เมืองไทย 360 องศา
มติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสายวันที่ 8 พฤษภาคมที่วินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 128 เป็นเพียงกำหนดยละเอียด หลักการและวิธีการคำนวณ คิดอตราส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น
จากมติของศาลรัฐธรมนูญดังกล่าวนอกจากเป็นการ"ปลดล็อก"การเมืองในเรื่องของการ"จัดตั้งรัฐบาล"ได้ในระดับหนึ่งแล้ว ยังทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)รอดตายจากการถูกพรรคการเมืองฝ่ายที่"เสียประโยชน์"รุมฟ้องลงไปได้ เพราะจากมติของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งี้มันก็เหมือนกับเป็น"เกราะ"กำบังให้อย่างดี หลังจากก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้เคยเสนอให้ตีความในประเด็นเดียวกันนี้ แต่ศาลไม่รับวินิจฉัย โดยชี้ว่าเรื่องยังไม่เกิด แต่เมื่อทางผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ตีความและมีมติออกมาแบบนี้มันก็ทำให้โล่งอกไปได้เปลาะใหญ่ และมติของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ยังกลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการเลือกตั้งในคราวต่อไป จะไม่ต้องมีเถียงหรือโวยวายเกี่ยวกับเรื่องสูตรคิดคำนวณการได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อกันอีก
ขณะเดียวกันยังกลายเป็นว่านับจากนี้ไป ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ยังใช้ศาลเป็นเกราะกำบังแบบนี้ต่อไป เพราะการที่"ปล่อยผี"รับรอง ส.ส.เขต จำนวน 349 เขตเลือกตั้งไปก่อนแล้วค่อย"สอย"ภายหลัง รวมไปถึง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น ตามขั้นตอนแล้วต่อไปศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดนั่นเอง
และแน่นอนว่าเมื่อมติศาลออกมาแบบนี้ทำให้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องเดินหน้าใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาใช้ ซึ่งด้วยวิธีดังกล่าวทำให้มีพรรคการเมือง 27 พรรคได้ ส.ส.และในจำนวนนั้นมีพรรคขนาดเล็กจำนวนราว 13 พรรคได้ ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่ง ขณะที่มีบางพรรคจะได้ที่นั่งจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ลดลง โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ที่เวลานี้กำลังโวยวายคัดค้านอย่างเต็มที่ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดแนวทางออกมาแบบนี้แล้วก็ถือว่าไม่มีความหมายแล้ว เหมือนกับว่า "มันจบแล้วครับนาย"นั่นแหละ
เพราะเมื่อพิจารณาจากผลของสูตรที่ใช้สำหรับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อออกมาตามแบบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นั่นก็เท่ากับว่าเสียงของฝ่าย"ขั้วเพื่อไทย"จะต้องลดลงไป และการที่มีพรรคเล็กได้อานิสงฆ์มี ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกราวกว่าสิบพรรค ซึ่งที่ผ่านมาพรรคเหล่านี้แม้จะไม่เคยลงสัตยาบันร่วมกันมาก่อน แต่ค่อนข้างมีท่าทีรับรู้กันว่าเอนเอียงมาทางขั้ว"พรรคพลังประชารัฐ"ที่สนับสนุน "ลุงตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
หากพิจารณาจากองค์ประกอบเท่าที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้ ทุกอย่างเหมือนกับ"ทางโล่ง"สำหรับขั้วพรรคพลังประชารัฐแล้ว อย่างมากก็เพียงต้องรอมติพรรคประชาธิปัตย์ในวันประชุมวันที่ 15 พฤษภาคม หากมีมติเข้าร่วมก็ถือว่าเดินมาได้เกินครึ่งแล้ว และแม้ว่าเสียงของรัฐบาลผสมจะมีเสียงแบบ"ปริ่มน้ำ"เฉือนกันราวๆสิบเสียงเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อทุกอย่างมีแนวโน้มอย่างที่เห็น แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นชัวร์เต็มร้อย แต่ก็ไม่น่าผิดเพี้ยนไปจากนี้มากนัก อาจจะบอกว่า"มันจบแล้วครับนาย" ต้องปล่อย "ลุงตู่"ได้ไปต่อ เนื่องจากทุกอย่างมันลงล็อกไปหมดแล้ว !!