xs
xsm
sm
md
lg

สตง. ชำแหละเอกสารท้องถิ่น 10 ปี ขอสร้างตึก ผ่าน“กองช่าง”ทั่วปท. กว่า 300 แห่ง ผุดโดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สตง. ชำแหละ เอกสาร“ขออนุญาติสร้างอาคาร”ในท้องถิ่น ผ่าน“กองช่าง-กองคลัง”อปท.กว่าพันแห่งทั่วประเทศ พบตลอด10 ปี เฉพาะเทศบาลตำบล-อบต. ยังขัดกฎหมาย กว่า 246 แห่งสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต แถม 167 รายไม่ทราบสถานภาพ เหตุไร้การติดตามผล พบตัวเลขฟันผู้กระทำผิดแล้ว 377 ราย เทียบข้อมูลเอกสารขออนุญาตก่อสร้าง- ชำระภาษีกว่า 600 แห่ง เปลี่ยนประเภทโดยไม่ได้รับอนุญาต เฉพาะโรงแรมกว่า 20 แห่ง

วันนี้(21 พ.ค.) มีรายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือถึงหน่วยงานในกระทรวงมหาไทย เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายควบคุมภายใน เขตเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ภายหลังมีการขยายตัวด้านการก่อสร้างอาคารและการผังเมือง และ กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดเขตควบคุมอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อควบคุมและรองรับการขยายตัวของชุมชนในด้านการก่อสร้างอาคาร

โดยท้องที่ที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือ กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายที่จะประกาศให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในท้องที่ดังกล่าว เพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ทั้งนี้ สตง. พบว่า การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารหรือป้ายในเขตเทศบาลตำบลและอบต.ที่สุ่มตรวจสอบไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร เจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร ทั้งการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต

"จากการตรวจสอบเอกสารการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร ปี พ.ศ. 2551- 2560 ระยะ 10 ปี ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง เทศบาลตำบลและอบต.ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า มีการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว 377 ราย แบ่งเป็น ไม่ทราบสถานภาพ 260 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 38 ราย และดำเนินการแล้วเสร็จ 79 ราย ของจำนวนการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารทั้งหมด"

กรณีนี้ กล่าวคือ เจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้ดำเนินการออกคำสั่งตามแบบของคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528) และอยู่ในระหว่างการบังคับให้เจ้าของอาคารปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยเป็นการกระทำผิดกรณีก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตมากที่สุด 246 ราย แต่ไม่ทราบสถานภาพ 167 ราย เนื่องจากไม่มีการติดตามผลการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบดังกล่าว ยังไม่รวมถึงข้อมูลของฝ่ายนิติการ สำนักปลัด เทศบาลตำบลและอบต.ที่สุ่ม นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลตำบลและอบต.ที่สุ่ม พบว่า ยังมีเจ้าของอาคารทั้งสิ้น 37 อาคาร ที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร กล่าวคือ มีการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร โดยไม่ขออนุญาตหรือก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ขณะเดียวกัน ข้อมูลในประเด็นการเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการตรวจสอบเอกสารการออกใบอนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) หรือการขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง เปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง (ผ.ท.2) ของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน กองคลัง เทศบาลตำบลและอบต. ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า ข้อมูลจำนวนอาคารประเภทควบคุมการใช้ที่ขออนุญาตฯ (อ.1) หรือขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) มีความแตกต่างกัน

กล่าวคือ ระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2560 เทศบาลตาบลและอบต. ที่สุ่ม 8 แห่ง มีอาคารประเภทควบคุมการใช้ที่ขออนุญาตฯ (อ.1) หรือขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6)กับฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง เพียง 714 แห่ง แต่ข้อมูลการสำรวจโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง (ผ.ท.2) ของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน กองคลัง มีอาคารประเภทควบคุมการใช้ 1,346 แห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันถึง 632 แห่ง แสดงว่า อาคารส่วนใหญ่อาจมีการเปลี่ยนการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลตำบลและอบต. ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า มีอาคารทั้งสิ้น 21 อาคาร ที่มีการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามที่แจ้งขออนุญาต กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 และยังมิได้ดำเนินการขอเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ มีอาคารที่เปิดให้บริการโดยคิดค่าบริการเป็นรายวัน ซึ่งเข้าข่ายการประกอบธุรกิจโรงแรม

ยังพบอาคารไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตามกฎกระทรวงที่กำหนด จากการสังเกตการณ์ 139 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรม 77 แห่ง หอพัก 227 แห่ง ห้องเช่า 24 แห่ง อาคารชุด 4 แห่ง โรงมหรสพ 3 แห่ง และสถานบริการ 4 แห่ง พบว่า อาคารส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตามกฎกระทรวงที่กำหนด โดยมีสภาพปัญหาความไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ (1) ไม่มีป้ายผังบริเวณ 115 แห่ง (2) ไม่มีป้ายทางหนีไฟ 106 แห่ง และ (3) ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ 93 แห่ง

นอกจากนี้ อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป 42 แห่ง โรงมหรสพ 3 แห่ง และสถานบริการ 4 แห่ง รวมทั้งสิ้น 49 แห่ง ซึ่งกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับประตูหนีไฟ และบันไดหนีไฟ แต่จากการสังเกตการณ์ ปรากฏว่า อาคารที่มีความสูง ตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ไม่มีประตูหนีไฟหรือมีแต่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 20 แห่ง ที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบ เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร

อย่างไรก็ตาม จากการเปรียบเทียบข้อมูลการสำรวจป้าย (ผ.ท.3) ของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินกองคลัง กับข้อมูลการขออนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง ของเทศบาลตาบลและ อบต.ที่สุ่ม จากการสังเกตการณ์ป้ายในเขตเทศบาลตำบลและ อบต.ที่สุ่ม ปรากฏว่ายังมีป้ายโฆษณาซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายติดหรือตั้งโดยไม่ขออนุญาต ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

โดยมีข้อเสนอแนะไปยังนายกเทศมนตรี หรือนายก อบต. ในประเด็นนี้ว่า ให้มีแผนการตรวจสอบในแต่ละปี ให้มีการสอบยันข้อมูลการใช้อาคารและการติดตั้งป้าย ของกองช่าง กับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย ของกองคลัง ให้มีการสอบยันสถานภาพ หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารหรือการติดหรือตั้งป้ายโดยไม่ขออนุญาต ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

สตง.ยังพบว่า ด้วยว่า มีเทศบาลตำบลและ อบต.บางแห่ง ไม่มีการดำเนินการหรือดำเนินการแต่ไม่ครบถ้วนตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ตรวจสอบอาคารด้านความมั่นคงแข็งแรงและด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย เป็นต้น รวมทั้ง ไม่มีการติดตามผลการดำเนินการตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย

สุดท้ายจากการตรวจสอบเอกสารสมุดคุมใบอนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) ระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2560ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง 8 แห่ง พบว่า มีจำนวนอาคารที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบอาคารฯ ตามมาตรา 32 ทวิ ยื่นขออนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) รวมทั้งสิ้น 186 แห่ง แต่จากการตรวจสอบการยื่นรายงานการตรวจสอบสภาพอาคาร เพื่อออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (ร.1) ของอาคารทั้ง 186 แห่ง

ปรากฏว่า การส่งรายงานตรวจสอบสภาพอาคารของอาคาร 9 ประเภทที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบอาคารฯ ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากไม่มีมาตรการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่มีการเพิกเฉยไม่ส่งรายงานการตรวจสอบสภาพอาคาร.


กำลังโหลดความคิดเห็น