xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งรัฐบาลใกล้จบ-พลิกเสียงข้างน้อยรอยุบสภาล้างไพ่ใหม่ !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมืองไทย 360 องศา




นาทีนี้สำหรับการเจรจาและรวบรวมเสียง ส.ส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ดำเนินมาถึงจุดสำคัญที่สุดแล้ว นั่นคือต้องได้ข้อสรุปภายในปลายสัปดาห์นี้แน่นอน ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำหนดเอาไว้แล้วว่าจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนฯในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้

ขณะเดียวกันด้วยสภาพของการ"แบ่งขั้ว"การเมืองในแบบที่"ติดล็อก" และมีตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่ไม่มีจำนวนเสียง ส.ส.ฝ่ายใดมีเสียงข้างมากเด็ดขาดพอจัดตั้งรัฐบาลเหนืออีกฝ่ายหนึ่งได้ ทำให้เกิดสภาพในลักษณะที่ทุกพรรค"ทุกเสียง"สามารถเป็น"ตัวแปร"ได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เวลานี้การเจรจาต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความยืดเยื้อ

แม้ว่าหากพิจารณาจากองค์ประกอบรอบด้านแล้วมองว่าขั้วฝ่ายพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจะได้เปรียบอีกขั้วหนึ่งที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่เคยพรรคพันธมิตร 7 พรรคเป็นแนวร่วม แต่อย่างที่เข้าใจกันก็คือในเมื่อทุกเสียงเป็นตัวแปร มันก็ยิ่งเปิดโอกาสให้บรรดาพรรคการเมืองที่คาดว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลต้องการเจรจาเพื่อต่อรองในสิ่งที่"ตัวเองอยากได้มากที่สุด"ซึ่งในที่นี้ก็คือ "จำนวนเก้าอี้รัฐมนตรี"รวมไปถึงระดับกระทรวงเกรดที่ดีที่สุดด้วย

เหมือนกับที่เวลานี้ พรรคประชาธิปัตย์กำลัง"แพ็ก"กันแน่นกับพรรคภูมิใจไทย เพื่อต่อรองเก้าอี้กับพรรคพลังประชารัฐ เพราะรับรู้กันว่าทั้งสองพรรคดังกล่าวมีเสียง ส.ส.รวมกัน 103 เสียง (ประชาธิปัตย์ 52 เสียง) เพราะตัวเลขคณิตศาสตร์ดังกล่าวหากขาดสองพรรคนี้ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ และแน่นอนว่าการผนึกกำลังระหว่างสองพรรคก็เพื่อ"บีบ"ให้พรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรวมไปถึง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอม"คาย"กระทรวงหลักๆบางกระทรวงออกมา เช่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ออกมาเพิ่มเติม เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าพรรคหลักควรจะได้บริหาร กระทรวงกลาโหม คลัง มหาดไทย ต่างประเทศ เป็นต้น โดยเชื่อว่าเป้าหมายของสองพรรคคือ มหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งกระทรวงหลัก เกรดเอ เป็นต้น

ดังนั้นการประกาศผนึกกำลังระหว่างสองพรรคคือ ประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยรวมกัน 103 เสียง หากพิจารณากันในระดับปกติไม่ต้องลึกซึ้งอะไรมากก็ย่อมมองออกว่านี่คือเกมบีบพรรคพลั

ประชารัฐให้คายโควตากระทรวงสำคัญดังกล่าวข้างต้นเพิ่มเติมมาอีกเท่านั้นเอง หรือแม้กระทั่งมีการ"ปล่อยข่าว"ออกมาในช่วงเวลาเดียวกันว่าทั่งสองพรรคดังกล่าวเคลื่อนไหวเสนอ"ตั้งขั้วที่สาม"ตั้งรัฐบาลขึ้นมาแข่งกับขั้วเพื่อไทย และขั้วพรรคพลังประชารัฐ โดยอ้างว่าสองขั้วแรกเกิดความชะงักงัน ไม่อาจตั้งรัฐบาลได้ จึงขอหยั่งกระแสจากสังคม แม้จะเป็นรายงานข่าวก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า"ปล่อย"ออกมาจากวงกินข้าวของสองพรรคนั่นเลแหละ ซึ่งก็สรุปกลับมาที่เดิมคือกดดันพรรคพลังประชารัฐกับ "บิ๊กตู่"โดยมีเป้าหมายแบบเดิม

อย่างไรก็ดีหากให้พิจารณาถึงความเป็นไปไดระหว่างที่ทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย จะร่วมกันจัดตั้ง"ขั้วที่ 3" กับการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ อย่างไหนมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน แม้ว่านาทีนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีอะไรแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แ่หากพิจารณาจากความเป็นจริงเท่าที่เห็นกันอยู่ก็ต้องบอกว่ามีแนวโน้มไปทางร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐมากกว่า

ส่วนการจับมือเป็นขั้วที่สามของสองพรรคนั้น แม้ในแง่ของการรวบรวมเสียงโดยตัดพรรคพลังประชารัฐออกไป โดยไปรวมกับขั้วเพื่อไทยและ 7 พรรคพันธมิตรเดิม มันก็มีโอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุนเกิน 376 เสียง แต่นั่นเป็นตัวเลข แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาด้วยเหตุผลทางสังคม เสียงสนับสนุนของมวลชน สมาชิกพรรคโดยเฉพาะหากพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย มันก็คง"ดูไม่จืด" และอาจส่อหายนะในอนาคตเลยก็เป็นได้ อาจจะหนักว่าในปัจจุบันที่ได้รับการเลือกตั้งมาแค่ 52 ที่นั่ง เท่านั้น ดังนั้นก็ต้องย้ำอีกครั้งว่านี่เพียงแค่เกมต่อรองครั้งสุดท้ายเท่านั้น

เป็นการยกระดับแรงกดดัน เพราะรู้ว่าเงื่อนไขเวลากระชั้นเข้ามาแล้ว นั่นคือการเปิดสภานับถอยหลังเข้ามาทุกทีแล้ว อย่างน้อยก็ต้องสรุปก่อนเช้าวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคมที่มีกำหนดโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งประธานรัฐสภาโดยอัตโนมัติ เพื่อไปทำหน้าที่ประธานในการโหวตเลือกนายกฯในที่ประชุมรัฐสภาอีกทอดหนึ่ง

อย่างไรก็ดีนาทีนี้"ตัวแปรหลัก"ก็ยังอยู่ที่สองพรรคนี้ แต่หากสองพรรคนี้ไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แม้โอกาสจะน้อยมาก แต่หากให้คิดเผื่อเอาไว้ว่าอาจจะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เสียงของวุฒิสภารวมกับพรรคขนาดเล็กมาสนับสนุนให้เป็นนายกฯเพื่อรอจังหวะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ให้ชาวบ้านตัดสินกันใหม่ โดยเขาอาจเป็น"แคดิเดต"อีกครั้งมันก็เป็นไปได้เหมือนกัน เพราะในเวลานี้ตามที่ วิษณ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมายยืนยันว่า"ทำไม่ได้" ต้องรอจนกว่ามีนายกฯใหม่เสียก่อนเท่านั้น

ดังนั้นหากให้สรุปอีกครั้งก็ต้องบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ใกล้จบแล้ว ส่วนจะจบแบบไหน ก็ยังคาดการณ์ได้เต็มร้อย เพราะมีตัวแปรใหม่เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด โดยเฉพาะความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีรอยร้าวลึกสะสมจนเสี่ยงที่จะทำให้การโหวตเลือกนายกฯในสภาไม่เป็นเอกภาพ แต่สำหรับ"ขั้วที่สาม"ก็ยังถือว่าเป็นไปได้น้อย ขณะเดียวกันโอกาสของรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพื่อรอจังหวะยุบสภาก็ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น