เมืองไทย 360 องศา
ต้องบอกว่าการเลือกตั้งคราวนี้น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามมาอย่างมากมาย หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กฎหมายพรรคการเมืองใหม่ นั่นคือทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ถูกทิ้งเสียเปล่า
แน่นอนว่าสำหรับพรรคการเมืองใหญ่ย่อมได้รับผลกระทบพอสมควร นั่นคือ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีพรรคใดได้เสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว ดังนั้น หน้าตาของรัฐบาลใหม่ต้องเป็นรัฐบาลผสมร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุกคนน่าจะพอรับรู้กันไปแล้วล่วงหน้า
วกมาที่พรรคการเมืองที่นาทีนี้ต้องโฟกัสไปที่พรรคขนาดใหญ่สองพรรคหลัก นั่นคือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มจากพรรคเพื่อไทยที่เคยเป็นแชมป์แบบไร้คู่แข่ง บางพื้นที่อย่างเช่นในภาคเหนือ และอีสาน มีฐานเสียงหนาแน่น จนมีการเปรียบเปรยว่า ส่งใครลงไปก็ได้ หรือแม้แต่ “ส่งเสาไฟฟ้า” ลงไปก็ชนะ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความนิยม
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งคราวนี้หลายคนมองเห็นตรงกันว่าทุกอย่างกำลัง “จะพลิกผัน” กลายเป็นตรงกันข้าม เริ่มจากการ “ย้ายพรรค” ของอดีต ส.ส.ระดับเกรดเอ เกรดบี ของพรรคเพื่อไทย ที่คนพวกนี้มีฐานเสียงเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกว่าเป็นพวก “ดาวฤกษ์” มีพลังในตัวเอง พลังของมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่เป็นเอกภาพ มีการแยกย้ายออกไปสังกัดหลายพรรคแข่งขันกันเอง ที่สำคัญ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า “ไม่มีท่อน้ำเลี้ยง” ทำให้สภาพที่เห็นในวันนี้ไม่ต่างจากการ “กินบุญเก่า” ที่เริ่มเหลือน้อยลง
ประกอบกับยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พัน” ที่แยกออกไปหลายพรรคย่อยก็ล้มเหลวจากปรากฏการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อ “วันที่ 8 กุมภาพันธ์” ทึ่ผ่านมา ทำให้มีการประเมินกันว่าผลการเลือกตั้งคราวนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่คาดว่าจะลดลงจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 อย่างแน่นอน
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่า พื้นที่ภาคใต้ที่เปรียบเสมือน “เมืองหลวงทางการเมือง” เป็นฐานเสียงหลักมานานแล้ว แต่นาทีนี้เชื่อว่าทุกคนรู้ว่ากำลังพบกับ “ความเสี่ยง” ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งว่าจะรักษาเก้าอี้ ส.ส.เอาไว้ได้กี่ที่นั่ง เมื่อมีการแตกตัวออกไปเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มี “กำนันสุเทพ เทกสุบรรณ” เป็นกำลังหลัก ทำให้มีฐานเสียงทับซ้อนกัน ประกอบกับผู้สมัครของประชาธิปัตย์ที่เป็นอดีต ส.ส.เก่าที่โรยรา จนบางครั้งถูกมองว่า “แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง”
หลายพื้นที่ไม่เคยมีความนิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ทุกครั้ง และครั้งนี้ก็มีหลายพรรคลงชิงเก้าอี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือแม้แต่พรรคภูมิใจไทย ก็น่าจับตามอง แต่ที่ต้องโฟกัสก็คือการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ และมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คือ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้กระแสของพรรคนี้น่าสนใจ
ทำให้กลายเป็นว่าพื้นที่เลือกตั้งในภาคใต้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเรื่อง “หนักหนาสาหัส” ที่สุดเท่าที่เคยเจอมา เพราะเมื่อการเลือกตั้งในอดีต ไม่ว่าจะเกิดความแตกแยกในพรรคจากกรณี “กลุ่ม 10 มกรา” แต่ความนิยมในพื้นที่ยังเหนียวแน่น ผิดกับคราวนี้ที่ทุกอย่างกำลังถูกท้าทาย ทุกเขต ทุกจังหวัดมีโอกาสพลิกผันออกทางใดทางหนึ่งได้หมด
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคต้องออกโรงโวยวายทันทีที่ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะลงไปตรวจราชการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แน่นอนว่า พวกเขามองว่านี่คือการ “หาเสียง” ในช่วงโค้งสุดท้าย และเชื่อว่ามีผลกระทบกับคะแนนเสียงของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้ผิดไปจากความเป็นจริง
เพราะจังหวัดนครศรีธรรมราชถือว่าเป็นฐานเสียงหลักมานาน เป็นจังหวัดใหญ่ในภาคใต้ หากพื้นที่ของประชาธิปัตย์ในนครฯถูกตีแตก มันก็ย่อมมองเห็นว่าในพื้นที่จังหวัดอื่นก็อาจเป็นในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา หรือแม้แต่ชุมพร เป็นต้น
แม้ว่าที่ผ่านมา การลงพื้นที่ตรวจราชการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ก็เป็นภาคเหนือที่เชียงราย และแพร่ และหลังจากนึ้ ก็เป็นกรุงเทพมหานคร และฉะเชิงเทรา รวมไปถึงการปล่อยคลิปบนเวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์หวั่นไหวมากที่สุด ก็น่าจะเป็นการลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนี่แหละ เพราะมันส่งผลกระทบทางการเมืองเข้าอย่างจัง
เหมือนกับว่าด้านซ้ายเจอ “ลุงกำนัน” ขณะที่ด้านขวาต้องเจอกับ “ศึกหนักอย่างลุงตู่” กระนาบเข้ามาอีก ถึงได้บอกว่างานนี้ ประชาธิปัตย์ต้องร้องจ๊าก!!