xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น ปชป.ตัวแปรสุดท้าย-แตกแถวงดออกเสียง “ลุงตู่” ตกเก้าอี้ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมืองไทย 360 องศา




ถือว่าผ่านขั้นตอนสำคัญไปอีกขั้นสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ล่าสุดเมื่อบ่ายวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สมาชิกพรรคที่มีสิทธิออกเสียงได้ลงมติเลือก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8 โดยได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 50.59 เอาชนะผู้สมัครรายอื่นด้วยเสียงท่วมท้น โดยผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงตามมาที่สอง คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้คะแนนร้อยละ 37.2 กรณ์ จาติกวณิช ได้ร้อยละ 8.4 และ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ร้อยละ 8.4 เช่นกัน แต่ที่น่าสนใจก็คือ จุรินทร์ ได้เสียงจาก ส.ส.มากที่สุด คือ 25 คน ชนะ พีระพันธุ์ ที่ได้ 20 คน ซึ่งว่ากันว่าฝ่ายที่เชียร์ฝ่ายหลังมีท่าทีชัดเจนว่าอยากร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

แน่นอนว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะมีการลงมติพรรคว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” หรือ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ เพราะเมื่อได้หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้ว ก็ต้องมีการสอบถามมติในที่ประชุมว่าจะเอาอย่างไร จะร่วมรัฐบาล หรือไม่ร่วม หรือว่าจะเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ตามที่มีข้อเสนอจากบางคนในพรรค

ขณะเดียวกัน ก็มีการจับตามองว่าเมื่อหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ เป็น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แล้ว จะทำให้ทิศทางของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้จะไปในทิศทางไหน โดยเฉพาะกับคำถามสำคัญก็คือ จะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” หรือไม่

ที่ผ่านมา สำหรับ นายจุรินทร์ ยังไม่เคยมีท่าทีแสดงออกอย่างชัดเจน รวมไปถึงการส่งสัญญาณออกมาให้เห็นเลยว่าเขาจะไปแนวทางไหน แม้ว่าอาจจะมองว่ามีความใกล้ชิดกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และ ชวน หลีกภัย ก็ตาม แต่ก็แสดงออกให้เห็นมาตลอดว่า “ไม่ใช่คนของใคร” ลักษณะที่ออกมาจึงเป็นแบบ “เข้าได้กับทุกกลุ่ม” มีความยืดหยุ่น ไม่แข็งกร้าว แต่สำหรับทิศทางการเมืองก็ต้องบอกว่า “อ่านยาก”

อย่างไรก็ดี การกำหนดทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์สำหรับเรื่องดังกล่าว นั่นคือ เรื่อง “ร่วมรัฐบาลหรือไม่” คราวนี้ถือว่ามี “ปัจจัยภายนอก” เข้ามากดดันด้วยไม่น้อย ทั้งที่สมาชิกพรรคที่ลาออกไปแล้ว แต่ถือว่ามีอิทธิพลกับสมาชิกพรรคไม่น้อย โดยเฉพาะสมาชิกพรรคที่เป็นอดีต กปปส.ซึ่ง ส.ส.ของพรรคกลุ่มนี้มีท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

นอกจากนี้ ยังมีกระแสสังคมภายนอกที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสกัดกั้น “ระบอบทักษิณ” ดังจะเห็นได้ผลการเลือกตั้งที่สะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพความเป็นจริงทีเสียงทั้งสองฝ่าย หรือ “สองขั้ว” ที่แข่งกันรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงที่ก้ำกึ่งกัน ดังนั้น ทุกคะแนนเสียงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกคะแนนเสียงย่อมเป็น “ตัวแปร” แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์อาจจะมีความ “พิเศษ” นอกเหนือไปกว่านั้น นั่นคือ อาจมีเรื่อง “หลักการ” เข้ามาปะปนด้วย ทำให้เป็นที่จับตาว่ามติพรรคจะออกมาอย่างไร และในการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่พวกเขาจะแพ็กเป็นเอกภาพกันทั้งพรรคหรือไม่ หรือว่าจะมี “แตกแถว” ออกไป เช่น “งดออกเสียง” จะเป็นไปได้หรือไม่

เพราะอย่างที่รับรู้กันดีว่าทั้งสองขั้วมีเสียงก้ำกึ่งกัน ชนะแพ้กันไม่ขาด ซึ่งมีการคาดกันว่าแม้นาทีนี้ฝ่ายขั้วพรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นต่อด้วยองค์ประกอบที่พร้อมสรรพก็ตาม แต่เมื่อเสียงสนับสนุนที่รวบรวมมาจากทุกพรรคมีจำนวน ส.ส.เกินครึ่ง คือ เกิน 251 เสียงมาไม่มาก มันก็ต้องลุ้นจนนาทีสุดท้าย

นี่ว่ากันเฉพาะเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีผลในการสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลจากตัวแทนประชาชนโดยตรง และเป็นเงื่อนไขสำหรับบางพรรค เช่น พรรคภูมิใจไทย ที่ย้ำว่าคนที่จะได้เป็นนายกฯต้องได้เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนฯเกินครึ่ง ไม่ใช่เอาเสียงจากวุฒิสภาจำนวน 250 เสียงมาเติม

ดังนั้น แม้ว่าตามหลักการ และประเพณีของพรรคประชาธิปัตย์จะมีความเห็นที่หลากหลายอย่างไร แต่เมื่อมีมติพรรคออกมาทางใดทางหนึ่งก็ต้องไปตามนั้น แต่ในกรณีนี้หากโฟกัสไปเฉพาะในสภาผู้แทนฯหลายคนอดที่จะจับตามองไม่ได้ว่าอาจมีรายการ “แตกแถว” ที่เพียงแค่ “งดออกเสียง” มันก็ทำให้ “บิ๊กตู่” ไม่ได้ไปต่อตกเก้าอี้กลางคันก็ได้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น