xs
xsm
sm
md
lg

ความยิ่งใหญ่ “โชติช่วงชัชวาล” ของ ปตท.เกิดขึ้นยุค “ป๋า” พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่มา“เป๋”กลายร่างเป็น “บริษัท”หุ้นบูลชิพในยุคแม้ว “กำไรต้องมาก่อน” **เลือกตั้งเขต 8 เชียงใหม่ “ส้มหล่น” ใส่ “มาดามเดียร์” และ “น้องตั๊น” ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นกหวีด


ข่าวปนคน คนปนข่าว


** ความยิ่งใหญ่ “โชติช่วงชัชวาล” ของ ปตท. เกิดขึ้นยุค “ป๋า” พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ แต่มา “เป๋” ในยุคหลัง ผลการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จากองค์กรในใจของคนไทย กลายร่างเป็น “บริษัท” หุ้นบูลชิปในยุคแม้ว “กำไรต้องมาก่อน” มาถึงยุคนี้ จากกิจการพลังงานที่ดูแลความมั่นคงในประเทศ ไปสู่ความทะเยอทะยานเป็นกิจการพลังงานระดับโลก ทิ้งคนไทยเผชิญทุกข์ไว้เบื้องหลัง

คุณความดีที่ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” รัฐบุรุษ ประธานองคมนตรี และนายกรัฐมนตรี สร้างเอาไว้ให้กับประเทศนั้นมีมากมายหลายมิติ จะค่อยๆ ทยอยนำมาเล่าสู่กันฟัง ...วันนี้ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ

ความยิ่งใหญ่ของ ปตท.เริ่มต้นขึ้น ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ริเริ่มโครงการพลังงานเพื่อไทย แม้ว่าองค์กรจะตั้งไข่ในสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เมื่อปี 2521 ก็ตาม ... จุดเปลี่ยนที่ทำให้ “ปตท.โชติช่วงชัชวาล” มาจาก แผนแม่บทโครงการปิโตรเคมีของรัฐ ซึ่งก่อตั้งบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (National Petrochemical Corporation Ltd. หรือ NPC) เมือปี 2527 มีเป้าหมายสร้าง Petrochemical Complex ขั้นต้นของอุตสาหกรรม โดยนำก๊าซธรรมชาติที่เพิ่งถูกขุดขึ้นจากอ่าวไทย มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยความหวังที่จะทำให้ประเทศ “โชติช่วงชัชวาล”

แผนนี้อยู่ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์รัฐบาล พล.อ.เปรม โดยมี “ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ผลักดันอย่างแข็งขัน โครงสร้างนี้ถือเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมใหญ่ และเป็นรากฐานของการกำเนิดนิคมอุตสาหกรรมที่ขยายใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกมาจนถึงทุกวันนี้

บทบาทของ ปตท.สมัยนั้นดูเหมือนจำกัดไว้อย่างที่ควรจะเป็นดำเนินกิจการอย่างมีกรอบชัดเจน โดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์ด้านจัดหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งขยายตัวแนวตั้ง การเริ่มต้นลงทุน และดำเนินด้านสำรวจและผลิตเองในธุรกิจปิโตรเคมีจำกัด เพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทผลิตต้นน้ำเท่านั้น
 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
จากยุคโชติช่วงชัชวาล รากฐานที่ “ป๋าเปรม” สร้างไว้กับ ปตท. เข้าสู่ยุค “เป๋”...

ยุคที่ 2 ของ ปตท.มาพร้อมกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2542 ที่ตราขึ้นในสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นจุดเริ่มต้นที่ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของ ปตท. เนื่องเพราะกฎหมายฉบับนี้ระบุชัดว่า ปตท. “เป็นเครื่องมือของรัฐเมื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจจากรูปแบบเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐ … โดยการกระจายหุ้นที่รัฐถือไว้ให้แก่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน และการบริหารจัดการในกิจการที่รัฐวิสาหกิจเดิมดำเนิน การอยู่ได้ต่อไปในอนาคต “นี่คือหมายเหตุ ท้าย พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าไว้ และหลังจากนั้น ปตท.ที่ “โชติช่วงชัชวาล” เป็นองค์กรหนึ่งในใจของคนไทย ก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นขวัญใจของผู้ถือหุ้น และความภาคภูมิใจที่มี เปลี่ยนไปอยู่เฉพาะผู้บริหารและพนักงาน

การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จึงได้แปรสภาพรัฐวิสาหกิจ มาเป็น “บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)” ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 โดยให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบ พนักงาน ลูกจ้าง และส่วนธุรกิจทั้งหมดของ ปตท.ไปอยู่ที่ใหม่ (1 ตุลาคม 2544) ... ปตท.ได้เข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปลายปี 2544 ท่ามกลางกระแสข่าวอื้อฉาวกรณี “หุ้นผู้มีอุปการคุณ” จำนวนมากตกอยู่ในมือ นักการเมือง และลูกหลานผู้มีชื่อเสียง

ปตท.เป็นหุ้นที่แม้ช่วงปีแรกราคาหุ้นก็ขยับขึ้นอย่างช้าๆ แต่หลังจากนั้นก็ทำกำไรอื้อซ่า

ปตท. ช่วงนี้เป็นยุค “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นรัฐบาล( 17 ก.พ. 44 - 19 ก.ย. 49) เดินนโนบายรัฐบาลประชานิยม เต็มไปด้วยแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ ปตท.โกยกำไรมหาศาลเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น... สินทรัพย์จากระดับ 3 แสนล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาท ในปี 2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาทในปี 2548-49

ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ 400 บาท ในปี 2547 ปรากฏการณ์นี้บ่งบอกว่า ความเป็นรัฐวิสาหกิจในความหมายเดิมที่ว่าด้วยยุทธ์ศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานของปตท.เปลี่ยนไป กลายร่างเป็นบริษัทและหลักทรัพย์ ที่สร้างโอกาสอย่างมากให้กับนักลงทุนระดับกว้างขึ้น

คาถาที่ท่องกันเป็นประจำคือ ยิ่ง ปตท.เติบโตทำรายได้สูง ประเทศก็ยิ่งได้ มิใช่หรือ? เพราะกระทรวงการคลัง ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รายได้ก็นำเข้าแผ่นดิน ... ทว่า แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นข้างมาก ความที่ ปตท.กลายเป็นแม่เหล็ก หรือหุ้นบลูชิป มีบทบาทนำในตลาดหุ้นย่อมตามมาด้วยความคาดหมายของนักลงทุนที่สูงขึ้นๆ มีผู้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ในนามนักลงทุนจำนวนมากขึ้นๆ
ทักษิณ ชินวัตร
ชัดเจนว่า วงจรอุบาทว์ “กำไรสูงสุด” โดยการยกเหตุผล ว่าด้วยแรงกดดันเพื่อรักษาระดับราคาหุ้น ผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น กลายเป็นปัจจัยหนึ่งของการบริหารจัดการที่ละเลย “คนไทย” ตาดำๆ ที่หวังพึ่งพาบริษัทน้ำมันของคนไทย ใช่ หรือไม่

ยิ่งเมื่อมีโอกาสทางธุรกิจ ยิ่งเข้าสู่ยุคทองของธุรกิจพลังงานเปิดกว้าง ปตท. ยิ่งโหมกระพือการลงทุนไปทั่วทุกมุมโลก เพื่อรักษาผลประกอบการ ผสานกับการรับใช้ “รัฐ” ที่มีนักการเมืองส่งคนเข้ามาเป็น “บอร์ด” ได้กระตุ้น และเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์เดิมจากกิจการพลังงานที่ดูแลความมั่นคงในประเทศ ไปสู่ ความทะเยอทะยานเป็น “กิจการพลังงานระดับโลก”

เครือข่ายธุรกิจพลังงานครบวงจรภายใต้การสนับสนุนของรัฐ เป็นโมเดลของประเทศกำลังเติบโต ฟังดูดีสำหรับ ผู้บริหาร ปตท. แต่...สำหรับชาติ และประชาชนไม่ได้หลงไหลได้ปลื้มกับการเติบโตของ ปตท. แม้แต่น้อย ... น่าแปลกใจที่ ปตท.มาถึงจุดนี้ อย่างน้อยคนไทยก็ควรต้องภาคภูมิใจในความสำเร็จของ บริษัทคนไทยด้วยกัน ตรงกันข้าม “กำไรที่น่าเกลียด” ปีละหลายแสนล้านนั้น กลับถูกมองดูด้วยความหดหู่

ปี 61 ปตท.กำไรสุทธิ 119,683.94 ล้านบาท เทียบปี 60 กำไรสุทธิ 135,179.60 ล้านบาท ... เหมือนกับที่มีคนพูดกันเสมอว่า “ปตท.กำไรอู้ฟู่ แต่ความเป็นอยู่ของประชาชนยิ่งแย่”

ปตท.ใน พ.ศ.นี้ เดินตามทางสายใหม่ที่เชื่อว่าจะยิ่งใหญ่ ด้วยสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่อย่างยิ่งใหญ่ชั่วข้ามคืน ปตท.ไม่เพียงจะเข้าครอบงำกิจการของบริษัทต่างๆ ใช้เงินหลายแสนล้าน ซื้อกิจการโรงไฟฟ้า เตรียมเงินอีกหลายแสนล้าน ขยายการลงทุนไปในธุรกิจสารณูปโภค ทั้งท่าเรือแหลมฉบัง หรือโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง

เครือข่ายธุรกิจของ ปตท.วันนี้ เบ่งบานด้วยมูลค่ามหาศาล ขนาดของธุรกิจใหญ่ชนิดยากจะหากิจการไหนเทียบได้แล้วในประเทศนี้ เรียกว่า “ใหญ่คับประเทศ”... ปตท. “ยุคป๋าเปรม” เป็นไปตามสโลแกนที่ว่า “โชติช่วงชัชชวาล พลังงานบริสุทธิ์จาก ปตท.” นอกจากจะทำให้องค์กรรัฐวิสาหกิจของไทยลุกขึ้นมาต่อสู้กับ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่าง เชลล์, เอสโซ่, คาลเท็กซ์ ได้ด้วยนโยบายการเมืองภายใต้รัฐบาลป๋าเปรม ยังผลักดันให้ ปตท.ขยายการลงทุนที่เป็นรากฐานของความมั่นคงด้านพลังงานชองชาติ และประชาชน

นั่นคือ นอกจาก ปตท.จะโตแล้วผลที่ได้ด้านหนึ่ง ชาติได้ คือ การค้ำยันเศรษฐกิจของชาติเอาไว้ อีกด้านที่สำคัญคือ ประชาชนก็ได้ สามารถบริโภคพลังงานน้ำมันได้ในราคาที่ไม่ถูกเอาเปรียบ และเป็นธรรม... ต้องบอกว่า สมัยนั้นหากพูดถึงปตท.โชติช่วงชัชวาล ชาวบ้านร้านตลาดต่างพากันสัมผัสได้ ถึงความเป็นบริษัทน้ำมันของไทย เพื่อคนไทยจริงๆ...และต้องไม่ลืมว่า เงินลงทุนในการปิโตรเลียมฯ สมัยป๋าเปรมนั้น นั้น มาจากหยาดเหงื่อ แรงงาน และคราบน้ำตา ของคนไทยทั้งชาติ ภาษีของคนไทย ที่ช่วยกันทำให้ประเทศไทย มีความน่าเชื่อถือ ในนามของ ปตท.

แล้วทุกวันนี้เป็นอย่างไร?

เครือข่ายสังคมออนไลน์มักพูดกันว่า ปตท. คือบริษัทที่ขยายโตเร็วมาก “โชติช่วงชัชวาล” กันเฉพาะในบริษัท-ผู้ถือหุ้น และนักการเมือง กลายเป็นแหล่งทำมาหากินของผู้มีอำนาจ ผู้บริโภคก้มหน้าก้มหน้ารับสภาพใช้น้ำมันที่ไม่เหมือนยุคป๋า พูดทีไร “ค่าการตลาด” - “กลไลตลาดโลก” ต้องมาก่อน

สังเกตดูว่า ผู้ว่าฯ ปตท.ที่เกษียณ หมดวาระแล้ว ไปที่ไหนกันบ้าง หากไม่วนเวียนอยู่เทคโนแครต ก็ต้องเข้าสู่วงการเมือง บ้างเป็นที่ปรึกษา บ้างก็มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

เพราะเพื่ออะไร? รู้ๆ กัน

**เลือกตั้งเขต 8 เชียงใหม่ ผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ ชนะขาด แต่เมื่อนำคะแนนรวมทั่วประเทศมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปรากฏว่า “ส้มหล่น” ใส่ “มาดามเดียร์” จาก พปชร. และ “น้องตั๊น” จาก ปชป. ได้เป็น ส.ส. ทำเอา “เจ๊หน่อย” ถึงกับกรี๊ด!
วทันยา วงษ์โอภาสี - จิตภัสร์ กฤดากร
ผลการเลือกตั้งใหม่ ที่เขต 8 จ.เชียงใหม่ แทน นายสุรพล เกียรติไชยากร จากพรรคเพื่อไทย ที่ถูก กกต.แจก “ใบส้ม” ปรากฏว่า “น.ส.ศรีนวล บุญลือ” ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ เข้าวิน ด้วยคะแนน 75,891 คะแนน ทิ้งห่าง นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 119,636 คน ...เมื่อนำคะแนนมารวมกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่มีอยู่ 35,411,920 คะแนน ทำให้ผลคะแนนทั่วประเทศมียอดรวมอยู่ที่ 35,561,556 คะแนน ... เมื่อนำไปคิดคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ปรากฏว่าได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นมาอีก 2 คน คือ “มาดามเดียร์” น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี จากพรรคพลังประชารัฐ และ “น้องตั๊น” น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.เขต เพิ่มมา 1 คน แต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ที่เคยได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องพ้นจากการเป็นส.ส.ไป...เป็นอันว่า ขณะนี้มี ส.ส.ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อ รวมกัน ครบ 500 คนแล้ว

พลันที่มีข่าวว่า “มาดามเดียร์” และ “น้องตั๊น” ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามสูตรการคำนวณของกกต. ก็ปรากฏว่า "เจ๊หน่อย" คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ก็ออกมาโพสต์รัวๆ ว่า เลือกตั้ง 62 เพื่อไทยโดนใบแดง ส.ส.ฝ่ายปชต.หายไป 1คน เลือกตั้งซ่อมฝ่ายสืบทอดอำนาจแพ้ยับเยิน “อนาคตใหม่” ชนะขาด ฝ่าย ปชต.ได้ ส.ส.เขตคืนมา 1คน แต่..ฝ่ายสืบทอดอำนาจ กลับได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น 2 คน !! ชนะเยอะกลับยิ่งแพ้ เราต้องอยู่กับ กติกาบิดเบี้ยวแบบนี้ ไปอีกนานแค่ไหนคะ …

คราวนี้ลองมาสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าคิดกันอย่างไร โดยเริ่มจากคะแนนเสียงทั่วประเทศ ที่ขณะนี้มี 35,561,556 คะแนน หารด้วยจำนวน ส.ส.500 คน ผลออกมาเป็นค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน จะอยู่ที่ 71,123.112 คะแนน และเมื่อนำมาคิดตามวิธีคำนวณของ กกต.พบว่า ผลคะแนนที่มากขึ้น ทำให้เศษจุดทศนิยมของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้น เมื่อไล่เรียงดูแล้วทำให้ได้รับการจัดสรร ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่ง ขณะเดียวกัน เศษจุดทศนิยม ก็เบียดให้ พรรคไทรักธรรม ที่แต่เดิมได้รับการจัดสรรเก้าอี้ ส.ส. กลายเป็นไม่ได้ ส.ส. ส่วนพรรคอนาคตใหม่ แม้จะได้คะแนนส.ส.เขต ในการเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้ มาถึง 75,819 คะแนน แต่เมื่อนำมารวม และถูกเฉลี่ย จำนวนคะแนนก็ไม่ทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นจากเดิม

ดังนั้น ผลจากการเลือกตั้งใหม่ที่ เขต 8 จ.เชียงใหม่ ครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.เขตเพิ่ม 1 คน รวมมี ส.ส.เขต 31 คน และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คนเท่าเดิม รวมเป็น 81คน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ “มาดามเดียร์” เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มมา จากเดิมมี 18 คน ก็เป็น 19 คน เมื่อรวมกับ ส.ส.เขตอีก 97 คน รวมทั้งหมดเป็น 116 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ จากเดิมมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 คน เมื่อได้ “น้องตั๊น” มาเพิ่ม ก็เป็น 20 คน รวมกับส.ส.ระบบเขตอีก 33 คน รวมทั้งหมดเป็น 53 คน ส่วนพรรคไทรักธรรม มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ที่ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.คือ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรค เท่ากับได้เป็น ส.ส.เพียง 18 วัน เท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น