MGR Online - อดีต รมว.คลังฟันธง "ธนาธร" ปล่อยกู้พรรคอนาคตใหม่ 110 ล้านบาท ผิดหลักการและเจตนารมย์กฎหมาย ถามกลับเงินร้อยกว่าล้านจะหาที่ไหนมาคืน ต้องเก็บค่าสมาชิกคนละเท่าไหร่ ชี้ทำประชาชนผิดหวังการเมืองแบบใหม่ แซะการระดมทุนแบบเกณฑ์นายทุนมาซื้อโต๊ะจีนก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน
จากกรณีเมื่อวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้รับเชิญให้ไปขึ้นเวทีบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที (FCCT) และเปิดเผยถึงการบริหารการเงินของพรรคอนาคตใหม่ว่า เพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งได้ ตนจึงให้เงินทางพรรคยืมไปแล้วราว 110 ล้านบาท
คลิกอ่าน >> "ธนาธร" เผยเอง ให้พรรคอนาคตใหม่ยืมเงิน 110 ล้านบาท เพราะระดมทุนไม่ทัน [ชมคลิป]
วันนี้ (22 พ.ค.) เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวผิดทั้งหลักการและเจตนารมณ์กฎหมาย เพราะถ้ายอมให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ก็จะนำไปสู่การถอนทุนคืนโดยทุจริต ถามกลับพรรคอนาคตใหม่จะเอาเงินจากไหนมาคืน
ขณะเดียวกันก็แสดงความไม่เห็นด้วยกรณีพรรคการเมืองอื่น ๆ อย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่บีบเอาเงินอุดหนุนมาจากภาคธุรกิจ เพราะอาจเข้าข่ายคอร์รัปชันตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน
“การระดมเงินของ พปชร. กับเงินกู้ของ อนคม.”
เจตนาของการมีพรรคการเมืองนั้น ก็เพื่อรวบรวมคนที่มีจุดยืนและนโยบายเดียวกัน เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน
ดังนั้น แหล่งเงินหลักจึงควรจะมาจากผู้ที่เข้ามาร่วมกัน เพราะฉะนั้น การที่ อนคม. ไปกู้เงินจากคุณธนาธร จึงเป็นการกระทำที่ผิดหลักการ
นอกจากนี้ บทความข้างล่างระบุว่า ไม่มีกฎหมายใดที่อนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินจากใคร เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่สถาบันธุรกิจ และถ้ากฎหมายยอมให้กู้เงินได้ ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ตัวแทนของพรรค แทนที่เข้าไปรับใช้ประเทศ กลับมีแต่จะเน้นการถอนทุนคืนโดยทุจริต
ทั้งนี้ การที่ อนคม. จะต้องใช้หนี้ร่วม 100 กว่าล้านบาทนั้น ถามว่า อนคม. จะหาเงินมาจากไหน? จะต้องเก็บเงินสมาชิกคนละเท่าไหร่? เป็นไปได้จริงหรือไม่?
กรณีนี้ จึงทำให้ภาพของ อมคน. กลายเป็นพรรคการเมืองเถ้าแก่หลงจู๊ เหมือนหลายพรรคที่มีภาพพจน์ติดลบในอดีต
ผมจึงเห็นว่าวิธีการที่ อนคม. กู้เงินจากคุณธนาธรนั้น ผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ตรงไปตรงมา และทำให้ประชาชนที่ตั้งความหวังว่าจะมีการเมืองแบบใหม่ ผิดหวังกันไปตามๆ กัน
ส่วนจะมีความผิดหรือไม่ ก็จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กกต. และศาล
แต่ในอีกด้านหนึ่ง กรณีที่พรรคของรัฐบาลใด อาศัยข้าราชการไปบีบเอาเงินอุดหนุนมาจากภาคธุรกิจ ก็ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคธุรกิจนั้นเป็นผู้ที่ได้สัมปทานรัฐ หรือเป็นบริษัทคู่ค้ากับรัฐ ที่ได้รับสัญญาในช่วงเวลาของรัฐบาลนั่น กรณีอย่างนี้ เข้าข่ายคอร์รัปชันตั้งแต่ยังไม่เข้าไปเริ่มทำงาน
นอกจากนี้ กรณีที่เจ้าของเงินที่แท้จริงอาจจะไม่ใช้บุคคลที่ปรากฏชื่อเป็นผู้บริจาค เนื่องจากบริษัทที่บริจาคเงินนั้น ทำธุรกิจขาดทุน หรือมีกำไรเพียงจิ๊บจ้อย ไม่สมเหตุสมผลกับจำนวนเงินที่บริจาค กรณีอย่างนี้เข้าข่ายฟอกเงิน
กรณีนี้ ประชาชนย่อมจะไม่ไว้วางใจพรรครัฐบาล
กรณีที่แสดงอาการส่อไปในทางขาดธรรมาภิบาลตั้งแต่เริ่มตั้งพรรค พฤติกรรมอย่างนี้ย่อมสะท้อนการเมืองเชิงธุรกิจ การเมืองเพื่อนายทุน และการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน มิใช่การเมืองเพื่อประชาชน
และถ้ามีการบริหารราชการแผ่นดินด้วยหลักคิดอย่างนี้ ประเทศจะล่มจมอย่างแน่นอน
กรณีโต๊ะจีนของ พปชร. นั้น ผมได้มีข้อสงสัยบางประการ
และผมได้ทำหนังสือขอให้ กกต. ตรวจสอบเบื้องหลังของเงินบริจาค โดยเสนอแนะว่า กกต. ควรจะต้องเจาะลึก โดยสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องส่งแบงค์สเตทเมนท์มาทำการตรวจสอบเส้นทางเงินให้ถี่ถ้วน
กกต. ควรจะเร่งดำเนินการสองเรื่องนี้คู่ขนานกัน เพื่อมิให้มีภาพพจน์เป็นการลำเอียง รวมทั้งควรจะคิดอ่านออกกฎระเบียบเพื่อป้องปรามพฤติกรรมที่ขาดธรรมาภิบาลทุกชนิดอีกด้วย
วันที่ 22 พฤษภาคม 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ