xs
xsm
sm
md
lg

มีผลแล้ว ประกาศ 2 ฉบับ สั่งคุมเข้มนำเข้า "มะพร้าว-มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ฯ" แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มีผลแล้ว ประกาศพาณิชย์ 2 ฉบับ สั่งคุมเข้มนำเข้า "มะพร้าว-มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ฯ" แก้ปัญหาราคาตกต่ำ เฉพาะมะพร้าวนำเข้าได้เพียง 2 ด่าน ท่าเรือกรุงเทพ-ท่าเรือแหลมฉบัง ส่วน "มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ฯ"กำหนดให้นำเข้าได้ ใน 24 ด่านศุลกากร

วันนี้(29 มี.ค.) มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้มะพร้าวเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบ ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง และต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ ประกาศทั้ง 2 ฉบับ เป็นการ คุมเข้มนำเข้ามะพร้าว รวมถึงมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลงนามโดย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาการรมว.พาณิชย์ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้มีผลตั้งแต่วานนี้( 28 มี.ค.2562)

โดยประกาศเพื่อกำหนดให้นำเข้ามะพร้าว ได้เพียง 2 ด่าน คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น ซึ่งการนำสินค้ามะพร้าวตามพิกัดอัตราศุลกากรขาเข้าประเภทย่อย 0801.12.00 0801.19.10 และ 0801.19.90 เข้ามาในราชอาณาจักร ต้องนำเข้ามาทางสำนักงานศุลกากรื้ง 2 ด่านข้างต้น

ส่วนอีกฉบับ ควบคุมมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ให้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ประกอบด้วย ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และต้องแจ้งการนำเข้าต่อกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานอื่นที่กรมการค้าต่างปะเทศมอบหมายก่อนนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ประกาศกำหนด โดยนำใบแจ้งการนำเข้าดังกล่าวแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการน่าเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้ต้องเก็บมันสำปะหลังหรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่นำเข้าไว้ในสถานที่เฉพาะแยกจากสถานที่เก็บมันสำปะหลังหรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่รับซื้อภายในประเทศ รวมถึงต้องรายงานการนำเข้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ประกาศกำหนด

นอกจานั้น ยังต้องอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามมาตรา 17 (1) แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558

ขณะที่ การนำเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องนำเข้าทางจังหวัดและด่านศุลกากรกับจุดที่กำหนด ดังต่อไปนี้ (1) กรุงเทพมหานคร สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (2) จังหวัดกาญจนบุรี ด่านศุลกากรลังฃละบุรี จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน (3) จังหวัดจันทบุรี ด่านศุลกากรจันทบุรี จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด (4) จังหวัดชลบุรี สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง

(5) จังหวัดเชียงราย ด่านศุลกากรเชียงของ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ - ห้วยทราย) (6) จังหวัดตราด ด่านศุลกากรคลองใหญ่ จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก (7) จังหวัดตาก ด่านศุลกากรแม่สอด จุดผ่านแดนถาวรบ้านริมเมย
(8) จังหวัดนครพนม ด่านศุลกากรนครพนม จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม- คำม่วน) (9) จังหวัดนราธิวาส ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก (10) จังหวัดน่าน ด่านศุลกากรทุ่งข้าง จุดผ่านแดนถาวรบ้านห้วยโก๋น (11) จังหวัดบึงกาฬ ด่านศุลกากรบึงกาฬ จุดผ่านแดนถาวรอำเภอเมืองบึงกาฬ

(12) จังหวัดพะเยา ด่านศุลกากรเชียงของ จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก (13) จังหวัดมุกดาหาร ด่านศุลกากรมุกดาหาร จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) (14) จังหวัดยะลา ด่านศุลกากรเบตง จุดผ่านแดนถาวรเบตง
(15) จังหวัดระนอง ด่านศุลกากรระนอง จุดผ่านแดนถาวรท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง (16) จังหวัดเลย ด่านศุลกากรท่าลี่ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง (17) จังหวัดศรีสะเกษ ด่านศุลกากรซ่องสะงำ จุดผ่านแดนถาวรซ่องสะงำ
(18) จังหวัดสงขลา ด่านศุลกากรสะเดา จุดผ่านแดนถาวรสะเดา

(19) จังหวัดสตูล ด่านศุลกากรวังประจัน จุดผ่านแดนถาวรวังประจัน (20) จังหวัดสระแก้ว ด่านศุลกากรอรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน และจุดผ่อนปรน บ้านตาพระยา(21) จังหวัดสุรินทร์ ด่านศุลกากรซ่องจอม จุดผ่านแดนถาวรซ่องจอม(22) จังหวัดหนองคาย ด่านศุลกากรหนองคาย จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย - ลาว(23 จังหวัดอุตรดิตถ์ ด่านศุลกากรทุ่งช้าง จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ และ (24) จังหวัดอุบลราชธานี ด่านศุลกากรซ่องเม็ก จุดผ่านแดนถาวรซ่องเม็ก”

มีรายงานว่า ในเร็ว ๆนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังเตรียมงออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับเมล็ดถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 เพื่อบริหารจัดการการนำเข้ามะพร้าวไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย

โดยประกาศดังกล่าวฯ ได้เพิ่มเงื่อนไขการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนสินค้ามะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวฝอย ต้องได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ที่ตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชก่อน และกำหนดให้ผู้ได้รับหนังสือรับรองต้องให้คำรับรองว่าจะไม่นำมะพร้าวนำเข้าไปจำหน่าย จ่าย โอน ให้นิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไปแปรสภาพโดยการกะเทาะภายนอกโรงงานของตนเอง และแก้ไขบทลงโทษ โดยให้พักหรือเพิกถอนการขึ้นทะเบียน ซึ่งหากเป็นการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า จะไม่สามารถขอหนังสือรับรองได้จากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี

นอกจากนี้ ยังคุมเข้มด่านที่เป็นจุดเสี่ยงลักลอบนำเข้ามะพร้าว 5 ด่าน ได้แก่ ด่านสะเดา ด่านสตูล ด่านสุไหงโก-ลก ด่านสุราษฎร์ธานี และด่านชุมพร โดยควบคุมการขนย้าย ซึ่งกำหนดให้ขนย้ายมะพร้าวผล ไม่เกิน 7 ตัน เนื้อมะพร้าว 2.5 ตัน และเนื้อมะพร้าวแห้ง 1.5 ตัน หากเกินกว่ากำหนดจะต้องแจ้งขออนุญาตเคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันการลักลอบและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท จำคุก 5 ปี.


กำลังโหลดความคิดเห็น