xs
xsm
sm
md
lg

ทร.ซ้อมใหญ่เชิญเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กองทัพเรือ จัดซ้อมใหญ่การเชิญเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ และเตรียมเชิญบุษบกมาติดตั้งแทนบัลลังก์กัญญา

วันนี้ (30เม.ย.) เวลา 10.00 น. กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกซ้อมฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เขตบางกอ กน้อย กรุงเทพมหานคร ก่อนจะอัญเชิญไปจอดบริเวณท่าราชวรดิฐ เป็นการถวายพระราชอิสริยยศเครื่องราชูปโภคตามโบราณราชประเพณี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม 2562 จากนั้นจะถูกใช้ในการเสด็จพระราชดำเนิน เลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดในช่วงเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นราชประเพณีคู่สังคมไทยมายาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย แต่ลักษณะการพระราชพิธีแต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้แต่การเรียกชื่อพิธีก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ส่วนในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในส่วนของกองทัพเรือ ได้เตรียมการจัดเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เทียบท่าราชวรดิฐ ในการพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่าง 4 - 6 พฤษภาคม 2562 และจัดเรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เดิม เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นเรือพระที่นั่งขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายนก ปากแหลมยื่นยาว และมีเขี้ยว ส่วนลำคอยืดยาว ทอดลำตัวเป็นลำเรือ ต่อมาในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้จัดเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ทรงพระบรมธาตุที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ.2370 ต่อมาเรือมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลำปัจจุบัน เป็นเรือที่สร้างขึ้นใหม่ แทนเรือพระที่นั่งลำเดิม ที่ชำรุดจัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีนาวาสถาปนิก (Naval Architect) ต่อเรือคือ พลเรือตรี พระยาราชสงคราม รน. (กร หงสกุล) เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาล ที่ 5 แล้วเสร็จประกอบพิธีอัญเชิญเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” ลักษณะตัวเรือ โขนเรือเป็นรูปหงส์ ไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก ศิลปะรัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่ 24 ท้องเรือภายนอกทาสีดำ ภายในทาสีแดง มีความยาว 44.90 เมตร ความกว้าง 3.14 เมตร ลึก 0.90 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตรหนัก 15.6 ตัน ปัจจุบันเก็บรักษาที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร คลองบางกอกน้อย

การจัดกำลังพลประจำเรือในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ใช้กำลังพล กองทัพเรือ จำนวน 64 คน ประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงสามชาย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่เรือ 1 คน และคนถือฉัตร 7 คน โดยจะมีการซ้อมย่อย วันที่ 26 เมษายน 2562 ซ้อมใหญ่ วันที่ 30 เมษายน 2562 ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่าง 4 – 6 พฤษภาคม 2562 จะอัญเชิญขึ้นเก็บที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมกศิลปากร คลองบางกอกน้อย ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เพื่อเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ในการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารค พร้อมกับการพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในช่วงปลายปี 2562 ต่อไป

สำหรับพระราชพิธีในครั้งนี้ได้เชิญบุษบกมาติดตั้งแทนบัลลังก์กัญญา ซึ่งเป็นองค์เดิมที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี บุษบก คือ ซุ้มยอดซึ่งมีหลังคาซ้อนชั้นเป็นยอดแหลม มีบันแถลงประดับโดยรอบซึ่งความหมายของบันแถลงนี้มีอยู่ว่า เป็นการจำลองอาคารหนึ่ง ๆ ด้วยการนำส่วนที่เรียกว่าหน้าบันมาซ้อนชั้นกันขึ้นไป โดยมากซ้อนกันสามชั้น หมายความว่า การประดับด้วยบันแถลงนี้ เป็นการจำลองอาคาร สะท้อนความหมายของเรือนฐานานุศักดิ์ หรือเรือนฐานันดรสูงได้เช่นกัน บุษบกเป็นเครื่องใช้ประกอบกับของสูงและของสำคัญมีคุณค่าอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นบุษบกเล็กหรือบุษบกขนาดใหญ่ล้วนแล้วแต่ใช้ประกอบประดิษฐานของสูงของสำคัญทั้งสิ้น ดังที่ได้เห็นเช่นองค์พระแก้วมรกตก็ประดิษฐานในบุษบก พระพุทธสิหิงค์ก็ประดิษฐาน ในบุษบก สำหรับบุษบกขนาดใหญ่ก็จะเป็นที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์ เป็นงานที่ลงรักปิดด้วยทองคำเปลวแท้ ลงยาสีและประดับเพชรคริสตัลเพิ่มความสวยงามและมีคุณค่ายิ่งขึ้นไปอีก









กำลังโหลดความคิดเห็น