อดีต ส.ส.นครนายก ชี้ หน.คสช. ใช้ ม.44 เลื่อนการชำระเงินของ 3 บริษัทโทรศัพท์สร้างความเสียหายประเทศ ทำลายระบบธรรมาภิบาล ข้องใจไม่นำกำไรมาลงทุนต่อ ชี้ช่อง ปชช.ฟ้องบริษัท-คสช.ได้เหตุ รธน.ไม่คุ้มครอง
วันนี้ (21 เม.ย.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการ ด้านกลไกปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สปท. กล่าวถึงกรณีที่ คสช.มีคำสั่ง ม.44 ในการเลื่อนการชำระเงินของ 3 บริษัทโทรศัพท์ที่ได้รับสัมปทานใบอนุญาตบริการคลื่น 900 Mhz ซึ่งมีมูลค่าการเลื่อนการชำระไปสูงถึงแสนล้านบาท จากเดิมในเงื่อนไขการประกวดราคาระบุไว้ว่าบริษัทที่ต้องประมูลจะต้องยินยอมชำระเงิน และเงื่อนไขต่างๆ เช่น เงื่อนไขของการกำหนดราคา เงื่อนไขของการคิดราคากับผู้ใช้บริการ และอื่นๆ ซึ่งจะมีรายละเอียด และลายเซ็นในท้ายเอกสารตอนยื่นซองประกวดราคา
นายชาญชัยกล่าวว่า 2-3 บริษัทนี้ประมูลสู้กันกว่า 30 ชั่วโมงเพื่อจะให้ใบอนุญาตในการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการคลื่นโทรศัพท์ 900 MHz แสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้กำไรมหาศาล และถือว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว อีกทั้งเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงที่ในปี 2561 มีการชงเรื่องขอให้เลื่อนการชำระค่าใบอนุญาตโทรศัพท์ ขณะนั้นตนได้คัดค้านเรื่องนี้ไปแล้ว และไม่ได้เพิ่งมาคัดค้านในวันที่มีการออกคำสั่งเป็นมาตรา 44 นี้ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการทำลายระบบธรรมาภิบาล และผลประโยชน์ของประเทศชาติ อีกทั้งเงินจำนวนดังกล่าวนี้ต้องนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ
“นี่คือคลื่นของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่คลื่นของใครคนใดคนหนึ่งที่ขณะนั้นมีการพูดจาให้สัมภาษณ์ว่าจะช่วยบริษัทที่จะมีการเลื่อนนี้เอาไว้ทีหลัง ขอช่วยทีวีก่อน แสดงว่าพูดกันมาเป็นปีแล้ว หาจังหวะที่จะทำ รวมทั้งนายวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าคนพวกนี้ใช้องค์ความรู้ในการทำลายธรรมาภิบาลของประเทศ เมื่อมาดูเหตุผลในการยกเลิกนี้ แต่งบดุลของบริษัทโทรศัพท์มีความชัดเจนโดยขอยกตัวอย่างของบริษัท เอไอเอส ในปี 2559 - ปี 2561 มีกำไรยังไม่หักค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 128,000-14,4000 กว่าล้านบาท ขณะที่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว มีกำไรสุทธิ 3 ปีอยู่ที่ 90,000 กว่าล้านบาท ขณะที่บริษัท เอไอเอส จ่ายค่าสัมปทาน 3 ปีไปแล้ว 16,000 ล้านบาท คำถามคือกำไรสุทธินี้ของบริษัทนี้ทำไมถึงไม่นำมาลงทุนต่อ ขณะที่รัฐบาลยังช่วยเลื่อนการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ออกไป โดยไม่ได้คิดดอกเบี้ย ขณะที่การเอาเทคโนโลยี 5G มาเป็นข้ออ้างนั้น แม้ต่างประเทศเองก็ผลิตอุปกรณ์รองรับยังไม่จบ แต่ของไทยเอาเรื่องอนาคตที่ไม่รู้จะเกิดเมื่อไหร่มาเป็นเงื่อนไขลบล้าง TOR ในการประกวดราคาครั้งที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ชนิดที่ไม่เคยเห็นใครกล้าทำได้ขนาดนี้มาก่อน”
นายชาญชัยกล่าวว่า ประชาชนที่ใช้โทรศัพท์ไม่ว่าจะค่ายเอไอเอส ทรู ดีแทค แล้วเสียเงินรายเดือนสามารถเป็นผู้เสียหาย ฟ้องได้ที่ศาลอาญาทุจริต ฟ้องเลขาธิการ กสทช. พ่วงบริษัท และฟ้อง คสช.ได้ด้วย โดยคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เคยวินิจฉัยคดีใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า 5 พันเมกะวัตต์ ไว้ว่าคำสั่งของ คสช.นั้นไม่ใช่อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นเพียงคำสั่งทางปกครองเพื่อให้นายกฯ และหน่วยงานไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญไม่คุ้มครอง