xs
xsm
sm
md
lg

ติง “ไทยพีบีเอส”พาดหัวข่าวไฮเปอร์ลูป“ส้มหวาน”เป็นกลาง-ตรงข้อเท็จจริงหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Karuchit
นักวิชาการสื่อติง'ไทยพีบีเอส'พาดหัวข่าว พรรคอนาคตใหม่เสนอสร้าง“ไฮเปอร์ลูป”เป็นกลางและตรงข้อเท็จจริงหรือไม่ ใช้คำว่า “เล็งสร้าง”ทั้งที่แค่บอกจะตั้งคณะศึกษา ซ้ำยังเก็บเอาคำแถลงของพรรคมาเต็มๆ โดยไม่หาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม ล่าสุดยอมเปลี่ยนพาดหัวแล้ว

วานนี้(14 มี.ค.) เมื่อเวลา 21.00 น. ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Warat Karuchit เป็นภาพการพาดหัวข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีการเสนอนโยบายสร้าง “ไฮเปอร์ลูป” ของพรรคอนาคตใหม่ พร้อมข้อความ ระบุว่า “อยากถามไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะว่า การนำเสนอข่าวนี้เป็นกลางและตรงกับข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ เหตุใดจึงพาดหัวว่า "เล็งสร้าง" แต่ในขณะที่ผู้แถลงผลก็ยังบอกเองว่า ยังไม่ได้สร้างตอนนี้ แต่จะตั้งคณะขึ้นมาศึกษาก่อน และยังบอกว่า อาจจะทำไม่ได้ก็ได้

ซึ่งในข่าว คือเก็บเอาคำแถลงของพรรคนี้มาเต็มที่ แต่ไม่มีการเพิ่มเติมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในไทย ว่าเป็นไปได้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ การเปรียบเทียบกับประเทศอื่น รายงานความเป็นไปได้ใครเป็นคนทำ (คนทำคือ บริษัท TransPod ซึ่งเป็นบริษัททำ Hyperloop มันจะบอกว่าไม่ควรสร้างมั้ยล่ะ) พูดง่ายๆ เป็นข่าวหาเสียงเต็มๆในพื้นที่สื่อสาธารณะ

(เท่าที่หาข้อมูลเรื่อง Hyperloop ยังเป็นรูปแบบการขนส่งที่อยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่เกิดขึ้นจริง แม้แนวคิดจะน่าสนใจ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคน ทั้งจาก Harvard, MIT, Berkeley, USC ออกมาแสดงความไม่แน่ใจว่า Hyperloop จะสามารถตอบโจทย์ได้จริง คือส่วนใหญ่เห็นว่าสร้างได้ แต่จะคุ้มค่ามั้ย อันตรายมั้ย ทั้งเชิงเทคนิคและการก่อการร้าย คนนั่งจะเวียนหัวมั้ย และอื่นๆ)
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มั่นใจว่า Hyperloop จะตอบโจทย์ได้
https://phys.org/…/2013-08-elon-musk-hyperloop-hype-problem…
ข้อมูลที่มาของรายงานผลการศึกษา
https://www.blognone.com/node/108605




อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา พบว่า ไทยพีบีเอสได้มีการเปลี่ยนพาดหัวข่าวดังกล่าว โดยใช้คำว่า ชู “ไฮเปอร์ลูป” แทน
ภาพจากแฟนเพจ Thai PBS News
ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวของไทยพีบีเอสระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ได้จัดแถลงข่าว “ไฮเปอร์ลูป : ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย” สรุปได้ว่า เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ถือเป็นหนึ่งในหลายความเป็นไปได้ที่ทำให้มุ่งสู่เส้นทางใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เสนอนโยบายให้สร้างไฮเปอร์ลูปทันที แต่จะเสนอนโยบายตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน และวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮเปอร์ลูปทั้งหมด เตรียมความพร้อมในการสร้างอุตสาหกรรมไฮเปอร์ลูป หากพบว่าผลการศึกษาหรือการวิจัยพัฒนานั้นไม่สามารถทำได้จริง ก็ยังมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมากมายที่ได้องค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีไฟฟ้า อวกาศ เกษตร คมนาคม ระบบการขึ้นรูปโลหะ ระบบปรับแรงดันอากาศ แต่หากเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปประสบความสำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศที่ขยับจากผู้ตามไปเป็นผู้นำ สามารถผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้ และเป็นแนวหน้าของประเทศอุตสาหกรรมโลก

ขณะที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และที่ปรึกษาโนบายคมนาคมพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าไฮเปอร์ลูป เป็นระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพัฒนา มีระบบการทำงานลักษณะคล้ายตู้ทรงกระบอกความยาวประมาณ 25 เมตร ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า ภายในท่อที่มีแรงกดอากาศต่ำใกล้เคียงสูญญากาศ เพื่อลดแรงเสียดทานจากปัจจัยต่างๆ โดยหวังว่าในอนาคตจะสามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วถึง 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ใช้พลังงานและปล่อยมลพิษน้อยกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ

ส่วนรายละเอียดผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและประโยชน์ที่จะได้รับจากไฮเปอร์ลูปในประเทศไทย ต้นแบบการศึกษาเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และกรุงเทพ-ภูเก็ต พบว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้สูง เพราะอาจมีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำกว่ารถไฟความเร็วสูง และได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่น้อยไปกว่ากัน คาดว่าอยู่ที่ 9.7 แสนล้านบาท สามารถสร้างงานในประเทศได้ถึง 1.8 แสนตำแหน่งงาน และไฮเปอร์ลูปมีความปลอดภัยและความเสถียร โดยเฉพาะความสะดวกรวดเร็วที่ถือว่าดีที่สุดเมือเปรียบเทียบกับการเดินทางแบบอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น