xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งจบ ขัดแย้งไม่จบ การเมืองท้องถนน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โคทม อารียา - วันวิชิต บุญโปร่ง - ยุทธพร อิสรชัย
สโลแกนโค้งสุดท้ายของพลังประชารัฐ ที่กวาดคะแนนเสียงคนกทม. จนทำให้ประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ ด้วยคำพูดกระแทกใจที่ว่า “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่”ดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามนั้น เพราะหลังเลือกตั้งจบแล้ว แต่ความสงบก็ยังไม่เกิด แถมส่อเค้าความวุ่นวายตามมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การจัดเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยปัญหา จนนำไปสู่ “วิกฤติศรัทธา”ที่ประชาชนมีต่อ 7 กกต. หนักหนาถึงขนาดมีการมองไปถึงขั้น "เลือกตั้งโมฆะ" กกต.ทำผิดกฎหมาย และไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง ท่ามกลางความตึงเครียดจากการเผชิญหน้าของ "2 ขั้วการเมือง" ที่ไม่มีใครยอมใคร ซึ่งอาจนำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากกว่าเดิม

จากปัญหาการช่วงชิงตั้งรัฐบาลที่ฝ่ายหนึ่งแม้รวมเสียงได้เกิน 250 แต่ก็คงหมดโอกาสตั้งนายกรัฐมนตรี เพราะไม่น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก 250 ส.ว. ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง อาจติดหล่มรวมเสียง ส.ส.ได้ไม่ถึง 250 แม้มี 250 ส.ว.หนุนเลือกนายกรัฐมนตรี ได้เป็นบันไดขั้นแรกสู่อำนาจ แต่การจะรักษาอำนาจไว้เป็นหนทางที่ยากลำบาก ที่อาจต้องพึ่งพา“งูเห่า”จนกัดกินความชอบธรรมของตัวเอง จึงมีการวิเคราะห์ว่า "รัฐบาลหน้าหมดอายุเร็ว"
ประกอบกับบทบาทของ ผบ.ทบ. ที่ดูเหมือนจะจุดเดือดต่ำ กับแนวคิดที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติจนเกิดการปะทะกันทางความคิดค่อนข้างรุนแรง ระหว่างคนรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ เป็นปัจจัยใหม่แห่งความขัดแย้งที่ต้องมาถอดรหัส ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เห็นว่า ความขัดแย้งระลอกใหม่ อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นายโคทม อารียา ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล อดีต กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เห็นว่า ความขัดแย้งในสังคมไม่จบอยู่แล้ว มองเห็นภาพการเมืองข้างหน้าเป็นสองทาง ทางหนึ่งต้องการเอาชนะแล้วก็พยุงความขัดแย้ง กับอีกทางหนึ่งดูแล้วทางเลือกใดๆไม่สู้ทางเลือกของการมาคุยกัน มีสองทางถ้าไม่คุยก็ไม่ปรองดอง เพราะมุ่งแต่จะเอาชนะ ซึ่งมันก็จะกลายเป็นแพ้ด้วยกันทั้งคู่ ต้องมาคุยกันอาจจะพอชนะด้วยกันได้
ขณะที่การแสดงออกของภาคประชาชนยากที่คาดเดาได้ว่า หากเกิดการใช้อำนาจรัฐประหารอีก จะยอมรับเช่นอดีตหรือไม่ แต่คิดว่าถ้าไม่ถึงขั้นโกรธกันอย่างสุดขีด คนจะไม่ชอบใช้ความรุนแรง ยกเว้นพวกที่กลัวเสียประโยชน์มากเกินไป ก็อาจจะหันมาใช้ความรุนแรงเพื่อจะเอาชนะ ซึ่งก็จะเป็นอีกครั้งที่ประเทศเราจะประสบกับ โศกนาฏกรรมทางการเมือง สังคมจึงต้องพยายามช่วยกันเสนอแนะ "ปรามเพื่อไม่ให้เกิด" อาจทำในลักษณะเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อความปรองดอง เชิญสองฝ่ายมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน แต่ถ้ายังยึดแต่จะเอาชนะกัน ต้องคิดว่าชัยชนะของกลุ่มก้อน มันก็ไม่ได้แผ่กว้างไป การปกครองประเทศมันต้องปกครองเพื่อทุกคน ทุกฝ่าย จึงต้องช่วยกันส่งเสียงออกมา

ด้านนายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า วิกฤตศรัทธาเริ่มจากการที่ กกต.จัดการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย ขาดการสื่อสารเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ชัดเจน อย่างพรรคอนาคตใหม่ ที่เดิมถูกคาดการณ์ว่าจะได้ ส.ส. 87-88 ที่นั่ง แต่เจอสูตรคำนวณของกกต. ปรับเหลือ 80 ที่นั่ง ซ้ำหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ยังเจอเรื่องการรื้อคดีเก่า ขึ้นมาเล่นงาน ทำให้คนที่สนับสนุนรู้สึกว่า "ยังไม่ได้เข้าสภาก็ถูกจัดหนัก" ไม่มีความเป็นธรรม กลายเป็นการสะสมทุนความไม่พอใจ และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งน่าเชื่อว่าจะมีพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำการบริหารจัดการ ระยะแรกอาจวุ่นวายเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ เพราะทุกคนจะอ้างว่า มาร่วมเพื่อช่วยประคับประคองบ้านเมืองให้เดินไปได้

"ความวุ่นวายต่างๆ น่าจะเป็นแค่ช่วงแรก แต่นายกรัฐมนตรี อาจจะไปต่อหรือไม่ต่อ อยู่ที่ศิลปะความเป็นผู้นำของตัวท่านเองมากกว่า จะประคับประคองพรรคร่วมรัฐบาลไปอย่างไร แต่คิดว่ายังไงก็ลากได้เกิน 1 ปี เพราะนักการเมืองยังไม่อยากจะเลือกตั้งใหม่ ยังเหน็ดเหนื่อยมากกับการเลือกตั้งครั้งนี้"

นอกจากนี้ยังมองว่า ท่าทีของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่มั่นใจในอำนาจตัวเอง คิดว่ากุมสถานการณ์อยู่ และมักใช้วาทกรรมแบ่งเขา แบ่งเรา ผูกขาดความดีงาม ความจงรักภักดีไว้แต่ฝ่ายเดียว ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหา คนที่เริ่มวางตัวเป็นกลาง อาจไม่ต่อต้าน แต่จะถอยห่าง ลดความนิยมในกองทัพลง และอาจถึงขั้นไม่ยอมรับการกระทำของทหารอีก

"สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ กองทัพ หรือคนกุมกลไกรัฐประหารจะเผชิญกับพวก“แกนนอน”ทางการเมือง คือพวกนิสิต นักศึกษา วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ จะออกมาเองมากขึ้นพวกนี้จะมองว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องรับไม่ได้ แล้วน่ากลัวว่าจะคุมสถานการณ์ไม่อยู่ เพราะเป็น"แกนนอน" ไม่มีแกนนำ มันจะเลยเถิด ปรากฏการณ์ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไปให้กำลังใจนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ สน.ปทุมวัน แสดงออกถึงการไม่ยอมรับในเบื้องต้น การใช้อำนาจเพิ่มเติม เพิ่มความหนักหน่วง วิวาทะ หรือใช้กฎหมายเข้าจัดการ อันนี้ต้องระวัง เพราะครั้งหน้าอาจไม่มีโอกาสมาแถลงที่โพเดียมได้อีก ถ้ายังใช้ช่องทาง พวกเรา พวกเขา"

นายวันวิชิต เชื่อว่า กองทัพบรรลุสัจธรรมทางการเมือง และผลลัทธ์ทางการเมืองได้ดีทุกครั้ง รอบนี้รู้จักยืดหยุ่นทางการเมืองมากขึ้น แต่ไม่รู้โชคดี หรือโชคร้าย ที่ พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ. ด้วยบุคลิกที่ประเทศไทยอาจจะต้องการเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันต้องการคนที่มีความรู้ สามารถประนีประนอม และใช้ความเด็ดขาดในทางกฎหมายได้ ซึ่งผู้นำกองทัพ ต้องอดทน พยายามคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง รู้จักการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ถ้าใช้การตีความข้างเดียว อันตราย เพราะจะตีความผิด เยาวชน นิสิตนักศึกษา ก็ต้องเปิดใจว่าไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่ละเหตุการณ์อย่างครบถ้วน ว่ามีทีมาที่ไป ความขัดแย้งเป็นอย่างไร รับรู้เพียงเสี้ยวหนึ่งทศวรรษของความขัดแย้งที่แบ่งแยกกัน การบอกว่าตัวเองเติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้ง จึงอยากจะมาดับความขัดแย้ง ด้วยรุ่นของเขาโดยไม่ได้ ศึกษาบทเรียนประวัติศาสตร์ในอดีต อันนี้ก็จะเป็นอันตราย

ส่วนนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่าความขัดแย้งไม่จบง่ายๆ เพราะเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง รัฐธรรมนูญและกติกาการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากการยอมรับร่วมกันทุกฝ่ายของคนในสังคม เลือกตั้งแล้ว การเมืองแทนที่จะได้ข้อยุติรวมกัน มีทิศทางที่จะเดินหน้าไปได้อย่างชัดเจน จึงไม่เกิด หลังมีรัฐบาลตัวจริง มาตรา 44 ไม่สามารถนำมาใช้จัดเรื่องต่างๆได้ รวมทั้งใช้ควบคุมเรื่องของการเมืองนอกสภา ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายไหนได้จัดตั้งรัฐบาล โอกาสที่จะต้องเผชิญกับการเมืองนอกสภา มีความเป็นได้สูง
แม้การเมืองจะกลับเข้าสู่วังวนปัญหาความขัดแย้งแบบเดิมแต่จะมีการเปลี่ยนรูปโฉม จากที่เคยเป็นการสู้ของพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ กลายมาเป็นสู้กันของ พรรคพลังประชารัฐ กับ พรรคอนาคตใหม่ แทน ซึ่งปรากฏการณ์ไปชุมนุมให้กำลังใจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ สน.ปทุมวัน ของกลุ่มมวลชน ถึงจะยังไม่สะท้อนชัดว่าเป็นการยอมรับ หรือไม่ยอมรับในอำนาจรัฐหรือไม่ แต่น่าติดตาม เมื่อพรรคอนาคตใหม่เข้าสู่สภาแล้ว ภายใต้ข้อจำกัดของกฎเกณฑ์ต่างๆ พรรคจะดำเนินกิจกรรมในสภาเชื่อมต่อกับฐานคะแนนนิยมของมวลชนได้อย่างไร และถ้าการเมืองในสภา และนอกสภาถูกเชื่อมโยงกัน โอกาสที่จะเกิด “ม็อบ”ก็เป็นไปได้ ขณะเดียวกันการเมืองก็จะถูกตั้งคำถามกับความล้มเหลวของระบบตัวแทน

เขาประเมินว่า เคลื่อนไหวนอกสภาที่จะเกิดขึ้น จะไม่ใช่การชุมนุมแบบปักหลักพักค้าง เช่นในช่วง 10 ที่ผ่านมา แต่จะเป็นการชุมนุมที่อยู่ในโลกแบบใหม่ โดยกลุ่มพลังเยาวชน นิสิต นักศึกษา ชุมนุมในโลกไซเบอร์ ใช้เครื่องมือแบบใหม่ ประเด็น รูปลักษณ์การชุมนุมเปลี่ยนไป นัดกันเป็นครั้งคราว เป็นวาระ หรือเฉพาะพื้นที่บางกลุ่ม บางเวลา ซึ่งการจะเข้าไปจัดการ หรือควบคุม ไม่ใช่เรื่องง่าย

"จะเกิดการปะทะกันรุนแรงได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าถ้ามันมีการเชื่อมต่อระหว่างแอร์วอร์ กับกราวน์วอร์ มันอาจนำไปสู่การ นัดหมายออกมาในพื้นที่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นมันก็มีโอกาสที่จะเสียเลือดเนื้อ หรือเกิดการปะทะได้ เพียงแต่พื้นที่การชุมนุมมันอาจจะเป็นพื้นที่ในโลกไซเบอร์ แล้วนัดพบกันในพื้นที่จริงเป็นครั้งคราว แต่ถามว่าความเสี่ยงในเรื่องของทางการเมืองกับเรื่องที่จะเกิดความรุนแรงมันมีอยู่ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่มันคงไม่ใช่ในเวลาอันใกล้ เพราะต้องอาศัยการสุกงอมในเรื่องของประเด็นทางการเมือง อาศัยระยะเวลาของการก่อตัวรวมตัวกันของกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าถ้าจัดตั้งรัฐบาลไปแล้วภายในระยะเวลา 1 ปี หลายเรื่องยังเป็นคำถามในสังคมก็คงมีโอกาสเกิดขึ้น แต่ในระยะเวลาอันใกล้ 3-4 เดือนนี้ คงเป็นเรื่องของความชอบธรรมทางการเมืองมากกว่า"

สภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะยังไม่เห็นทิศทางที่แน่ชัดว่า สถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายไปได้อย่างไร แต่ก็เชื่อว่ายังไม่ถึงกับไม่มีทางออก เพียงแต่คนในสังคมต้องช่วยกัน การพูดคุยเป็นส่วนสำคัญ ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ถ้าวันนี้แต่ละฝ่ายยังยึดถึงแนวทางของตัวเอง โอกาสที่จะทำให้บ้านเมืองมีทางออกไม่ใช่เรื่องง่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น