“เชาว์” ชี้ 5 ปม กม.เลือกตั้ง ส.ส. - รธน. รอการแก้ไข ทั้งสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์-ถือหุ้นสื่อ-ไร้บทบัญญัติจัดการผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ขาดคุณสมบัติก่อนประกาศผลเลือกตั้งให้อำนาจ กกต.ตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่ต้องผ่านศาลฎีกา-ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำชาติวุ่น ซัดคนเขียนกติกาใช้บ้านเมืองเป็นหนูทดลองยา ทำบ้านเมืองพังพาบต้องช่วยกันแก้ หากยังดึงดันประเทศรับกรรม
วันนี้ (3 พ.ค.) นายเชาว์ มีขวด รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์ถึงปัญหาในพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า “5 ปมกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เรื่องที่รอการแก้ไข” มีเนื้อหาระบุว่า หลังมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นเป็นอย่างมากมาย ผมได้ติดตามประเด็นการบังคับใช้กฎหมายแล้ว เห็นว่ามีอย่างน้อย 5 ประเด็นที่ต้องแก้ไขดังนี้
1. ปัญหาการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่กำหนดไว้ในมาตรา 128 ที่ กรธ.และ กกต.ใช้สูตรคำนวณให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมีได้รับการจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ซึ่งน่าจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 โดยประเด็นนี้จะมีความชัดเจนหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 8 พ.ค.เชื่อว่าจะคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นและมีบรรทัดฐานให้ดำเนินการต่อไปในอนาคต
2. ปัญหาเรื่องลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครส.ส.กรณีถือครองหุ้นสื่อ ซึ่ง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.บัญญัติไว้ในมาตรา 42 (3) ว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ซึ่งเป็นข้อความเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ อาจทำให้ว่าที่ ส.ส.เกินครึ่งของจำนวนทั้งหมดเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ได้ เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกากรณีนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า แม้บริษัทที่ถือหุ้นจะไม่ได้ประกอบกิจการสื่อจริงแต่มีวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการด้านสื่อก็เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสมการการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญถึงขั้นเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ได้
“ถ้า กกต.ทยอยดำเนินการตามคำร้องหลังมีการประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ไม่ว่าฝ่ายใดจะได้เป็นรัฐบาลก็จะอยู่ในความเสี่ยงที่ตัวเลขส.ส.ในมือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจากปัญหานี้ ซึ่งคงทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับสภาพ แต่สิ่งที่ต้องแก้ไขในอนาคตคือทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น ระบุให้ชัดว่าการถือหุ้นสื่อหมายถึงบริษัทที่ประกอบกิจการด้านสื่อจริงๆ เป็นต้น ซึ่งจะต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วย”
3. ปัญหาความบกพร่องของกฎหมายพรป.เลือกตั้งส.ส. กรณีพบผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีการบัญญัติกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ มีแต่กรณีกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม...ที่กำหนดไว้ในมาตรา 132 ซึ่งต้องปรับปรุงแก้ไขให้ครบถ้วน เพราะในส่วนของผู้สมัครส.ส.เขตที่พบปัญหาเรื่องคุณสมบัติก่อนประกาศผลเลือกตั้งยังสามารถจัดการได้ตามมาตรา 53 ดังนั้นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ควรมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่เท่านั้น เพราะสามารถเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อได้เลย
4. กฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 53 ทำให้ กกต.มีอำนาจมากกว่าปกติ ในการชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.เขต ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สมัครผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าผู้สมัครผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว ให้มีคำสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีนี้มิให้นำคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับไปใช้ในการคำนวณตามมาตรา 128 ...” จะเห็นได้ว่า กกต.มีอำนาจตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส.เขตได้เลยหากพบว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่งกกต.เพิ่งจะใช้อำนาจตามมาตรานี้ในการตัดสิทธิผู้สมัครหลายพรรคการเมืองรวม 17 คน โดยผู้สมัครเหล่านี้หมดสิทธิโต้แย้ง แตกต่างจากการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนวันเลือกตั้ง ที่ยังให้สิทธิผู้สมัครที่ กกต.ไม่รับรองไปฟ้องศาลฎีกาเพื่อขอคืนสิทธิได้ เท่ากับอำนาจชี้ขาดอยู่ที่ศาลฎีกา แต่มาตรา 53 หาก กกต.พบผู้สมัครขาดคุณสมบัติก่อนประกาศผลเลือกตั้งมีอำนาจตัดสิทธิได้เลย จึงต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการใช้อำนาจ ที่อาจกลายเป็นประเด็นให้เกิดการโต้แย้งเรื่องกฎหมายไม่เป็นธรรมในภายหลัง
5. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการเมืองแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่กำหนดให้ใช้บัตรใบเดียว เบอร์แตกต่างกัน คำนวณคะแนนจากผู้สมัคร ส.ส.เขต มาผูกพันกับบัญชีรายชื่อ จนทำให้ผลคะแนนผกผันได้ตลอดเวลาหากต้องมีการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงการออกแบบสกัดไม่ให้มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด และการกำหนดให้ต้องประกาศผลเลือกตั้งต้องรอให้ครบร้อยละ 95 ก่อน ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาที่ทำให้บรรยากาศการเมืองอึมครึม การเลือกตั้งไม่สามารถเป็นทางออกให้กับประเทศได้ และมีแนวโน้มว่าอาจทำให้การเมืองไทยเดินหน้าสู่ทางตัน ซึ่งประเด็นนี้ต้องแก้ไขที่รัฐธรรมนูญด้วย
“ทั้งหมดนี้คือผลพวงจากการใช้ประเทศไทยเป็นหนูทดลองยา จนหนูที่ชื่อประเทศไทยอยู่ในอาการพังพาบ ก่อนหน้านี้คนเขียนกติกาอาจขายฝันให้คนไทยมีความหวังว่าระบบการเมืองใหม่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากความขัดแย้ง แต่เมื่อได้ใช้จริงแล้วเห็นแต่ความมืดมน มีแต่สร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ก็ต้องร่วมกันแก้ไข เพราะถ้ายังดึงดันเดินหน้าแบบนี้ต่อไป ประเทศชาติคือผู้รับกรรม ในขณะที่ผู้ร่างกฎหมายลอยนวล” นายเชาว์ระบุ