สรุปนโยบาย One Map แก้ที่ดินรัฐทับซ้อน พบที่ดินรัฐ สารพัดหน่วยงาน มีเนื้อที่ทั่วประเทศ 207,733,427.69 ไร่ สอดคล้องกับเนื้อที่ของประเทศไทย 320.70 ล้านไร่ เตรียมชงคณะกรรมการบริหารจัดการแนวเขตที่ดินของรัฐ ตรวจสอบแนวเขตที่ดินของรัฐ แก้ไขปรับปรุงแผนที่แนวเขตในอนาคต
วันนี้ (30 เม.ย.) แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1: 4000 (One Map) หรือ กปนร. นโยบายของรัฐบาล ได้รายงานความคืบหน้าการปรับปรุงแผนที่ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบที่ดินของรัฐได้แจ้งยืนยัน รับรอง และ รับทราบข้อมูลจำนวนที่ดินของรัฐที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนที่ดินของรัฐก่อนการ ดำเนินการปรับปรุง โดยข้อเท็จจริง ปรากฏว่ามีที่ดินของรัฐที่อยู่ในความดูแลรับผิดขอบของแต่ละหน่วยงาน รวม 464,084,041.13 ไร่
ขณะที่ หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบที่ดินของรัฐ ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบในการกำหนดแนวเขตที่ดินในความดูแลรับผิดชอบ
"ประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320.70 ล้านไร่เท่านั้น อันแสดงให้เห็นว่า ที่ดินของรัฐ ทับซ้อนกัน สืบเนื่องมาจากการมีกฎหมายกำหนดแนวเขตประเภทที่ดินของรัฐหลายฉบับ และใช้มาตราส่วน ในแผนที่แนบท้ายกฎหมายแตกต่างกัน ทำให้การประกาศแนวเขตที่ดินทับซ้อนกัน"
เมื่อคณะกรรมการ กปนร. ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนที่ฯ (One Map) โดยจัดทำ เป็นแผนที่ดิจิทัล และใช้มาตราส่วน 1 : 4000 ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ทราบว่าที่ดินของรัฐมีเนื้อที่ 207,733,427.69 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อที่ของประเทศไทย
ล่าสุดรัฐบาล ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการแนวเขตที่ดินของรัฐ ขึ้นมา 1 ชุด มีหน้าที่ เสนอนโยบายและแผนงาน ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ One Map ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง รวมถึงตรวจสอบแนวเขตที่ดินของรัฐและให้ความเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงแผนที่แนวเขต ที่ดินหรือแผนที่แนบท้ายกฎหมายให้เป็นไปตามแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ
"กรรมการชุดนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการและกรรมการ จำนวนไม่เกิน 8 คน รวมถึงผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย รมว.ยุติธรรม เลขาธิการ กอ.รมน. ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมแผนที่ทหาร ปลัดกรุงเทพมหานคร ผอ.กอ.รมน.ภาค 1-4 เป็นต้น"
ที่ผ่านมา กปนร. ดำเนินงานปรับปรุงแผนที่ (One Map) มาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2558 - กันยายน 2559 มีการเตรียมการ 2 เดือน (พฤศจิกายน - ธันวาคม 2558) ดำเนินการ 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม 2559) ขั้นสรุปผล 1 เดือน (มิถุนายน 2559) ขั้นขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรี 1 เดือน (กรกฏาคม 2559) และขั้นแก้ไขกฎหมาย และติดตามผล 2 เดือน (สิงหาคม - กันยายน 2559)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของรัฐ ใช้ระวางแผนที่ภาพถ่ายมาตรฐาน เดียวกันคือ 1:4000 เพื่อ แก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐและรัฐกับเอกชน โดยปูระวางทั้งประเทศ หากพื้นที่ไหน ไม่อยู่ในแผนที่ระวาง ก็จะกันออกมาและตรวจสอบ
"วันแมพ มีความละเอียดคมชัด สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่ตั้งแปลงที่ดินแม่นยำ มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนน้อยมาก ขณะที่ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ กรมอุทยาน ใช้ระวางแนวเขตมาตราส่วน 1: 50000 ตามบัญชีแนบท้ายกฎหมาย ซึ่งมีความหยาบ ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งคลาดเคลื่อนเพราะ แค่ ไม่กี่ตารางเช็นต์ทำให้ คลาดเคลื่อนได้ 100-200 เมตร".