xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า” วอน “มูลนิธิฯไม่สูบบุหรี่” ยอมรับผลวิจัยต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า โต้มูลนิธิฯเพื่อการไม่สูบบุหรี่ ประเด็นออกข่าว ระบุ อย.สหรัฐแถลงเด็กและเยาวชน เป็นลมชักหลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า ชี้จุดยืนต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวไม่เปิดใจยอมรับหลักฐานวิจัยต่างประเทศ


นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)” และเฟสบุ๊ค-“บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ออกโรงโต้ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อเฟสบุ๊ค ระบุว่า ยูเอสเอฟดีเอ เร่งตรวจสอบเด็กและวัยรุ่น 35 ราย เกิดอาการชักเพราะเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการได้รับนิโคตินในระดับสูงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า ข้อมูลหรือข่าวที่มูลนิธิฯเผยแพร่มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและอาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมโดยการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

“จากการรายงานข่าวโดยสำนักข่าวต่างประเทศอาทิ CNBC และ Forbes ยืนยันคำพูดของนายสก็อต ก็อตเลียบ ผู้อำนวยการ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า องค์การฯยังไม่ได้ระบุว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเสี่ยงในการเกิดโรคลมชัก และแม้ว่ากรณีของผู้ป่วย 35 รายอาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่องค์การฯมีความกังวลกับเรื่องนี้ พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนส่งข้อมูลเข้ามาที่ ช่องทางการรายงานความปลอดภัย เพื่อรายงานปัญหาหรือข้อกังวลที่เกี่ยวข้อง” นายมาริษกล่าว

นายมาริษเปิดเผยต่อไปว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นข้อยืนยันที่เห็นได้อย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่ามูลนิธิฯ มีจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่เปิดใจยอมรับหลักฐานหรือข้อมูลการวิจัยจากต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ พยายามโน้มน้าวให้สาธารณชนเข้าใจแต่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย โดยละเลยไม่พูดถึงว่าบุหรี่ไฟฟ้าได้รับการควบคุมและถูกต้องตามกฎหมายในสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่ได้รับอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ที่มีการเผาไหม้ ทั้งที่มูลนิธิฯ เป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน จำเป็นต้องมีแนวคิดเชิงบวก และให้ความสำคัญกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รวมถึงแนวทางใหม่ๆ ในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ และให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนถูกต้อง เพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน
เครือข่ายฯ เชื่อว่าการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายจะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนจากพิษภัยของการสูบบุหรี่ และป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเข้าถึงผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าได้ เราจึงได้รณรงค์ให้มีการพิจารณาทบทวนการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และให้ข้อมูลผลการวิจัยที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมต่อไป นายมาริษสรุป.


กำลังโหลดความคิดเห็น