xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ร้าวลึกกว่าที่คิด-รุ่นใหญ่ “ลุงชวน” โดนถล่มหนัก !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค , จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ ชวน หลีกภัย
เมืองไทย 360 องศา

ต้องบอกว่าเหนือความคาดหมายสำหรับบรรยากาศภายในพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ เพราะในตอนแรกยังคิดว่า การถกเถียง แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่การแขวะฝ่ายตรงข้ามถือเป็นเรื่องปกติ ที่หลายฝ่ายบอกว่า นี่เป็น “วัฒนธรรม” ของพรรคนี้ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นหลักการประชาธิปไตย ที่เมื่อมีมติอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา ทุกคนก็ต้องยอมรับและทำตามมติพรรคที่มีการออกเสียงออกมาหลังจากนั้น

หลายคนก็เริ่มเชื่ออย่างนั้น และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่าง “ผิดแปลก” ไปจากในสมัยก่อน นั่นคือ มีปัจจัยภายนอกเข้ามากดดันโน้มน้าวอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อีกทั้งภายใต้กระแสการเมืองที่ต้อง “เลือกข้าง” มีลักษณะไม่ต่างจากสงครามระหว่าง “ขั้วการเมือง” ระหว่างขั้วที่เคยหนุน ทักษิณ ชินวัตร กับขั้วที่ไม่เอาขั้วดังกล่าว ก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นความพยายาม “สร้างกระแส” เป็นกลุ่มที่อ้างว่าเพื่อ “ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ” ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประกอบกับมีการเคลื่อนไหวของอดีตหัวหน้าพรรคคนก่อน คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ในเวลานั้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ก็เดินหน้าเต็มตัว โดยประกาศทิ้งไพ่สำคัญในช่วงวันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประกาศ “ต่อต้านบิ๊กตู่” ซึ่งบังเอิญว่าไปในทางเดียวกับพรรคเพื่อไทย และพรรคพันธมิตรในเครือข่าย “ระบอบทักษิณ” รวมไปถึงพรรคอนาคตใหม่ ที่มีพื้นฐานมวลชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกัน

จะด้วยสาเหตุนี้หรือเปล่าที่หลายคนมองว่าเป็น “ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด” ที่มองว่านี่ไม่ใช่ยุคเผด็จการกับประชาธิปไตย แต่เป็นสงครามต่อสู้เพื่อสกัดกั้น “ระบอบทักษิณ” ให้อ่อนกำลังไปอีก มีหลายคนบอกว่า ระบอบทักษิณ เลวร้ายยิ่งกว่า เผด็จการ ยิ่งกว่า คสช.หลายเท่า และที่สำคัญ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในแนวทาง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กำลังประกาศในตอนนั้น เหมือนกับว่าชาวบ้านที่เคยเป็นฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ หันมาเทเสียงให้กับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯอีกครั้ง

เพราะเป็นครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมาก ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักมาช้านาน ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แม้ว่าจะเป็นยุคตกต่ำที่สุด ก็อย่างน้อยก็ยังเหลือเอาไว้หนึ่งที่นั่งในยุค พ.อ.ถนัด คอมันต์ แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับการเลือกตั้งแต่ที่นั่งเดียว

ขณะเดียวกัน ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็ได้นำมาซึ่ง “ความแตกแยก” ตามมาให้เห็นชัดเจน แม้ว่าร่องรอยจะเริ่มเห็นจากการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก่อนหน้านั้นระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นพ.วรงค์ เดชกิจกรม ที่ผลการแข่งขันดังกล่าวแม้ อภิสิทธิ์ จะชนะ แต่ก็ชนะไม่มาก ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมองเห็น “กลุ่มก๊วน” ในพรรคที่เปิดเผยให้เห็น โดยเฉพาะจากกลุ่มสมาชิกพรรคที่เคยเป็นอดีต กปปส.ที่ถือว่ายังมีอิทธิพลอยู่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อย

ต่อเนื่องมาจนถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ล่าสุด ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อันมีสาเหตุมาจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูป ทำให้ อภิสิทธิ์ ต้องแสดงวามรับผิดชอบด้วยการลาออกตามที่เคยประกาศวางเดิมพันเอาไว้ แม้ว่าจะมีผู้เสนอตัวชิงชัยกัน 4 คน แต่ที่น่าสนใจก็มีเพียง 2 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่อย่างที่รู้กันแล้วว่าฝ่ายแรกเอาชนะไปได้ แต่เมื่อพิจารณาจากผลการโหวตของพวก ส.ส.พรรค จุรินทร์ก็ชนะไปด้วยคะแนน 25 ต่อ 20 คะแนน ถือว่าสูสี

แต่ก่อนและหลังการเลือกหัวหน้าพรรคก็มีการให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นตอบโต้กัน และวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงขึ้น แต่ที่น่าสนใจและน่าจับตาว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือบานปลายกันไปถึงไหน รวมไปถึงจะกระทบการโหวตในสภาสำหรับการลงมติเลือกนายกฯคนใหม่ด้วยหรือไม่ ล่าสุด พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้โพสต์ข้อความขอบคุณผู้สนับสนุนทุกฝ่ายทั้งในพรรคและนอกพรรค แต่ขณะเดียวกัน เขาได้เปิดฉากโจมตี “ผู้ใหญ่” หรือผู้อาวุโสบางคนในพรรคอย่างรุนแรง ในทำนองว่า “เพิ่งประจักษ์ว่าผู้ใหญ่บางคนที่ผมเคยนับถือมานานเกือบ 30 ปี ที่เคยเชื่อว่าดี แท้จริงแล้วเป็นภาพลวงตา ใครไม่ยอมอยู่ในอาณัติหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามกันเมื่อใด ก็ต้องกลายเป็นคนต้องถูกพิฆาต แผ่บารมีต่อต้านวาดภาพให้เป็นคนไม่ดี บารมีที่มากล้นที่ควรจะวางตัวเป็นกลาง เพื่อสร้างเอกภาพกลายเป็นตัวตอกลิ่มให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น”

สำหรับ “ผู้ใหญ่” ในพรรคประชาธิปัตย์หากพอไล่เรียงน่าจะมีอยู่ไม่มากนัก ที่สมาชิกพรรคให้ความนับถือ หนึ่งก็น่าจะเป็น ชวน หลีกภัย สอง ก็ต้องเป็น บัญญัติ บรรทัดฐาน และ เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ซึ่ง “ผู้ใหญ่” หนึ่งในสามคนที่ยกตัวอย่างรายชื่อมาน่าจะเป็นใครมากกว่ากัน แต่ถ้าคาดเดาน่าจะหมายถึง “ชวน หลีกภัย” มากกว่าใคร ที่ก่อนหน้านี้ รับรู้กันว่าเป็นผู้สนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาอย่างแข็งขันมาก่อน

รวมไปถึงในช่วงที่ผ่านมา ชวน หลีกภัย ก็ยังมีบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างสูง โดยก่อนหน้านี้ได้ออกมาเบรก ถาวร เสนเนียม และกลุ่ม ส.ส.ของพรรคที่สนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงการ “ตำหนิ” สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ อภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งประกาศต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้ว

ดังนั้น หากพิจารณาจากเงื่อนไขและองค์ประกอบเท่าที่เห็นก็น่าจะเชื่อได้ว่า “ผู้ใหญ่” ที่ถูกกล่าวถึง น่าจะหมายถึง ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าใคร และหากใช่ก็ต้องบอกว่านี่อาจเป็นครั้งแรกที่โดนวิจารณ์อย่างรุนแรงจากสมาชิกพรรคด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ยังชี้ให้เห็นว่า เกิด “รอยร้าวลึก” ขึ้นมาภายในเกินคาดคิดแล้ว และจะมีผลกระทบไปถึงมติพรรค ไม่ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับฝ่ายไหนก็ตาม !!


กำลังโหลดความคิดเห็น