มหาดไทย เผยผลประเมิน “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ประสบผลสำเร็จระดับมาก พบประชาชนอยากให้ทำอย่างต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต
วันนี้ (20 มี.ค.62) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยได้บูรณาการร่วมกับทุกส่วนราชการในการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการที่มีเป้าหมายลงพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง และสร้างความตระหนักรู้ตามกรอบการดำเนินงาน 10 เรื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการประเมินความสำเร็จของโครงการจึงได้จัดทำโครงการประเมินผลการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม กล่าวว่า จากการประเมินผลฯ ปรากฏว่า มิติความสำเร็จด้านแผนงาน/โครงการและกระบวนงานพบว่า โครงการไทยนิยม ยั่งยืนมีความสำเร็จในระดับมาก และประชาชนเห็นว่าควรดำเนินการโครงการไทยนิยม ยั่งยืน อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ตามความต้องการของประชาชน ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งโครงการภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่ประชาชนเห็นว่ามีประโยชน์มากที่สุด คือ โครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รองลงมา คือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ (หมู่บ้าน/ชุมชนละ 200,000 บาท) และโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ (กองทุนหมู่บ้าน) ตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีการประเมินผลในด้านอื่น ๆ มีรายละเอียด ดังนี้
1) การบูรณาการการขับเคลื่อนงาน/โครงการต่างๆ ที่มีเป้าหมายลงพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ ในภาพรวมทั่วประเทศ ประชาชนเห็นว่า มีการบูรณาการอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 79.80) และเห็นว่าการขับเคลื่อนงาน/โครงการต่างๆ เกิดขึ้นในชนบทมากกว่าในเมืองและเกิดขึ้นในจังหวัดขนาดกลางมากกว่าจังหวัดขนาดเล็ก และจังหวัดขนาดใหญ่
2) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของประชาชน พบว่าประชาชนมีการรับรู้การดำเนินงานมากที่สุด (ร้อยละ 96.76) รองลงมา คือ เข้าใจการดำเนินงาน (ร้อยละ 94.27) ได้รับผลประโยชน์จากโครงการ (ร้อยละ 92.24) และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกทำโครงการต่างๆ มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการต่างๆ และรู้สึกผูกพันและเป็นเจ้าของโครงการ โดยพบว่าภาคใต้ชายแดนมีการรับรู้มากที่สุด ภาคใต้มีความเข้าใจการดำเนินงานมากที่สุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกทำโครงการต่างๆ มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ การได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ ภายใต้โครงการไทยนิยม และมีความรู้สึกผูกพันและเป็นเจ้าของโครงการที่ร่วมกันดำเนินงานมากที่สุดอีกด้วย
3) ระดับความรู้ ความเข้าใจของประชาชนในหลักการหรือแนวคิดของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ใน 10 เรื่อง พบว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ/ใช้ประโยชน์หลักการรู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย มากที่สุด (ร้อยละ 82.80) รองลงมา คือ ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 81.60) และชุมชนอยู่ดีมีสุข (ร้อยละ 80.20) ตามลำดับ
4) ความสำเร็จของการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชนละ 200,000 บาท) พบว่า โครงการหมู่บ้าน/ชุมชนละสองแสนบาท ประสบความสำเร็จในระดับมาก (ร้อยละ 76.40) โดยประสบความสำเร็จในเขตชนบท มากกว่าในเขตเมือง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน
5) การถอดบทเรียน และแบบอย่างในการปฏิบัติที่ดี (Good/Best Practices) ของทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล/ชุมชน เพื่อการปรับปรุงการดำเนินงานและขยายผลต่อไป พบว่ามีองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล/ชุมชน ประสบความสำเร็จได้ คือ (1) ผู้นำ (Leader) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (2) สมาชิกทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล/ชุมชน (Member) เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมกับโครงการ สมาชิกภายในทีมมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและมีการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ (3) การวางแผนการทำงาน (Planning) มีการวางแผน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เชื่อมโยงแผนพัฒนาชุมชน มุ่งเน้นการต่อยอดสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว (4) กระบวนการทำงาน (Process) ทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล/ชุมชน มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างชาวบ้าน ทีมงานและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และ (5) ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) มุ่งเน้นให้ชาวบ้านเกิดความรักและความหวงแหน พร้อมที่จะปกป้องดูแลสิ่งที่สร้างขึ้นไม่ให้เกิดความเสียหาย นำมาซึ่งการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเกิดความยั่งยืนภายในชุมชน และ
6) ข้อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการขับเคลื่อนการดำเนินการ พัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล/ชุมชน พบว่า ทุกภาคส่วนต่างเห็นว่าโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ต่อประชาชนซึ่งควรดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ได้มีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการขับเคลื่อนโครงการฯ ในอนาคต โดยใช้ “ตัวแบบดอกไม้ไทยนิยม ยั่งยืน” เติบโตบนชุมชนฐานราก พึ่งพาตนเอง บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ (1) สร้างการรับรู้สู่การมีส่วนร่วม (2) สร้างพัฒนาผู้นำชุมชนและสาธารณชน (3) สร้างทีมงานที่มาจากภาคส่วนต่างๆ (4) สร้างความ “เข้าใจ เข้าถึง” บริบทพื้นที่ (5) สร้างแผนพัฒนาระยะสั้นและระยะยาวให้สอดคล้องกับแผนของชุมชน (6) สร้างศูนย์เรียนรู้โดยการจัดการความรู้และถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาที่ดี (7) ปรับแผนงบประมาณ ใช้เงื่อนไขพิเศษในการพิจารณา/อนุมัติโครงการ (8) ปรับการจัดระยะเวลาดำเนินงานโครงการตามบริบทพื้นที่ (9) ปรับการจัดหัวข้อองค์ความรู้ 10 เรื่อง อ้างอิงจากข้อมูล Big Data และ (10) ติดตามและประเมินผลโครงการโดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะได้นำผลการประเมินการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืนในครั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป