข่าว วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2562 วันนี้เราชวนหนึ่งในสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์มาพูดคุยก่อนที่จะมีการประชุมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในเย็นวันนี้ เพื่อตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ วันนี้เราคุยกับอดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ หนึ่งในสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ คุณวัชระ เพชรทอง สวัสดีครับคุณวัชระ ครับ


วัชระ- สวัสดีครับคุณเติมศักดิ์ ท่านผู้ชม ท่านผู้ฟังที่เคารพครับ


เติมศักดิ์- ถือว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมือง ครั้งสำคัญ ครั้งที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งหรือเปล่าครับของพรรคประชาธิปัตย์ เย็นวันนี้ครับ คุณวัชระ


วัชระ- ครับ ผมคิดว่าเป็นครั้งที่ยากที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรค รวมแล้ว 73 ปี ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ยากที่สุดของคณะกรรมการบริหารพรรคและบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครับ


เติมศักดิ์- ทำไมถึงเรียกว่ายากที่สุด เพราะอะไรครับ


วัชระ- ยากที่สุดเพราะว่าไม่ว่าจะตัดสินใจไปในทางซ้ายหรือทางขวา ต่างก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงอย่างมากทั้งสองทางนะครับ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เพราะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งยืนอยู่ตรงข้ามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาโดยตลอด โดยเฉพาะท่านอดีตหัวหน้าพรรคท่่านอาจารย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี อีกต่อไป ตรงนั้นท่่านหัวหน้าประกาศไว้อย่างชัดเจนครับ


เติมศักดิ์- และคิดว่าคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ก็เพราะว่าสนับสนุนจุดยืนของหัวหน้าพรรคเรื่องนี้ใช่ไหมครับ


วัชระ- แน่นอนครับ ส่วนใหญ่ต้องสนับสนุนในแนวทางนี้ทั้งหมดนะครับ เพราะว่าคนที่เลือกประชาธิปัตย์ เลือกด้วยหลายเหตุผล แต่เมื่อเรามีแม่ทัพ มีผู้นำซึ่งประกาศชัดเจนไปในแนวทางนี้ เราซึ่งเป็นสมาชิกพรรคและบรรดาท่านรองหัวหน้าพรรค ต่างไปหาเสียงในแนวทางเดียวกัน ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่ประกาศว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีแม้แต่คนเดียวครับ เมื่อเราไปปราศรัยเช่นนั้นกับพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศจนจบการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นักการเมืองก็จะต้องมีสัจจะ พรรคการเมืองก็ต้องมีหลักการ และมีเหตุผล มีคำพูดที่เชื่อถือได้ ถ้าวันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้พูดอย่าง วันหน้าพูดอีกอย่างแล้วใครจะมาเชื่อถือครับ


เติมศักดิ์- ระหว่างการหาเสียงที่ชูจุดยืนเรื่องนี้ คนในพื้นที่ประชาชนที่เราไปพูดคุยด้วยและที่สัมผัสได้เขาคิดแบบนั้นไหมครับ


วัชระ- เขาก็ไม่เอาลุงตู่ นะครับ คือเราไปปราศรัยที่ไหนนะครับ พี่น้องประชาชนส่วนมากไม่มีใครสนับสนุนรัฐบาลทหารเลย แต่ในการเลือกตั้งครับ มันมีนโยบายลงไปจากหน่วยเหนือ ทำให้ข้าราชการบางส่วน วางตนไม่เป็นกลาง และทำให้เกิดเลือกตั้ง มันดูแล้วผลการของการเลือกตั้งนี่มันสุจริตและเที่ยงธรรม จริงหรือไม่ ผมคิดว่าพี่น้องต่างจังหวัดนั้นทราบดีว่าได้พบกับอะไรบ้าง การเลือกตั้งครั้งนี้ ผมขอยืมคำของเพื่อนที่เป็นปลัดของเทศบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งรับราชการมานานกว่า 20 ปี ครับ เขาบอกเลยครับว่า ไม่เคยเจอการเลือกตั้งครั้งไหน ที่สกปรกมากที่สุด เท่ากับการเลือกตั้งครั้งนี้ นี่ขนาดข้าราชการของรัฐนะครับ แต่เขาว่าก็ไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเพราะว่า เขาก็ได้แต่มากระซิบว่ามันเป็นอย่างนี้จริงๆ เพราะอะไรครับ เพราะแม้แต่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ท่านเชื่อไหมครับว่า กกต. ไม่ได้เป็นคน แต่ตั้งเหมือนในอดีต ที่ให้มีตัวแทนของคุณครู ตัวแทนของสาธารณสุข หรือของครูโรงเรียนต่างๆ เข้าไปเป็นกรรมการประจำหน่วย แต่ให้นายอำเภอ นายอำเภอเป็นคนเสนอแต่งตั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และนายอำเภอเป็นใครครับ ก็เป็นลูกน้องผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯ เป็นลูกน้องใครครับ ก็ฝ่านยมหาดไทย ตรงนี้มันชัดเจนครับ


เติมศักดิ์- เขามีคนบอกว่า ประชาธิปัตย์ุถูกลงโทษจากการประกาศจุดยืนไม่หนุนลุงตู่เป็นนายกฯ เสียงก็เลยหายไปเยอะ เหลือแค่สามล้านเก้า เพราะฉะนั้นถ้าครั้งหน้าไม่อยากสูญพันธุ์ ก็สนับสนุนลุงตู่เป็นนายกฯ


วัชระ- นี่ว่าเป็นพวกของท่านพลเอกประยุทธ์ ที่นำเสนอแนวทางนี้ ส่วนพี่น้องประชาชนนจำนวนมากอีกเช่นกัน สมาชิกพรรคจำนวนมากอีกเช่นกันก็บอกว่า อย่าไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ อย่าไปสนับสนุน ลุงตู่ ถ้าไปร่วมก็สูญพันธุ์ เหมือนกัน ฝ่ายซ้ายก็บอกว่าถ้าไปร่วมสูญพันธุ์ ฝ่ายขวาก็บอกว่าถ้าไปร่วม สูญพันธุ์ แล้วมันคืออะไรครับ เพราะฉะนั้นเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดนี้


เติมศักดิ์- มันเป็นทางสามแพร่ง


วัชระ- เราต้องให้ความเป็นธรรมกับท่านอดีตหัวหน้าพรรค ท่านอาจารย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะท่านเป็นผู้นำพรรค ท่านเป็นหัวหน้าพรรค ท่านประกาศจุดยืนทางการเมือง เราซึ่งเป็นสมาชิกพรรค เราเห็นด้วยครับ แล้วเราก็ปปฏิบัติตาม เมื่อแพ้เลือกตั้ง อย่าไปโทษแต่ท่านหัวห้นาพรรคก็ต้องโทษทุกคน ที่ทำงานแล้วทำไมถึงแพ้เลือกตั้ง แพ้เลือกตั้งมันมีหลายปัจจัยครับ อย่างที่บอกไปแล้ว มันมีการเลือกตั้งที่


เติมศักดิ์- ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม


วัชระ- ที่น่าสงสัยเป็นอันมากนะครับ แม้แต่การคิดคำนวณของ กกต. ก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่จนถึงทุกวันนี้ ผมอยากให้ กกต. ปฏิบัติการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ต่อทุกฝ่าย ต่อทุกพรรค แต่ถามว่าปัจจุบันมันเป็นยังไง เป็นที่น่าสงสัย เป็นที่น่าคาใจหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปโทษท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ แต่เพียงผู้เดียวที่เราแพ้เลือกตั้ง เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องยอมรับ


เติมศักดิ์- เห็นคุณวัชระ และอีกหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์บอกว่ามัน ฝืนอุดมการณ์ของพรรค ถ้าไปสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่าฝืนยังไง มันฝืนอุดมการณ์พรรคยังไง


วัชระ- ก็อุดมการณ์ของพรรคในข้อที่ 4 ประกาศไว้อย่างชัดเจนครับ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2489 นะครับ ในข้อที่ 4


เติมศักดิ์- เห็นในหนังสือเล่มนี้ มีพิมพ์ไว้ใช่ไหมครับ หนังสือของคุณวัชระ


วัชระ- ครับ ใช่ครับ ผมก็ได้นำเอาอุดมการณ์ของพรรคมาตีพิมพ์เอาไว้


เติมศักดิ์- ข้อ 4 นะครับ อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ 10 ข้อตีพิมพ์ในหนังสือของคุณวัชระนี่ หน้า 460 พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบ และวิธีการของรัฐบาลใดๆ แต่ก็มีคนแย้งว่าในประวัติศาสตร์ประชาธิปัตย์ก็เคยสนับสนุนนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนะ อันนี้ไม่ฝืนอุดมการร์ของพรรคข้อ 4 เหรอครับ


วัชระ- อ๋อ ไม่หรอกครับ เพราะว่าในขณะนั้น พณฯ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านเป็นนายทหารที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และเป็นช่วงจังหวะที่บ้านเมืองต้องการความ สมัครสมานสามัคคี ที่จะให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ในขณะนั้นนะครับ ก็ผู้นำพรรคในขณะนั้นก็ให้การยอมรับ และพรรคการเมืองทุกพรรคต่างยอมรับท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อย่างไม่มีข้อสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตเลยแม้แต่น้อย


เติมศักดิ์- ต่างกับตอนนี้


วัชระ- ต่างกันอย่างแน่นอน ซึ่งพี่น้องประชาชนก็สามารถที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง ว่าแตกต่าวงกันหรือไม่ ระหว่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พณฯ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์


เติมศักดิ์- บรรยากาศของบ้านเมืองที่ต้องการความราบรื่น มีเสถียรภาพล่ะ ไม่ต่างกันเหรอครับ ตอนนี้ก็เหมือนกับว่าประชาชนก็อยากจะให้การเมือง มันพ้น ก้าวข้ามความขัดแย้งไปเสียที


วัชระ- เพราะตอนนี้ลุงตู่จะกลายมาเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งเองนะครับ เพราะว่าท่านควรจะเพียงพอในอำนาจนะครับ อย่าลืมว่านับแต่ท่านทำการรัฐประหาร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นะครับ จนบัดนี้ 2562 นะครับ นานกี่ปีแล้วครับ ท่านอยู่ในอำนาจคนเดียว ปรากฏว่าอะไรครับ ต่างชาติมาเช่าที่ดินในประเทศไทยได้ถึง 99 ปี พี่น้องคนยากคนจนอยู่กันอย่างไรครับ ราคาพืชผลทางการเกษตร ปาล์มน้ำมัน เหลือเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท 80 สตางค์ ยางพารา ตกต่ำ ปาล์มตกต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่มีประเทศไทยมา ปัญหาประมงพื้นบ้านที่ไม่สามารถที่ออกไปทำมหากินได้ คือท่านมีอำนาจมากที่สุด แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ มันคาราคาซังมานานปรกฏว่าใครได้ประโยชน์ครับ บรรกดาเจ้าสัว นายทุน ได้ประโยชน์ มีการออกกฎหมายเอื้อเจ้าสัว นายทุน หลายฉบับ แล้วถามว่าทำไมท่านไม่รู้พอเพียงในการเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อท่านจัดระบบเข้าที่แล้ว เราจะไปยึดมั่นกับตัวบุคคลทำไม ถ้ายึดมั่นกับตัวบุคคล ถ้าพลเอกประยุทธ์ ท่านเป็นอะไรไป แล้วประเทศไทย จะไปทางไหนครับ ประเทศไทยจะทำอย่างไร คืออย่าไป ยึดว่าพลเอกประยุทธ์ ท่านเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองสงบ ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อท่านวางระบบไว้แบบนี้ ท่านจะมายึดตัวบุคคลอีกทำไม แสดงว่าใครก็ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี นะครับ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ถ้าท่านผูกขาดเฉพาะตัวท่่านเอง ผมต้องขออนุญาตถามว่า ถ้าท่านเป็นอะไรไป แล้วประเทศไทยไม่ถึงทางตันเหรอครับ


เติมศักดิ์- แต่ก็ต้องยอมรับว่าก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พปชร. หาเสียง ใช่สโลแกนว่า เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่ และเป็นผลให้พลังประชารัฐได้เสียง ส.ส. มาเป็นอันดับสอง ป็อปปูล่าโหวตมาเป็นอันดับหนึ่งอีกด้วยซ้ำไป นั่นก็หมายความว่าคนไปลงคะแนน เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่ แล้วทำไมประชาธิปัตย์ไม่คิดว่าการเลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง ความสงบมันจะเกิดขึ้น ความขัดแย้งมันจะหายไป


วัชระ- ก็มันตั้งเค้า มันตั้งเค้าของความไม่สงบนะครับ เพราะอะไรครับ ก็เพราะว่า เราต้องะพูดตรงไปตรงมา ผมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนี่ย เคยพูดกันต่อสหน้าต่อตา ในที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณ ท่านเคยฟังการอภิปรายในกรรมาธิการงบประมาณ ในขณะที่ท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบก ท่านไปของบประมาณของกองทัพบก ในขณะที่ ส.ส. ฝั่งเพื่อไทย ยังพูดจาเสียดสีท่าน ผมซึ่งเป็นฝ่ายค้าน เราก็พูด ให้ความยุติธรรมกับท่าน


เติมศักดิ์- ให้ความเป็นธรรม


วัชระ- ให้ความเป็นธรรมครับ พูดจบท่านก็ยกหัวแม่โป้งให้ผม บอกว่า น้าวัชระ แน่มาก ผมก็ขอกราบขอบพระคุณท่าน แต่ก็ไม่เคยคิดว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ท่านก็ทำการรัฐประหาร เราต้องพูดตรงไปตรงมากับท่าน เพราะถ้าท่านอยู่ในอำนาจต่อไป จะเป็นชนวนของความขัดแย้ง ขัดแย้งตรงไหนครับ ก็คือการสืบทอดอำนาจ ของเผด็จการ ตรงนี้มันชัดเจนว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ แม้ว่าท่านจะอ้างว่าอ่านมาจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แต่พรรคการเมืองพรรคนั้นตั้งอยู่ที่ไหนครับ ตั้งมาจากทำเนียบรัฐบาล แล้วใช้จ่ายงบประมาณเท่าไหร่ครับ ก็อย่างที่รู้ที่เห็นกัน แล้วไม่ได้หมายความว่าเสียงที่ได้นั้น เป็นเสียงที่พี่น้องประชาชนลงคะแนนเสียงให้ทุกคน แต่เป็นเสียงจากไหน ก็ต้องพิสูจน์กันในข้อเท็จจริงต่อไป เพระาแม้แต่พรรคการเมืองอื่น ก็มีการจัดสรรคะแนน มีการเขียนใบรายงานคะแนนในแต่ละหน่วยเลือกตั้งเป็นลายมือเดียวกันก็มี แล้วคะแนนที่ได้ในหน่วยนั้น ปรากฏว่าให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่งแค่ 4 คะแนน แต่ตัวแทนของพรรคการเมืองเขาลงสมัคร เขายืนยันว่าแม้แต่คนที่ไปช่วย ญาติพี่น้องของเขามันก็เกิน 4 คนไปแล้ว แล้วเขาจะเหลือ 4 คะแนนได้ยังไง แล้วใบรายงานคะแนนก็เหมือนกันหมด เป็นเพระาอะไร


เติมศักดิ์- เพราะฉะนั้นการที่ประชาธิปัตย์จะไปเป็นนั่งร้านให้การสืบทอดอำนาจ อนาคตของประชาธิปัตย์ต้องเสียหายแน่


วัชระ- บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พี่น้องประชาชนจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับการที่มาเป็นนั่งร้านให้กับเผด็จการทหาร แต่จำนวนมากเหมือนกันบอกว่าต้องไปเป็นนั่งร้าน ต้องไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะฉะนั้นมันเป็นทางตัดสินใจยากลำบากมาก


เติมศักดิ์- เขาบอกว่า มันก็ดีกว่าให้อีกฝั่งหนึ่ง ที่เป็นฝั่งที่จุดๆๆ


วัชระ- แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมกับพรรคของคสช. พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ คะแนนเพียงพออยู่แล้ว มีส.ว.อยู่ในมือ 250 เสียง บวกกับคะแนนของส.ส.ในสภาร่าง เกินกว่า 150 เสียง รวมแล้วก็สามารถที่เป็นรัฐบาลได้ โดยประชาธิปัตย์ไม่ต้องไปเข้าร่วมก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็อยู่ที่กรรมการบริหารพรรค และส.ส.ของพรรคที่จะตัดสินใจ แต่ที่แน่ๆ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากทีเดียว ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป


เติมศักดิ์- วันนี้โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลงเมื่อตอนสาย พูดถึงการประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริการกับส.ส.ที่ตัดสินใจเรื่องนี้ในเย็นวันนี้ ท่านโฆษกบอกว่าหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ จะร่วมหรือไม่ร่วมอยู่บน 3 หลักการ เอาทีละข้อนะ 1.พรรคจะยึดประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการข้อแรกนี้ก่อน ถ้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล สนับสนุนลุงตู่เป็นนายกฯ ต่อ จะเสียหลักการข้อนี้ไหม ยึดประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง


วัชระ- คือตรงนี้อยู่ที่การตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรค อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว เมื่อตัดสินใจอย่างไร ก็ต้องอธิบายว่าได้ยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้งรึไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรจะเริ่มจากอุดมการณ์ของพรรคด้วยซ้ำไป แม้นว่าจะไม่ได้พูดถึงอุดมการณ์ของพรรค แต่ในข้อนี้ก็ชัดเจนครับ ว่าพรรคการเมือง นักการเมือง เราต้องยึดประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข อย่างชัดเจนชัดเจน เพื่อที่จะให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ประชาธิปัตย์สามารถเป็นรัฐบาลก็ได้ ฝ่านค้านก็ได้ เป็นรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ฝ่านค้านก็เป็นฝ่ายค้านที่เฉียบคม เพระาท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นอดีตท่านประธานฝ่ายค้าน


เติมศักดิ์- การที่ประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้าน หรือจะเป็นฝ่ายค้านอิสระอย่างที่พูดกัน ในสถานการณ์ของรัฐบาลแบบนี้จะทำได้ดีกว่าเป็นรัฐบาลรึเปล่าครับ ถ้าเปรียบเทียบนะ ถ้าเอาหลักการข้อหนึ่ง ยึดประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายตรวจสอบหรือเป็นฝ่ายรัฐบาลจะดีกว่า


วัชระ- ถ้าให้ผมเลือกนะ ผมก็เป็นฝ่ายตรวจสอบ เพราะว่าหน้าไพ่มันเห็นๆ นะครับ มันเปิดไพ่เล่นกันแล้ว เพราะว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาเนี่ย มันไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคง เสียงในสภาฯ ปริ่มน้ำมาก โหวตท่านรองสภาฯ ได้ 248 เสียง ต่อ 246 เสียง ก็แสดงว่าการเสนอกฎหมายทุกฉบับมีโอกาสคว่ำได้ตลอดเวลา แม้เพียงเสียงเดียวถ้ากฎหมายที่รัฐบาลเสนอไม่ผ่านสภาฯ ก็ลากออกอ่างเดียวครับ


เติมศักดิ์- แล้วเราก็เห็นปรากฏการณ์ต่อรองกันทุกนาทีผ่านทางการเลือกประธาน รองประธาน นี่นะ


วัชระ- ใช่ครับ


เติมศักดิ์- ซึ่งเป็นการต่อรองผลประโยชน์ใช่ไหม


วัชระ- ตรงนั้นผมไม่ทราบนะครับ เพราะว่าเราไม่ได้ไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่พรรคก็จะต้องตัดสินใจครับ ว่าเดินแนวทางไหน และที่สำคัญเมื่อตัดสินใจแล้ว เราก็ต้องรักษาท่านอดีตหัวหน้าพรรคคือท่านอาจารย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไว้ให้ได้ เพราะถ้าตัดสินใจไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการที่ท่านเคยประกาศจุดยืนเอาไว้ สมมุติว่าถ้าท่านลาออกจากการเป็นส.ส.ขึ้นมา พรรคประชาธิปัตย์จะได้หรือเสียครับ


เติมศักดิ์- ถ้าถามคุณวัชระประเมินยังไง หลังจากถ้าตัดสินใจเข้าร่วมแล้ว คุณอภิสิทธิ์ลาออกจากส.ส. ประชาธิปัตย์เสียหายมากไหม


วัชระ- เสียหายมากครับ เพราะท่านเป็นอดีตหัวหน้าพรรคมายาวนานกว่า 10 ปี แต่ท่านบุคคลากรสำคัญของพรรค เราต้องรักษาไว้ ทุกท่านครับไม่มีความประสงค์ที่จะให้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตหัวหน้าพรรค น้องๆ กลุ่มนิวเดมบางท่าน หรือใครก็ตามที่จะออกจากพรรคไปด้วยเหตุผลที่ว่าการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้


เติมศักดิ์-หลักการที่สองที่คุณราเมศเอ่อยไว้ในคำแถลงเมื่อช่วงสายวันนี้บอกว่า พรรคจะยึดนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน ที่ต้องมีการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางใด จะยึดชุดนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ คำถามก็คือว่าตกลงนโยบายของประชาธิปัตย์ กับนโยบายพลังประชารัฐ สอดคล้องไปกันได้ ล่มหัวจมท้ายไปกันได้ใช่ไหมครับ หรือว่าขัดกันจนไม่น่าไปร่วม


วัชระ- มันไปคนละทาง คือผมคิดว่านโยบายของพรรคพลังประชารัฐ กับนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ไปคนละทางอย่างแน่นอน และไม่อาจที่จะสอดคล้องกันได้ แต่ถ้าเขาได้ดำเนินการตามนโยบายที่พรรคได้นำเสนออย่างชัดเจน และจริงจัง และเป็นไปได้ ก็สุดแท้แต่คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นคนตัดสินใจ


เติมศักดิ์- เอาประสบการณ์ 5 ปีที่ผ่านมา ที่คุณวัชระ ตรวจสอบเรื่องการทุจริต 1 ตัวอย่างก็ได้ นโยบายเกี่ยวกับการตรวจสอบการปราบปรามการทุจริต ถ้าดูจากพฤติกรรมของ 5 ปีคสช. ถ้าเราได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นหัวหน้ารัฐบาลอีก นโยบายแบบนี้อย่างที่คุณวัชระตรวจสอบหลายโครงการเลย มันจะเข้มแข็งไหม รัฐบาลที่มีพลอ.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง


วัชระ- มันก็หาทางเข้มแข็งไม่ได้ครับ เพระาที่ผ่านมาที่ท่านมีอำนาจเต็มนะครับ เราก็เห็นว่าไม่ได้มีการตรวจสอบการทุจริตอย่างจริงจังแต่ประการใด


เติมศักดิ์- ปล่อยปละละเลยไหม


วัชระ- เมื่ออดีตท่านค่อนข้างจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่นะครับ อาจจะเพราะไปเกี่ยวพันกับใคร ก็สุดแท้แต่ มันก็ตรงนั้นทำให้มองเห็นอย่างชัดเจนนะครับ ท่านไม่ได้จริงจังอย่างที่ท่านประกาศในวันต่อต้านคอรัปชันประการใด คือผมขออภัยที่ไม่ยกตัวอย่างนะครับ


เติมศักดิ์- ครับ ได้ครับ


วัชระ- เพราะเกรงว่าจะกระทบ


เติมศักดิ์- แต่อย่างนี้ คือเสียงจากสังคมเขามองว่ามันมีการเอื้อให้กับเพื่อนพ้องน้องพี่ แต่คราวนี้พอเป็นรัฐบาลเลือกตั้งร้อยพ่อพันธุ์แม่ มาจากกลุ่มนู้นกลุ่มนี้ดูดเข้ามา โอ้โหระบบการตรวจสอบการทุจริต การปล่อยปละละเลยมันจะมากขึ้นไหม เพราะว่ากลุ่มนู้นก็อยากได้อย่างนี้ กลุ่มนี้ก็อยากได้อย่างนี้ บนพื้นฐานของการต่อรอง ถ้าไม่อย่างนั้นเสถียรภาพของรัฐบาลก็ไมมี


วัชระ- ผมก็คิดว่าเป็นเหงาตามตัวนะครับ และในที่สุดลุงตู่เองนั้นแหละครับ ที่จะปวดหัว คือต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อท่านแรกมาก็ต้องยอมรับว่าท่านเป็น บางคนเรียกว่าเป็นบุรุษมาสยบความขัดแย้งของคนในชาติ แต่เมื่อท่านแสดงฝีมือบริหารประเทศชาติ ปรากฏว่าคนที่เคยสรรเสริญท่าน ก็สรรเสริญไปในอีกทางหนึ่ง ก็อย่างที่สุดแล้วท่านก็ไม่ได้ทำตามอย่างที่ประกาสแต่ประการใด


เติมศักดิ์- มันจะลักษณะคล้ายๆ กับรัฐบาลของจอมพลถนอมไหมครับ ที่ในที่สุดมันก็จับปูใส่กระด้งจนต้องปฏิวัติตัวเอง


วัชระ- มันก็อาจจะยิ่งกว่า เพระาว่าเสียงมันปริ่มน้ำเหลือเกิน ในขณะที่รัฐบาลจอมพลถนอม พรรคสหประชาไทยได้เสียงข้างมากอย่างชัดเจน อันนี้มันเสียงห่างกันแค่ 2 คะแนน หรือว่า 5 คะแนน 10 คะแนน โอกาสที่มันจะพลิกมันจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา


เติมศักดิ์- เพราะฉะนั้นมันมีต้นทุนของการซื้อใจตลอดเวลา


วัชระ- ใช่ครับ


เติมศักดิ์- และมันมีต้นทุนของการไม่ให้มีงูเห่าตลอดเวลา


วัชระ- ผมอยากจะเรียนแบบนี้นะครับ เอาเป็นว่าตั้งแต่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะขานชื่อเป็นรายบุคคลนะครับ แล้วส.ส.ก็ต้องลุกขึ้นยืน แล้วส.ส.ต้องพูดว่าเห็นชอบ หรืองดออกเสียง ถ้าเป็นฝ่ายค้านจะงดออกเสียงเป็นมารยาท แต่ว่าในสมัยที่ผมเป็นผู้แทนราษฎร มีผม มีคุณบุณยอด สุขถิ่นไทย และคุณอรรถพร พลบุตร เรา 3 คน มองขาดเลยครับว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ไม่ได้ พวกผม 3 คนก็สวนกลับไปเลยครับว่าไม่เห็นชอบ เรามาดูในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อประชาธิปัตย์หาเสียงมาทั่วประเทศ ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ บรรดาท่านรองหัวหน้าพรรค แกนนำพรรคไปปราศรัยที่ไหน ต่างก็บอกให้ลุงตู่กลับบ้านไปเลี้ยงหลาน แล้วถ้ามายืนเป็นส.ส. แล้วลุกขึ้นยืนขานว่าจะเห็นชอบหรืองดออกเสียง หรือไม่เห็นชอบ ถ้าท่านลุกขึ้นยืนบอกว่าเห็นชอบ ชาวบ้านที่เคยฟังท่านปราศรัยในจังหวัดนั้นๆ เขาจะคิดยังไง ในขณะที่คุณไปปราศรัย ไปอภิปรายไว้วางใจเขาในชนบท ไม่อาจที่จะเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป มีส.ว. 250 คน ก็เป็นส.ว.ที่แต่งตั้งมาคนเดียว แล้วมีสิทธิไปเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ว่าย้อนหลังไปแล้ว กลับมาปัจจุบัน ท่านมาโหวตเห็นชอบให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองหรือไม่ สะบัดใส่ต่อพี่น้องประชาชนหรือไม่ ตรงนี้ประวัติศาสตร์ก็จะจารึกเอาไว้ แล้วมันจะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ แล้วเมื่อไม่เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ กฎหมายแต่ละฉบับ เวลาผ่านกฎหมายเขาไม่ได้ลุกขึ้นยืนแล้วขานชื่อนะครับ เขาใช้วิธีการเสียบบัตรหรือว่าหย่อนบัตรลงคะแนน ตรงนั้นล่ะครับ ถ้าเสียงพลิกกลับมาเป็น 5 เสียง 10 เสียง รัฐบาลก็ต้องล่มในวันนั้นเลย


เติมศักดิ์- หลักการข้อที่สาม ซึ่งก็สำคัญมากเหมือนกันเพราะประชาธิปัตย์เคยมีจุดยืนไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกต้องไหมครับ


วัชระ- ครับ


เติมศักดิ์- ที่นี้ในการเจรจาก็ปรากฏว่าคุณราเมศบอกว่าการจะรับหรือไม่รับ อยู่บนหลักการนี้ด้วย คือต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย มีความชัดเจนในการพัฒนาประเทศให้บ้านเมืองเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ คำถามก็คือว่าถ้าประชาธิปัตย์ยอมร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ที่สุดแล้วหลักการข้อนี้จะถูกผลักดันได้จริงๆ หรอ


วัชระ- ก็อยู่ที่ว่าเขาสั่งส.ว.ได้หรือไม่ เพราะตรงนี้ต้องยอมรับว่าส.ว. 250 คน ที่พล.อ.ประยุทธ์ตั้งเอาไว้ หนึ่งในสามต้องเห็นชอบด้วย แต่ว่าถ้าส.ว.หนึ่งในสามไม่เห็นชอบด้วย ก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ พรรคพลังประชารัฐหรือสมมุติว่าเป็นพรรคนั้น หรือคนที่มีอำนาจพอถึงที่สุดเวลาไปแก้จริงๆ เขาก็อ้างว่า ส.ว. ก็คุมไม่ได้ ส.ว. เป็นอิสระ ส.ว.ไม่เห็นชอบด้วยก็แก้ไม่ได้ เขาเขียนรัฐธรรมนูญไว้ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมือนใครในโลกพรรคประชาธิปัตย์ โดยการนำท่านหัวหน้าพรรค ท่านชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วมีการซุกซ่อนมาตรา 44 เอาไว้ มีการซุกซ่อนอำนาจ ส.ว. ไว้ และมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีด้วยซึ่งไม่มีมาในประวัติศาสตร์เราก็ได้นำเสนอ แต่เมื่อพี่น้องประชาชน โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยเหตุผลที่ว่าอยากให้มีการเลือกตั้ง หรือว่าอยากให้ประเทศมีความสงบ หรืออยากให้มีรัฐธรรมนูญใหม่เร็วๆ แต่ในที่สุดประชาธิปัตย์ก็ได้ นำทาง นำแสงสว่างให้พี่น้องประชาชนไว้ล่วงหน้าแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องอย่างไร และจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร เพราะมันไม่เป็นประชาธิปไตย และมันเป็นเผด็จการที่ซุกซ่อนเอาไว้ ในกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ปรากฎว่ามันไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง เพราะคนที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีอำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งซุกซ่อนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้


เติมศักดิ์- คือคุณวัชระ กำลังจะบอกว่าเขาออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเพื่อเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ เพราะฉะนั้นเขาจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดความ


วัชระ- ไม่มีทางๆ แล้วเขาวางไว้ให้ถึงขนาดที่ว่า ส.ว. มีอำนาจมีอายุถึง 5 ปี ก็เท่ากับว่ารัฐบาลต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 ครั้ง ถ้าอยู่ครบวาระก็ 4 ปี ก็บวกอีก 4 ปี ก็เป็น 8 ปี เพื่อเราจะได้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกนานถึง 8 ปี อย่างนั้นเชียวหรือครับ


เติมศักดิ์-เพราะฉะนั้น 3 หลักการนี้ ต่อให้จบลงที่โต๊ะเจรจาว่าโอเค แต่ในทางปฎิบัติแล้ว มันยากที่จะเป็นไปตามหลักการ 3 ข้อนี้ใช่ไหมครับ


วัชระ- เขาก็สามารถที่จะอาจและปลิวไปได้ว่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภา เขาไม่สามารถที่จะไปสั่งได้ทั้งๆที่เขามีคนแต่งตั้งคือ ส.ว. ที่มาเคยโจมตีว่าเป็นส.ว. ผัวเมีย แต่นี้มันยิ่งกว่าอีกครับ เครือญาติ พี่น้อง เพื่อนผอง เอามาหมด แต่ก็ยอมรับว่ามีคนเก่ง คนดีอยู่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะผู้หญิงเก่งๆ ก็เข้าไปหลายท่าน


เติมศักดิ์- เมื่อวานนี้ ทั้งหมดนี้ก็คือเหตุผล ที่ทำไมคุณ วัชระถึงตัดสินใจ เมื่อมี พปชร.มาสู่ขอประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาล พอ พปชร.กลับไปคุณวัชระ ก็มาชูป้าย ไม่เอาประยุทธ์เป็นนายก คุณหมอวรงค์บอกว่าผิดมารยาท เราต้องเป็นเจ้าภาพที่ดีสิ จะชี้แจงว่ายังไงครับ


วัชระ- คือคุณหมอวรงค์ ท่านเป็นคนที่เชียร์พลเอกประยุทธ์อยู่แล้วครับ ผมไม่ได้เสียมารยาท เพราะถ้าเสียมารยาทคือไปชูต่อหน้า


เติมศักดิ์- จริงๆคิดจะชุต่อหน้าไหม


วัชระ- ไม่คิดเพราะว่าเราให้เกียรติ คือเขามาเราก้ไม่รู้ว่าเป็นตำรวจหรือว่าเป็นโจร แล้วแต่ละคนที่มามีคดีทุจริตติดตัวมาบ้างหรือไม่ ผมคิดว่าคุณหมอวรงค์ต้องรู้ดีแก่ใจ ว่าคนไหนมีคดีทุจริตอยู่ใน ปปช.เรื่องไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องนู้น และท่านดูสิครับ ถ้าหัวหน้าพรรคมาต้อนรับมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าดีจริงหัวหน้าพรรคต้องมาต้อนรับ นี่ท่านหัวหน้าพรรคไม่ได้มาต้อนรับ


เติมศักดิ์- แต่ฝ่ายนั้นหัวหน้าเลขา ส่งระดับหัวหน้าเลขแกนนำมา แต่ทำไมประชาธิปัตย์ไปเสียมารยาท แค่เป็นเลขาพรรคไปต้อนรับละครับ นี่เขามีคนถามแบบนี้นะ


วัชระ- คือพรรคเราไม่ได้เสียมารยาทนะครับ เป็นหน้าที่ของแม่บ้าน ไปที่พรรค เลขาธิการพรรคก็คือแม่บ้าน ถามว่าผมเคารพไหมหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผมไม่เคารพนะครับ ผมมีสิทธิ์ที่จะไม่เคารพเพราะอะไร เพราะเขาเป็นหนึ่งในคดีทุจริตแบงก์กรุงไทยหมื่นล้าน ที่ให้กลุ่มกฤษดานครกู้ไป หนึ่งหมื่นล้าน ที่คุณทักษิณสั่ง คุณอุตตม สาวนายน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายอนุมัติสินเชื่อเกินกว่าหนึ่งพันล้านอยู่ในธนาคารกรุงไทยในขณะนั้น แต่คุณอุตตม ไม่มีความผิดครับ แต่ว่าคุณวิโรจน์ นวลแข โดนไปหลายปีนะครับ ผมก็มีสิทธิ์ที่ยังไม่เคารพ เพราะว่าเขาเอาเปรียบพวกเราไปตั้งพรรคการเมืองในธรรมเนียบรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีก็ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขาเอง กว่าจะลาออกมาเพื่อที่จะดำเนินการทางการเมือง ก็ถ่วงเวลาอยู่นาน ถ้าจะตั้งพรรคการเมืองก็ต้องลาออกจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ไม่ใช่ว่าอาศัยกระทรวงต่างๆเป็นเครื่องมือในการทำงานบางประการ ซึ่งพี่น้องประชาชนก็เห็นว่าพรรคการเมืองพรรคนี้ เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆอย่างไรบ้าง


เติมศักดิ์- เพราะฉะนั้นไม่เคารพ


วัชระ- เราก็มีสิทธิ์ไม่เคารพนะครับ และเราในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรค เราก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น ในระบบประชาธิปไตยว่าเราไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสิทธิเสรีภาพ ตามระบบประชาธิปไตย คุณหมอวรงค์จะเชียร์ลุงตู่ก็ว่าไป อยากเป็นรัฐมนตรีท่านก็ว่าไปของท่านนะครับ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับท่าน ว่าท่านมาพาดพิงผม ผมก็ต้องอธิบายว่าผมมีสิทธิ์และบรรดาสมาชิกพรรค พี่น้องประชาชนก็ฝากผมมาด้วยว่าควรไปแสดงจุดยืนอย่างนี้ ให้กรรมการบริหารพรรคได้เห็นว่ามีสมาชิกพรรคจำนวนมากที่ไม่เห็นชอบในแนวทางนี้ เราไม่อาจที่จะไปร่วมมือกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ หรือเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของเผด็จการได้ แต่นี่ก็เป็นทักษณะส่วนตัวของผม เพราะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ของพรรค ท่านก็อิสระในการตัดสินใจ แต่สมาชิกพรรคอย่างพวกเราทั่วประเทศ เราก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น คือคุณหมอวรงค์ถ้าท่านดีจริง ท่านชนะเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคไปแล้ว ลงสมัครส.ส.เขต 1 พิษณุโลก ท่านก็แพ้อย่างหลุดลุ่ย หรือว่าเมื่อผมจะไปจังหวัดพิษณุโลก เจอท่านที่สนามบิน ท่านก็ถามผมไปไหน ผมก็บอกว่าไปพิษณุโลก ท่านก็ถามว่าไปทำไม ไม่มีที่เที่ยว ท่านพูดอย่างนี้ผมก็ไม่รู้ว่าท่านมีมารยาทดีหรือไม่อย่างไร ในที่สุดพี่น้องประชาชนชาวพิษณุโลกก็ไม่เลือกท่านเลย ถ้าท่านดีจริง เป็นวีรบุรุษจริง ชาวพิษณุโลกก็เลือกท่านเป็น ส.ส. ไปแล้ว


เติมศักดิ์- ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มีกระบวนการ ได้ออกแบบกระบวนการที่จะรับฟังเสียงของ คือนอกจากกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. แล้ว เสียงของสมาชิกพรรค พรรคประชาธิปัตย์ได้พยายามที่จะหยั่งเสียงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือเปล่า ตกลงเห็นด้วยไหมกับการร่วมไม่ร่วมรัฐบาล กับการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายก


วัชระ- ผมก็ไม่ทราบว่าทางคณะกรรมการบริหารพรรคได้มีการหยั่งเสียงบ้างหรือไม่ แต่เท่าที่ผมสดับรับฟังเสียงจากเพื่อนสมาชิกทั่วประเทศ เท่าที่ผมได้รับฟังส่วนใหญ่ไม่ร่วมครับ และเสียงของสมาชิกก็สำคัญนะครับ กรรมการบริหารพรรคก็รับฟัง ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรก็เคารพคณะกรรมการบริหารพรรค เพราะเราเลือกกรรมการบริหารพรรคไปเป็นตัวแทนของพรรคเราแล้ว แต่อย่างไรก็ตามกรรมการบริหารพรรค ก็มามีอำนาจในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ไป อย่างบางท่านเราไม่เคยคาดคิดมาก่อน ว่าท่านจะออกจากประชาธิปัตย์ ก็กลายเป็นว่าท่านต้องออกจากประชาธิปัตย์ไป ทั้งๆที่เวลาท่านอยู่ในอำนาจ ท่านมีอำนาจมากที่สุด สูงสุดแต่เพียงคนเดียว แต่วันหนึ่งท่านก็ออกไป แต่สมาชิกพรรคอยู่ไปตลอดชีวิต


เติมศักดิ์- คุณวัชระ จะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ยังไงครับ ถ้าวันนี้พรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมรัฐบาล พปชร. แล้วก็สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายก


วัชระ- ผมก็ต้องดูท่านอดีตหัวหน้าพรรค ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งท่านเป็นผู้มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนว่า ท่านจะตัดสินใจอย่างไร แต่ว่าสิ่งนั้นยังไม่เกิด และมติพรรคก็ยังไม่ออกมา เมื่อมติพรรคออกมาเราก็มาดูกันว่าท่านตัดสินใจอย่างไร สำหรับผมเมื่อแรกเริ่มสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็กราบเรียนท่านหัวหน้าพรรคทุกท่าน ว่าผมสังกัดประชาธิปัตย์ไปตลอดชีวิต และสิ่งที่ผมทำด้วยความคิดที่เป็นอิสระ และมีเสรีภาพภายในพรรค พรรคเราไม่ใช่พลทหารที่พลเอกจะมาสั่ง ซ้ายหันขวาหัน หรือไปกวาดบ้าน หรือไปทำความสะอาดห้องน้ำให้บ้านเจ้านาย พรรคเรามีเสรีภาพ และผู้บริหารพรรคทุกคนเขาฟังเสียงสมาชิก ทุกคนอยู่กันอย่างพี่น้อง ผมออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่ต้องมีใครสั่งให้มา แต่สิ่งที่ผมพูดตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคัดค้านรัฐธรรมนูญ พูดเรื่องสนับสนุนท่านหัวหน้าพรรคแต่ละท่าน ผมก็มักจะอยู่ในส่วนที่ชนะเสมอมา ไม่ว่าสนับสนุนหัวหน้าพรรคท่านไหนก็ชนะทุกท่าน หรือถ้าเราจะเกินทิศทาง ทางการเมืองอย่างไร เมื่อเราได้ออกมาอภิปราย ออกมาแสดงความคิดเห็น พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีหลักการณ์ มีอุดมการณ์ เราก็มักจะมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่ถึงที่สุดเชื่อเถอะครับว่า ภายใต้แกนนำท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคท่านปัจจุบัน ซึ่งถอดแบบมากจากท่าน ชวน หลักภัย และท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็จะเป็นที่พึ่งเป็นทางออกให้กับประเทศชาติและประชาชนโดยยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญอย่างแน่นอน


เติมศักดิ์- พูดถึงคุณจุรินทร์ พูดตอนหาเสียงครั้งล่าสุดก่อนเลือกตั้ง 24 มีนา ว่า ตอนนี้ประชาชนมีทางสามแพร่ง ในการเลือกตั้ง ในการตั้งสินใจทางการเมืองครั้งนี้ ก็คือจะเอาประชาธิปไตยที่ทุจริต จนกระทั่งนำไปสู่การยึดอำนาจเหมือนที่ผ่านมา หรือจะเอาประชาธิปไตยที่วิปริต ออกแบบกฎกติกาให้คนๆหนึ่ง เลือก ส.ว. 250 ให้ ส.ว. 250 กลับมาเลือกตัวเองเป็นนายก หรือจะเลือกประชาธิปไตยสุจริต สามทางแพร่งนี้ก็คือ ทางแพร่งของประชาธิปัตย์ในวันนี้ด้วยใช่ไหมครับ ว่าจะเอาประชาธิปไตย ทุจริต วิปริต หรือสุจริต


วัชระ- เอาแน่นอนครับ เพราะว่าท่านจุรินทร์ เป็นคนที่มีหลักการ เป็นคนละเอียด และมีเหตุผล
เติมศักดิ์- ทุจริตเราไม่เอาแน่


วัชระ- ไม่เอาครับ วิปริตก็ไม่เอาครับ


เติมศักดิ์- มันวิปริตอย่างไร 5 ปีที่ผ่านมา เขาทำวิปริตอะไรครับ ถึงขนาดไม่ร่วมสังฆกรรม


วัชระ- คือผมคิดว่าคำตอบนั้นอยู่ในใจของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศแล้ว เพียงแต่ว่ามีคนจำนวนมาก จำนวนหนึ่งที่เชียร์พลเอกประยุทธ์อย่างสุดจิตสุดใจ ไม่ว่าจะเป็น สาขาอาชีพใดก็ตาม คิดว่าถ้าขาดพลเอกประยุทธ์แล้ว ประเทศไทยอาจจะล้มจมด้วยซ้ำ อย่างไงก็ต้องลุงตู่ คือลุงตู่ทุกอย่าง แต่คนอีกฝ่ายหนึ่งเหมือนกัน เขาบอกว่า ลุงตู่คือต้นต่อของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


เติมศักดิ์- มีคนพูดเหมือนกันว่า ถ้าไม่เอาลุงตู่ตกลงคุณจะไปร่วมมือกับพวก ขอโทษนะครับ เราไม่ได้กล่าวหาใคร แต่มีคนพูดอย่างนั้น จะไปร่วมมือกับพวกโกงจำนำข้าว เผาบ้านเผาเมือง


วัชระ- ไม่ครับๆ ไม่มีทางเลยครับ


เติมศักดิ์- มันมี 2 อย่างนะ ถ้าไม่สนับสนุนลุงตู่ ก็ไปทางฝั่งนั้นสิ


วัชระ- ไม่จำเป็นครับ ไม่จำเป็นต้องไปร่วมกับพรรคการเมืองอย่างนั้นก็สามารถที่จะเป็นพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ ในวันนี้แม้ว่าประชาธิปัตย์ไม่ไปสนับสนุน คสช. ไม่ไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็สามารถจัดตั้งได้อย่างแน่นอนครับ


เติมศักดิ์- เป็นฝ่านค้านอิสระหมายความว่าถ้าอันไหนเราเห็นว่าดี ก็สนับสนุน ถ้าอะไรที่ไม่ดี เราก็ค้านตรวจสอบอย่างนั้นหรือเปล่า คือไม่ใช่ค้านไปทุกเรื่อง ค้านเป็นเรื่องๆ สนับสนุนเป็นเรื่องๆ


วัชระ- ผมก็ว่าเป็นไปในทำนองนั้น


เติมศักดิ์- เป็นทางออกที่ดีที่สุดของประชาธิปัตย์วันนี้หรือครับ


วัชระ- ก็สุดแท้แต่คณะกรรมการบริหารพรรคจะตัดสินใจนะครับ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หรือว่าจะให้ฟรีโหวต หรือว่าจะไปในทิศทางไหน เป็นรัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน หรือว่าเป็นฝ่ายค้านอิสระ หรือว่ามีมติในทางใด หรือว่าฟรีโหวตให้กับ ส.ส.ในสภาได้มีสิทธิที่จะลงมติเห็นชอบไม่เห็นชอบงดออกเสียง ก็สุดแท้แต่สามารถเป็นไปได้ในทุกทางครับ เมื่อประเทศเราเดินไปมาถึงจุดนี้ ผมก็อยากจะวิงวอนเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองเราต้องช่วยกันรักษาสภาไว้ อย่าให้ทหารมายึดอำนาจอีก เมื่อมีสภาแล้วมันจะพิกลพิการขาดตกบกพร่องอย่างไร เราก็แก้ไขได้ครับ


เติมศักดิ์- ฝ่ายเชียร์ลุงตู่ เขาบอกพวกคุณละเลงเองเกมพวกนั้นทำกันจนยับเยินทหารเลยต้องเข้ามา ถ้านักการเมืองคุยกันได้ตั้งแต่วันนั้น ถ้านักการเมืองประนีประนอมได้ตั้งแต่วันนั้น ลุงตู่ก็ไม่ต้องเข้ามา


วัชระ- มีอดีตท่านหัวหน้าพรรคท่านหนึ่งนะครับเล่าให้ผมฟังบอกว่า วิกฤตการณ์ตอนนั้นมีการแนะนำให้ผู้นำม็อบหยุดแล้ว ทางรัฐบาลประกาศยุบสภาแล้ว ขอยุติเพื่อที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ให้ประเทศเดินต่อไปด้วยวิถีการเลือกตั้ง แต่ว่าผู้นำที่ไม่ต้องเอ่ยนามเขามีเป้าประสงค์ไปอย่างนั้น อย่างที่รู้ๆกัน มันเลยมีการรัฐประหาร ทั้งๆที่ว่าผู้อาวุโสในพรรคแนะนำให้หยุดแล้ว ให้พอแล้วแต่เมื่อเขาไม่ฟังก็ต้องการให้เดินไปสู่จุดนั้น อย่ามาอ้างว่านักการเมืองฝ่ายเดียว ทหารบางคนก็วางแผนจะยึดอำนาจอยู่แล้ว มันถึงมีการยึดอำนาจและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไปอย่างยาวนานไม่จบไม่สิ้น ถึงขนาดที่ว่าให้รัฐมนตรีลาออกมาเป็น ส.ว. ให้ สนช. กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เพื่อที่จะได้มีฐานอำนาจเพื่อที่จะมีสิทธิเลือกนายกฯ ต่อไปอีกยาวนานถึง 5 ปี


เติมศักดิ์- คุณวัชระบอกให้รักษาระบบรัฐสภาไว้ ก็นี่ครับมีรัฐสภาแล้วมีทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน นี่คือระบบสภา


วัชระ- ถูก แต่ไม่จำเป็นต้อง พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯก็ได้ จะให้คนทั้งประเทศเห็นด้วย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นนายกฯ ไม่ได้ครับ เรามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นว่าเราไม่เห็นด้วย ท่านใดที่เห็นด้วย เป็นสิทธิของท่าน เมือ่เราไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิของเรา แต่ไม่ใช่ว่าพอเราไม่เห็นด้วยก็มาด่าว่าฝ่ายเราว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมเมื่อความคิดเห็นแตกต่างกัน ทำไมเราไม่เารพความคิดเห็นซึ่งกันและกันไม่ใช่ว่าพอไม่เห็นด้วยกับพวกท่านเรากลายเป็นคนไม่ดี อย่างนี้หรือ ประเทศมั่นคง มั่งคั่งมีความสงบ มันไม่ใช่ครับ


เติมศักดิ์- การที่คุณชวน หลีกภัย ได้เป็น ประธานรัฐสภา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยที่พรรคพลังประชารัฐมายกมือสนับสนุนด้วยอันนี้ถือเป็นข้อแลกเปลี่ยนด้วยหรือคือข้อผูกมัดหรือเปล่า ว่าทางประชาธิปัตย์ก็ต้องยกมือหนุนลุงตู่เป็นนายกฯ และร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ


วัชระ- ผมไม่ทราบครับ


เติมศักดิ์- ประเมิน อย่างไร คุณวัชระว่านี้เป็นข้อต่อรองข้อแลกเปลี่ยนไหม


วัชระ- ถ้าผมประเมินนะครับ เพราะบารมีของนายชวน หลีกภัย เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายของสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้วครับ คือท่านชวนท่านมีความซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรม และเป็นคนที่ยึดหลักการมากครับ เพราะฉะนั้นการเสนอชื่อ ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่าว่าแต่พรรคนั้นพรรคนี้ พรรคน้อยที่เพิ่งเข้ามาก็ให้สัมภาษณ์สนับสนุนหลายเสียงครับ เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นที่สามารถเป็นประธานรัฐสภาได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะท่านเคยเป็นมาแล้ว 1 สมัย และเป็นนายกฯ มาแล้วถึง 2 สมัย เพระาฉะนั้น บรรดานัการเมืองให้การเชื่อถืออยู่แล้ว


เติมศักดิ์- เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องแยกกัน


วัชระ- ต้องแยกครับ และท่านก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังนะครับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องรัฐมนตรีแต่ประการใด


เติมศักดิ์- การที่ได้คนอย่างคุณชวน บุคลิกอย่างคุณชวน บารมีอย่างคุณชวน เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วคุณประยุทธ์เป็นประมุขฝ่ายบริหาร คิดว่าอย่างน้อยคุณชวนก็น่าจะทำหน้าที่ เป็นผู้ควบคุมเกมในสภา คอยถ่วงดุลเกมในสภาของคุณประยุทธ์ได้ดีหรือเปล่า อันนี้เป็นข้อดีข้อหนึ่งไหมครับคุณวัชระ


วัชระ- เป็นข้อดีหลายๆ ข้อ เลยครับ ตอนนี้เราไม่รู้ว่าใครเป็นนายกฯนะครับ เพราะการเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ท่านชวนเป็นประธานรัฐสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างนี้นะครับ ผมเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาจะเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนนอกเหนือจากการออกกฎหมาย คือเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องประชาชนในเรื่องความทุกข์ยากความเดือดร้อนต่างๆ เป็นที่สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ทุกอาชีพ อย่างเที่ยงธรรม เพราะท่านชวนท่านเป็นคนที่มาจากชนบทและท่านรับรู้ถึงความยกจนของประชาชนทั่วประเทศเป็นอย่างดี ท่านเป็นนักการเมืองเพียงคนเดียวที่กล้าพูดสวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อพล.อ.ประยุทธ์มาบอกว่านักการเมืองไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ วันละ 3 เวลาหลังอาหาร ท่านชวนกล้าจะสวนไปว่าทหารที่ไม่ดีก็มีครับ ท่านชวนเพียงคนเดียวที่กล้าสวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างมีศักดิ์ศรีของนักการเมือง


เติมศักดิ์- มองในแง่ของการประเมิน ลุงตู่ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือครับ ว่าได้สืบทอดอำนาจแน่


วัชระ- ตราบใดที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการครับ ผมก็ไม่เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ


เติมศักดิ์- อะไรทำให้ไม่เชื่อ ในเมื่อเขามี ส.ว. 250 มีกลไกอะไรต่างๆ เขาซื้อ ไม่ใช่ๆ ซื้อ เขาดูด ส.ส. มาได้ขนาดนี้


วัชระ- คือการเมืองมันเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนนะครับ เราอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าเป็นไปตามกฎหมายแล้วเราถึงจะเชื่อได้ และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกฯจริง เราต้องยอมรับ เพราะเราเป็นประชาชน เมื่อท่านมาเป็นนายกฯ ใหม่อีกครั้งนะครับ ก็แล้วแต่ท่านจะดำเนินการอย่างไร แต่เชือ่เถอครับว่าท่านเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ และสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนต้องใจจดใจจ่อในการลงคะแนนในแต่ละครั้ง เพราะถ้าว่าฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตแม้เพียงเสียงเดียว ท่านนายกฯ ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าได้เป็นนายกฯ ท่านต้องประกาศลาออกกลางสภา


เติมศักดิ์- ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์ จากการตัดสินใจวันนี้ สุดท้ายคุณวัชระอยากจะสื่อสารไปถึงบรรดาแฟนๆ ที่รักที่ชอบประชาธิปัตย์ อย่างไร โดยเฉพาะใน 3,900,000 เสียง


วัชระ- อย่าว่าแต่ 3,900,000 เสียง เลยครับ ประชาธิปัตย์เคยได้ถึง เกือบ 12 ล้านเสียงมาแล้วนะครับ คือพี่น้องประชาชนควรเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเพระามีการกดดันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการให้เป็นไปตามทิศทางที่ตนเองที่ตนเองต้องการ ซึ่งสร้างความลำบากใจมห้กับคนที่ต้องตัดสินใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ปัจจุบัน ซึ่งต้องตัดสินใจในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ก็อยากให้ฟังเหตุผลของการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งเมื่อยังไม่มีมติว่าตัดสินใจอย่างไร และถ้าหากเมื่อมีมติไปแล้วว่าเป็นเหตุผลที่พอฟังขึ้นหรือไม่ ฟังได้หรือไม่ และขอให้มองอย่างเข้าใจ เพราะไม่ว่าตัดสินใจไปในทิศทางใดก็จะมีคนที่ผิดหวังอีกฝ่ายหนึ่งเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ แต่ที่แน่ๆ ผมก็ไม่อยากให้บีบหัวหน้าพรรคท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจาก ส.ส. อย่างที่เป็นข่าวที่ว่ามา เพราะท่านลาออกจากที่ท่านรักษาจุดยืนทางการเมืองของท่าน พรรคประชาธิปัตย์เราก็สูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ที่ทำประโยชน์ให้พรรคและประเทศมายาวนาน 10 ปี ทุกคนควรร่วมมือกันเพื่อที่จะสร้างพรรคให้เป็นพี่น้องของประชาชนและแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศเพราะทุกวันนี้พี่น้องประชาชนประสบปัญหาความยากลำบากเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ประชาชนต้องการให้พี่น้องให้นักการเมือง เข้าไปมีส่วนในการแก้ปัญหา อย่าทำให้พี่น้องประชาชนต้องผิดหวัง


เติมศักดิ์- นี่คือพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าจะสื่อสารถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ละครับ สุดท้าย


วัชระ- ผมไม่รู้ว่าถ้าสื่อสารถึงลุงตู่นะครับ ท่านจะฟังผมหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งของให้ท่านชื่อเถอะครับว่าผมตรงไปตรงมา ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ผมเคยพูดต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2556 และ 2557 ภูมิใจที่สุดที่ท่านทำตามคือการไม่อนุมัติงบให้กับโครงการ ไอทีของสภาใหม่ที่สำนักเลาขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอไปในขณะนั้น 8,648,000,000 ล้านบาท ผมยื่นเสนอคัดค้านทันที ท่านก็ตีหนังสือกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรทันทีเหมือนกัน ว่าท่านไม่อนุมัติ เพราะเป็นงบที่โป่งพองเกินกว่าเหตุ ซึ่งเดิมตั้งไว้ 3,000,000,000 ล้าน โป่งพอง เป็น 8,648,000,000 ล้าน และล่าสุดมีการอนุมัติเมื่อเร็วนี้เพียง 3,351,000,000 ล้านบาท ตรงนี้ชัดเจนว่ามันเพิ่มขึ้นตั้ง 5 พันล้าน มันมีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร และท่านก็ฟังเสียงอดีตผู้แทนนอกสภาอย่างผม และท่านวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ที่ช่วยกันคัดค้าน ผมก็ภูมิใจ ว่าท่านก็ได้ฟังเสียงเราบ้าง แม้นว่าหลายๆเรื่องท่านไม่ฟังอย่างเรื่องให้ต่างชาติมาเช่าที่ดิน 99 ปี หรือเรื่องพี่น้องหาบเร่แผงลอยในกทม. ปัญหาของเกษตรกร หรือปัญหาเรื่องน้ำมันหรือไฟฟ้า ท่านก็ตัดสินใจไปในทิศทางของท่าน ผมก็อยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าควรที่จะได้ศึกษาอัตชีวประวัติพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นคนดีของประเทศเรา ในช่วงที่ท่านเป็นนายกฯ และช่วงสุดท้ายนั้น เมื่อบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ไปขอร้องให้ท่านกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง ท่านบอกกับบรรดาตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรค ว่าผมพอแล้ว ผมอยากได้ยินคำว่าผมพอแล้วจากท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านจะเป็นรัฐบุรุษของประเทศเรา ถ้าท่านยังอยู่ในอำนาจต่อไปท่านจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ขอให้ท่านเชื่อในระบบที่ท่านสร้างมา ในกฎหมายที่ท่านสร้างมา ในแผนยุทธศาสตร์ที่ท่านสร้างมา เมื่อท่านสร้างมาเป็นระบบเป็นกฎหมายแล้ว อย่ายึดติดในตัวบุคคล ควรพอได้แล้วครับ


เติมศักดิ์- วันนี้ขอบคุณมากครับ คุณวัชระครับ คนเคาะข่าวลาไปก่อนนะครับ สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น