ทีมโฆษกรัฐบาล เผย เตรียมคลอดโรดแมป กำจัดขยะพลาสติก 2561-2573 ตั้งเป้า เลิกใช้ - ใช้วัสดุทดแทน คาดประหยัดงบ 3.9 พันล้านต่อปี
วันนี้ (17เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัต ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบร่างโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561- 2573ตามที่นายกฯมีข้อสั่งการให้กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) และกระทรวงมหาดไทย(มท.) ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมลดใช้วัสดุพลาสติกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมโดยทส.ได้จัดทำร่างโรดแมปเเพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายในการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ และเป็นการจัดการแบบบูรณาการของหน่วยงานกำหนดทิศทาง การดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะพลาสติกของประเทศ
ทั้งนี้ แบ่งเป็นสองเป้าหมายคือ 1. ลด เลิกใช้พลาสติก และใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็นสองช่วง คือภายในปี 2562จะให้เลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด 1.พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2.พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่3.พลาสติกผสมไมโครบีด และระยะที่สองจะยกเลิกให้ใช้ภายในปี 2565 อีก 4 ชนิด คือ 1. พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36ไมครอน 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3. หลอดพลาสติก ที่มีข้อยกเว้นสำหรับใช้กับเด็ก คนชรา และผู้ป่วย และ 4 . ยกเลิกใช้แก้พลาสติกแบบใช้ครั้งดียว
พล.ต.อธิสิทธิ์กล่าวว่าต่อว่า เป้าหมายที่สองจะเป็นการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 โดยจะมีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายในส่วนที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ ขณะที่ของเสียจะถูกนำไปกำจัดให้ถูกวิธี โดยแผนปฏิบัติการจะแบ่งเป็นสามมาตราการ 1. มาตราการลดการเลิกขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยจะมีการสนับสนุนการออกแบบ และผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.มาตราการ ลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยการขับเคลื่อนการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 3. มาตราการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยจะมีการส่งเสริม สนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่การนำกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์
“สำหรับกลไกการจัดการ จะมี 4 กลไก คือ 1. สร้างความรู้ ความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการการ2. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์3.ใช้เครื่องมือและกลไกที่เหมาะสม เช่นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทุกภาคส่วน เร่งออกกฎหมาย และ 4.การจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกของประเทศ อย่างไรก็ตามผลที่จะได้รับจากโรดแมปดังกล่าว คาดว่า จะลดปริมาณขยะพลาสติกได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3.9 พันล้านบาทต่อปี “ พล.ต.อธิสิทธิ์ กล่าว