xs
xsm
sm
md
lg

ล้มเหลวกับ “แมนเชสเตอร์ ซีตี้” มาแล้ว “ทักษิณ”จะเอา“คริสตัล พาเลซ” ไปทำอะไร **"เพื่อไทย" เปิดยุทธการเสี้ยม ในศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ เพาะพันธุ์ "งูเห่า" ในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อก้าวไปสู่แผน "ชัตดาวน์ 250 ส.ว." ช่วงชิงเก้าอี้นายกฯ

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด


ข่าวปนคน คนปนข่าว



** ล้มเหลวกับ “แมนเชสเตอร์ ซีตี้” มาแล้ว “ทักษิณ”จะเอา“คริสตัล พาเลซ” ไปทำอะไร

คอนเฟิร์มชัดเจนจากปากของ "มิตติ ติยะไพรัช" หรือ “ฮั่น”ประธานสโมสรสิงห์เชียงรายยูไนเต็ด เป็นที่แน่นอนแล้วว่า "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคำพิพากษา และหมายจับจากทางการไทย กำลังเจรจาซื้อ สโมสรฟุตบอล “ปราสาทเรือนแก้ว”คริสตัล พาเลซ ด้วยเงินจำนวน 150 ล้านปอนด์ หรือราวๆ 6,187 ล้านบาท

ขณะที่เฟซบุ๊ก“ณัฐพันธุ์ กรุงเทพ กรุงเทพ ทันใจ”กระบอกเสียงใกล้ชิดของตระกูลชินวัตร บอกว่า ตอนนี้สโมสรฟุตบอล "คริสตัลพาเลซ" กำลังประสบปัญหาทางการเงินเมื่อกองทุนเงินเดือน (รวมถึงภาษีเงินได้ ที่ต้องจ่ายให้กับผู้เล่น) เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 120 ล้านปอนด์ ... ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ คริสตัลพาเลซ คิดเป็น 109% ของรายได้ และในปี 2561 ประธาน "สตีฟ แพริช" เจ้าของ และคนอื่นๆ ต้องเอาเงินเข้าสโมสร 24 ล้านปอนด์ เพื่อชดเชยความสูญเสีย ปัจจุบันนอกเหนือจากหนี้บางส่วนของสถาบันการเงิน คริสตัลพาเลซ ยังได้รับสิทธิกู้ยืมเงิน จำนวน 38 ล้านปอนด์ ปลอดดอกเบี้ย

ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโอกาส ของ"ทักษิณ" ที่จะเจรจาเพื่อซื้อสโมสรให้ประสบความสำเร็จ

รายละเอียดของการเจรจารวมถึงสัดส่วนของหุ้นที่ ทักษิณต้องการซื้อ ยังไม่ได้เปิดเผย แต่มีการระบุว่า อาจจะอยู่ที่ประมาณ 80% ด้วยเงินเกือบ 200 ล้านปอนด์(ประมาณ 8,200 ล้านบาท)

เมื่อประสบความสำเร็จ ในการเข้าถือครอง นายทักษิณจะรับบทบาทเป็นเจ้าของสโมสร ส่วนคนที่จะมาดูแลคงจะเป็น “ฮั่น”ลูกชายของ "ยงยุทธ ติยะไพรัช" นักการเมืองในคาถาของทักษิณอีกคนหนึ่ง หลังจากมีผลงานปลุกปั้น ทีมเชียงราย ยูไนเต็ด ขึ้นสู่ลีกสูงสุดของไทย ตั้งแต่ปี 2011 และเคยคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ 2 สมัย กับโตโยต้า ลีกคัพ 1 สมัย นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร

แต่คำถามก็ยังมีตามมาว่า หากการเจรจาซื้อทีมจากกรุงลอนดอนสำเร็จ "ทักษิณ ชินวัตร" จะทำอะไรกับสโมสรฟุตบอลแห่งนี้
ทักษิณ ชินวัตร
ในอดีต ทักษิณ เคยมีข่าวเกี่ยวข้องกับสโมสรฟุตบอลในอังกฤษหลายสโมสร ไม่เพียงแต่ "แมนเชสเตอร์ ซิตี้" ที่เขาเคยเป็นเจ้าของ ในช่วงปี 2007-2008 (2550-2551) เท่านั้น ... เมื่อครั้งยังนั่งอยู่ในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในปี 2546 ทักษิณ เคยตกเป็นข่าวว่าได้เจรจาซื้อสโมสร “ฟูแล่ม”จาก "โดดี้ อัลฟายเอ็ด" มหาเศรษฐรีชาวอียิปต์ แต่มีการปฏิเสธในเวลาต่อมา ว่าแม้ทั้งคู่จะเคยพูดคุยกัน แต่เป็นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฟูแล่ม กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเท่านั้น

ที่ดูเอาจริงเอาจังมากที่สุด ก็คือการซื้อสโมสร“ลิเวอร์พูล”ในปี 2547 โดยมีข่าวออกมาว่า ทักษิณมีความประสงค์จะซื้อหุ้นในสัดส่วน 30% คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,600 ล้านบาท ถึงขั้นเชิญ“ริก แพรรี่”ซีอีโอ ของสโมสร มาพบที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเดือนพฤษภาคม 2547 การตีปี๊บสร้างภาพใหญ่โตว่า การซื้อสโมสรฟุตบอลครั้งนี้ จะช่วยให้ชาวรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการโปรโมตสินค้าโอทอปของไทยในชอปของสโมสร ที่มีอยู่ทั่วโลก แต่หลังจาก"ริก แพรรี่" เดินทางกลับ ข่าวการซื้อลิเวอร์พูลของ ทักษิณ ก็ค่อยๆ เงียบหายไป

หลังจากถูกยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2549 ก็มีข่าว ทักษิณสนใจซื้อสโมสรฟุตบอล "วูล์ฟแฮมตัน วันเดอร์เรอร์" ในอังกฤษ แต่ก็เงียบหายไป ... จนมาลงเอยกับสโมสร "แมนเชสเตอร์ ซีตี้" ในปี 2550 ซึ่งเขาควักเงินราว 82 ล้านปอนด์ (3.4 พันล้านบาท) เข้าไปเทกโอเวอร์ ท่ามกลางข้อสงสัยว่า เขาจริงจังกับการลงทุนในธุรกิจฟุตบอล หรือเพียงแค่ต้องการเอาสโมสรฟุตบอลไปเป็นเครื่องมือของการตลาดทางการเมืองกันแน่

หลังจากเข้าซื้อสโมสร“เรือใบสีฟ้า”แล้วนายทักษิณ ได้ปลด“สจ๊วร์ต เพียร์ซ ผู้จัดการทีมคนเดิมออก แล้วแต่งตั้ง“สเวน โกรัน อีริคสัน”อดีตผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังกว่า มาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่แทน ... และที่เห็นชัดเจนว่า เขาเอาฟุตบอลมาปั่นกระแสทางการเมือง ก็คือ การเซ็นสัญญาซื้อตัวนักเตะดาวรุ่งของไทย 3 คน เข้าสู่สโมสร ได้แก่ ธีระศิลป์ แดงดา, เกียรติประวุฒิ สายแวว และ สุรีย์ สุขะ หลังการเซ็นสัญญา ก็ยอมเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบิน-ค่าโรงแรม พร้อมพ็อกเกตมันนี่ ดึงตัว“สเวน โกรัน อีริคสัน”ให้มาร่วมงานเปิดตัวนักเตะใหม่ของสโมสรทั้ง 3 คน ในประเทศไทย
มิตติ ติยะไพรัช
ไม่เหนือความคาดหมาย ที่นักเตะไทยทั้ง 3 คน ไม่เคยได้ลงเล่นเป็นตัวจริงให้กับสโมสร เพราะระดับฝีเท้ายังไม่ถึงขั้น และถูกส่งให้สโมสรพันธมิตร ในสวิตเซอร์แลนด์ยืมตัว สุดท้ายทั้ง 3 คน ก็กลับบ้านมือเปล่า ... ขณะที่ผลงานของสโมสรในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2007-2008 ก็จบเพียง อันดับที่ 9 ส่วนผลประกอบการ ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2008 ขาดทุนเพิ่มขึ้น 33 ล้านปอนด์ (1.36 พันล้านบาท) และกู้เงินธนาคารเพิ่มจากเดิม 49 ล้านปอนด์ (2.02 พันล้านบาท) เป็น 64 ล้านปอนด์ (2.64 พันล้านบาท) แถมหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นจาก 134 ล้านปอนด์ (5.5 พันล้านบาท) เป็น 209 ล้านปอนด์ (8.6 พันล้านบาท)

เรียกได้ว่า "ทักษิณ" ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่ากับสโมสร "แมนเชสเตอร์ ซีตี้" จนในที่สุดต้องขายทีมต่อให้ "ชีคห์ มันซูร์" ในปี 2008 นั่นเอง ในราคาประมาณ 200 ล้านปอนด์ (8.25 พันล้านบาท) ท่มกลางข้อสงสัยว่า "ทักษิณ" กับ "ชีคห์ มันซูร์" มีข้อตกลงลับอย่างอื่นเป็นการแลกเปลี่ยนหรือไม่ ถึงยอมให้ ทักษิณฟันกำไรมโหฬาร จากการขายทีมที่จะเจ๊งมิเจ๊งแหล่แบบนั้น

และคงต้องติดตามดูว่า หลังจากเจรจาซื้อ“คริสตัล พาเลซ”สำเร็จ ทักษิณจะทำอะไรกับสโมสรฟุตบอล อายุ 113 ปี แห่งนี้

** "เพื่อไทย" เปิดยุทธการเสี้ยม ในศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ เพาะพันธุ์ "งูเห่า" ในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อก้าวไปสู่แผน "ชัตดาวน์ 250 ส.ว." ช่วงชิงเก้าอี้นายกฯ แต่ถ้าผิดแผน ระวังจะถูกสอยทั้งพวง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แม้ 11 พรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่มี ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่ง จะออกมารวมตัวประกาศเข้าร่วมกับ"ขั้วพรรคพลังประชารัฐ" ในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งให้ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย...แต่ขั้ว"เพื่อไทย"ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนจาก"พรรคภูมิใจไทย"และ "พรรคประชาธิปัตย์" ซึ่งแต่ละพรรคมี ส.ส.อยู่ครึ่งร้อย

จึงมีกระแสข่าว "ขั้วที่สาม" และแผน "ชัตดาวน์ส.ว." โผล่ขึ้นมาในช่วงนี้ เพื่อสกัดการสืบทอดอำนาจของคสช. ซึ่งกระแสข่าวนี้ ใช่ว่าจะไม่มีที่มาที่ไปเสียเลยทีเดียว ... เพราะมีรายงานว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำพรรคเพื่อไทยบางส่วน ได้เดินทางไปหารือกับ "นายใหญ่" ทักษิณ ชินวัตร ที่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อประเมินสถานการณ์การเมือง และหาทางรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่า "7 พรรคการเมือง" ที่เคยร่วมลงสัตยาบันกันนั้น มีแน่ๆ อยู่แล้ว 245 เสียง หากยื่นข้อเสนอว่าจะดันให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว หรือ "อนุทิน ชาญวีรกูล" ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคภูมิใจไทย ได้เป็นนายกฯ ก็น่าจะเป็นช่องทาง "เตะตัดขา"ไม่ให้พรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

แม้ว่าจะได้ทั้งสองพรรคมาเข้าร่วม แต่เสียงก็ยังไม่พอที่จะ"โหวตนายกฯ" ได้อยู่ดี เพราะต้องใช้เสียง ส.ส.ถึง 376 เสียง หากจะ "ชัตดาวน์ 250ส.ว." กันจริงๆ... จึงมีการ"ปล่อยข่าว" ให้เกิดความหวั่นไหว หวาดระแวงกันเอง ว่าจะดึง "งูเห่า" ในพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นกองหนุนอีกส่วนหนึ่ง โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ค่อยเป็นเอกภาพภายในพรรค ที่มีหลายกลุ่มก๊วน และไม่พอใจในโควต้ารัฐมนตรีที่จะได้รับการจัดสรร ... โดยเริ่มที่ ตำแหน่ง"ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ก่อน เพราะมีตัวแทนหลายกลุ่มให้ความสนใจในตำแหน่งนี้ แต่ที่เห็นกันชัดๆ ก็คือคู่แคนดิเดต ระหว่าง "พ่อมดดำ" สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา กับ "วิรัช รัตนเศรษฐ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ – อนุทิน ชาญวีรกูล
จึงมีข่าวออกมาว่า ทางพรรคเพื่อไทย ได้ประสานไปยังผู้ที่คิดเสนอตัวเป็นประธานสภาฯ ของพรรคพลังประชารัฐ รายหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ใช่คู่แคนดิเดตที่ว่านี้ก็ได้ บอกว่า ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุน จากพรรคพลังประชารัฐ ทางพรรคเพื่อไทยและแนวร่วม ก็จะไม่เสนอชื่อบุคคลเข้าแข่งขัน แต่พร้อมที่จะ"ชง" พร้อม "โหวต" ให้ผู้เสนอตัวรายดังกล่าวได้เป็นประธานสภา แต่ต้องหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ อีกประมาณ 10-20 เสียง มาบวกกับ 245 เสียง เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ... และไม่ต้องกลัว "โป๊ะแตก" เพราะการลงมติเลือกประธานสภาฯนั้น เป็นการลงมติลับ และยังเป็นเอกสิทธิ์ ส.ส. ที่ไม่จำเป็นต้องโหวตตามมติพรรค

หากแผนเลือกประธานสภาฯ สำเร็จ ขั้นต่อไปก็คือหาเสียง ส.ส.สนับสนุนให้มากกว่า 376 เสียง เพื่อโหวตนายกฯ ที่อาจจะเป็น "อภิสิทธิ์" หรือ"อนุทิน" เพื่อแข่งกับ "ลุงตู่" ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่ต้องมองไปที่ พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา รวมทั้ง "งูเห่าในพลังประชารัฐ"

ก็ไม่รู้ว่าจะเรียก "วิชาเทพ" หรือ "วิชามาร" ดี ถึงได้มีไอเดียบรรเจิดขนาดนี้ ... ถึงตรงนี้ก็อยากจะบอกว่า ต้องไม่ลืมว่า การที่ กกต.ประกาศรับรองส.ส. ทั้งสองระบบ ทั้งที่มีเรื่องร้องเรียนอื้อซ่า ก็เพื่อให้การเมืองเดินต่อไปได้ สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ถ้า "ผิดแผน" ขึ้นมา ส.ส.ที่ได้รับการประกาศไปนั้น ซึ่งมีสภาพเหมือน"ตัวประกัน" ก็มีโอกาสที่จะถูกองค์กรอิสระ "สอย" ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะ"สอยเรียงตัว" หรือ "สอยทั้งพรรค"





กำลังโหลดความคิดเห็น